เลิกขอ แต่ควรเจริญเหตุ
ผู้ฟัง อาจารย์บอกว่า ไม่มีอะไรเหลือ ตอนแรกคิดอยู่ว่า ก็ยังมีความทรงจำของเก่าๆ แต่สุดท้ายมาคิดว่า ทรงจำนั้น ธาตุนั้นก็ไม่ใช่ธาตุเก่า คือ ธาตุใหม่ที่ดับไปแล้ว
ท่านอาจารย์ เกิดกับจิตใหม่
ผู้ฟัง ตอนแรกที่ทุกคนนั่งอยู่ ชินก็ฟังเทปเรื่องของพระพุทธเจ้า ชินก็ขออธิษฐานพระพุทธองค์ว่า ขอปัญญาที่เห็นสัจธรรม แล้วขอทุกอย่างที่ดีๆ ทั้งนั้นเลย
ท่านอาจารย์ จนกว่าจะเลิกขอ แล้วทำเหตุ เพราะว่าขอแล้วไม่มีเหตุ อย่างไรๆ ผลก็เกิดไม่ได้ แต่ถ้าทำเหตุที่ดี กุศลเหตุเกิด ก็เป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบากได้
ผู้ฟัง แล้วอยู่ดีๆ คำตอบ คือ นึกคิดเองว่า ต้องพึ่งตัวเอง ชินก็ขอถามว่า จะพึ่งตัวเองอย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ค่ะกำลังฟังธรรม ความเข้าใจของเราเอง ถ้าความเข้าใจของเราไม่มี ไปพึ่งปัญญาของคนอื่นได้ไหมคะ ไม่อย่างนั้นทุกคนต้องเป็นพระอริยบุคคลไปหมด เพราะว่าพระผู้มีพระภาคทรงมีพระมหากรุณา แต่นี่เพราะเหตุว่าทรงแสดงหนทางให้แต่ละคนเกิดปัญญาของตัวเอง
นี่คือพึ่งตัวเอง ขณะนี้ที่กำลังฟังเข้าใจ คือ พึ่งตัวเอง
ผู้ฟัง อาจารย์พูดว่า มีความเข้าใจ แต่ชินรู้สึกว่า ความเข้าใจนั้นน้อยสุดๆ ของความน้อย ไม่มีเหลือ
ท่านอาจารย์ แล้วทำอย่างไรจะมาก
ผู้ฟัง ก็ฟัง ฟัง อย่างนี้
ท่านอาจารย์ คำตอบมีอยู่แล้ว หนทางเดียว คิดเองไม่ได้แน่ ธรรม ไม่มีใครคิดได้เลย กว่าจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขยแสนกัป หลังจากที่ได้ทรงรับพยากรณ์จากพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า ทีปังกร แล้วคนในยุคนั้น พอได้ทราบว่า สุเมธดาบส จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ห่างกันถึง ๔ อสงไขยแสนกัป แต่เขาร่าเริงยินดีที่ว่า ถ้าเขาไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ทีปังกร เขายังมีโอกาสที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้
เพราะฉะนั้นถ้าใครยังไม่รู้แจ้งในสมัยพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ร่าเริงยินดีที่จะถึงสมัยของพระศรีอริยเมตไตรย์ ไหมคะ ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ว่า ผลจะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่เหตุสะสมไปเรื่อยๆ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา
ข้อสำคัญที่สุด คือ หนทางนี้เป็นหนทางละ ถ้าหนทางขอ ไม่ใช่หนทางละ
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นที่เราฟังพระสูตรที่พระอริยเจ้าในชาติก่อนๆ ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระพุทธเจ้าโดยตรง ก็ขอเลย การขอที่ตั้งมั่นตรงนั้น กับการขอของปุถุชนธรรมดา ช่วงนั้นเขาก็เป็นปุถุชนธรรมดา อาจจะเหมือนหนูที่ตอนนี้เป็นอยู่ มันต่างกันอย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ ต่างกันค่ะ เพราะว่าคนที่ต้องการเพียงขอ ไม่ได้รู้เหตุเลย แต่ผู้ที่มีจิตตั้งมั่น รู้ว่า การสะสมกุศล จะเป็นเหตุให้ผลเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก็แสดงความตั้งมั่นว่า เขาไม่เปลี่ยนแปลงในการที่เขาจะฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ว่าในสมัยพระพุทธเจ้าพระองค์ไหน