ละกิเลสอื่นได้มั้ย ถ้ายังมีความเห็นผิด
ผู้ฟัง เมื่อกี้อาจารย์กล่าวว่า ถ้าไม่รู้โลภะแล้วเราจะละได้อย่างไร แต่จริงๆ แล้วเราไม่รู้โลภะเพราะอวิชชาปิดบังทุกอย่าง ทำให้ไม่รู้โลภะ ในขณะที่ไม่เป็นกุศลก็จะต้องเป็นอกุศล แต่ขณะที่เป็นกุศล เราก็ยังไม่รู้โลภะ ถ้าไม่เป็นสติปัฏฐาน ใช่ไหมคะ แม้กระทั่งอบรมสติปัฏฐานจะถึงวิปัสสนาญาณละกิเลสขั้นต่างๆ แต่ว่าโลภะก็เป็นขั้นที่ละได้ขั้นสุดท้าย ทีนี้อ้วนก็ยังไม่เข้าใจที่ว่า ถ้าสติปัฏฐานเกิด ก็จะรู้ระลึกรู้สภาพของนามธรรม และรูปธรรมตรงนั้น แต่ลักษณะของโลภะ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า นี่โลภะใช่ไหมคะ เพราะตรงนั้นก็เป็นสภาพของนามธรรม และรูปธรรม แล้วปัญญาขั้นวิปัสสนาญาณ ก็จะละกิเลสแต่ละขั้นตั้งแต่ขั้นสักกายทิฏฐิขั้นพระโสดาบันถึงขั้นพระอนาคามี
ท่านอาจารย์ แล้วคุณอ้วนรู้โทสะไหมคะ
ผู้ฟัง ถ้าเป็นเรื่องราวก็รู้ค่ะ
ท่านอาจารย์ ถ้าเรื่องราวหมายความว่าอย่างไรคะ
ผู้ฟัง ก็รู้ว่าเราโกรธ แต่สภาพของนามธรรม
ท่านอาจารย์ ถ้ารู้โทสะแล้ว จะไม่รู้โลภะหรือคะ ทำไมจะรู้แต่โทสะ โลภะไม่รู้
ผู้ฟัง โลภะเราก็ทราบว่า เป็นสภาพที่ติด แต่ก็เหมือนกับว่า เราก็รู้เรื่องราว
ท่านอาจารย์ ทั้งหมดจนกว่าสติปัฏฐานจะระลึกลักษณะที่กำลังปรากฏ แล้วถึงจะรู้ว่าไมใช่เรื่อง เพราะขณะนั้นไม่ได้คิด แต่ลักษณะสภาพของโลภะ ต่างกับลักษณะสภาพของโทสะ เราไม่ต้องคิดว่า นี่ชื่อโลภะ นั่นชื่อโทสะ เราไม่ต้องคิดถึงชื่ออะไรเลย แม้ไม่เรียกชื่อ ใครก็เปลี่ยนแปลงลักษณะของโลภะกับโทสะ หรือสภาพธรรมอื่นใดไม่ได้
เพราะฉะนั้นถ้าคุณอ้วนสามารถรู้ลักษณะของโทสะ ทำไมคุณอ้วนจะไม่สามารถรู้ลักษณะของโลภะ
ความเห็นผิด มีใช่ไหมคะ ถ้าไม่มีความติดข้องในความเห็นผิดนั้น จะยังคงมีความเห็นผิดนั้นต่อไปได้ไหม
ผู้ฟัง ได้ค่ะ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีความติดในความเห็นผิดนั้น จะมีความเห็นผิดนั้นต่อไปได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ทิฏฐิ ความเห็นผิดเกิดกับโลภะ เพราะฉะนั้นขั้นต้นเราไม่ได้ละความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะที่กระทบสัมผัสกาย นั่นต้องถึงระดับขั้นพระอนาคามีบุคคล ซึ่งอีกเพียงขั้นเดียวจะถึงความเป็นพระอรหันต์
เพราะฉะนั้นที่เราพูดว่าโลภะ โลภะที่นี่ ความหมายถึงโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ที่จะต้องละก่อน ถ้าไม่ละความเห็นผิด คุณอ้วนคิดหรือคะว่า เราสามารถจะละกิเลสอื่นใดๆ ได้
ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นที่ว่า ละโลภะที่นี่ ก็คือโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด