ฟังด้วยความเป็นเรา
ผู้ฟัง เมื่อกี้น้องชินคุยเรื่องปัญญา ปัญญาก็มีหลายระดับขั้น อย่างเราเริ่มฟังพระธรรมอยู่ในขณะนี้ ปัญญาของเราในการพิจารณาสิ่งที่เราได้ฟังก็เป็นปัญญาที่เราคิดพิจารณาอยู่ตลอดเวลา แล้วก็คิดว่า เมื่อฟังนานขึ้น ความเข้าใจก็มากขึ้น แต่ปัญญาขั้นที่คิดพิจารณาก็ยังเหมือนเดิม
ท่านอาจารย์ ก็เลยกั้นเลย สติปัฏฐานก็ไม่เกิดเลย
ผู้ฟัง ก็ยังไม่หวังถึงจะเกิดสติปัฏฐาน แต่จากการที่เรามีปัญญาคิดพิจารณาระลึกสภาพธรรม แม้กระทั่งเป็นเรื่องราว ก็จะเป็นปัจจัย คือคงยังมีความเป็นตัวตนอยู่ อันนี้จะเป็นปัจจัยหรือจะเป็นเครื่องกั้น
ท่านอาจารย์ ถ้าอยาก โลภะกั้นค่ะ
ผู้ฟัง แต่ถ้าสภาพธรรมเขาคิดพิจารณา นึกคิดเอง
ท่านอาจารย์ คนละขณะ ปัญญาเป็นความเห็นถูกที่ตรงมาก ต้องเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล แล้วฟังธรรม น่าจะดีใจที่เรามีโอกาสได้ฟัง ไปห่วงอะไรกับตัวตนที่ว่า ฟังแล้ว มากแล้ว เมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิด เมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิดมากๆ
เพราะฉะนั้นเวลาฟังด้วยความเป็นตัวตน จะกังวลใจ ไม่ใช่เป็นความเบาใจเลย ซึ่งความจริงขณะไหนที่มีความเข้าใจสภาพธรรม ขณะนั้นเบาใจค่ะ เพราะไม่มีเรา ลืมได้อย่างไรคะ ฟังว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา
เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่ฟัง ก็ยิ่งทำให้เข้าใจความเป็นอนัตตาเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิถีจิตแต่ละทวาร ก็เป็นอนัตตาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเจตสิกชนิดไหน ฝ่ายกุศล หรือฝ่ายอกุศล ก็เป็นอนัตตา
ผู้ฟัง แล้วอย่างนี้เราจะสามารถเทียบเคียงได้อย่างไรว่า ตัวเรามีความเข้าใจมากขึ้น
ท่านอาจารย์ เราเองซิคะเป็นผู้รู้ ไม่ต้องไปเทียบเคียงกับอะไรเลย คือการฟังธรรม ขณะที่ฟังเข้าใจ ใครจะบอกเราได้ว่า ในที่นี้ใครเข้าใจแค่ไหน ทั้งๆ ที่ฟังเรื่องเดียวกัน แต่ผู้ที่ฟัง เป็นผู้ที่รู้ ทุกคำมีความหมาย และเราเข้าถึงความหมายแค่ไหน เช่น คำว่า ธรรม ธาตุ ๒ คำแค่นี้ ถ้าเราสามารถเข้าใจจริงๆ ก็เป็นพระอริยบุคคลได้ แต่เพราะเหตุว่าเวลาที่ฟัง เป็นตัวเราที่ฟัง เพราะฉะนั้นก็มีความห่วงกังวลว่า เมื่อไรเราจะรู้ความเป็นธาตุ เมื่อไรเราจะรู้ธรรม เมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิด แต่ถ้าฟังแล้วก็รู้ว่า กำลังมีเหตุที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น จากการฟัง และการพิจารณาไปเรื่อยๆ จนกว่าสติสัมปชัญญะจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมเมื่อไร เมื่อนั้นก็จะรู้ว่า มาจากการฟัง ถ้าไม่มีการฟังเป็นปัจจัย ก็ไม่มีทางที่สติปัฏฐานจะเกิด
ผู้ฟัง อย่างนี้ก็ยังไม่ผิดใช่ไหมที่ว่า ก็ยังมีการพิจารณาว่า เรามีการพิจารณา หรือบางขณะที่สภาพธรรมเขาน้อมไปในการคิดพิจารณาเรื่องราว ในเรื่องธรรมที่เรามีความเข้าใจขึ้นๆ อย่างนี้
ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่จะคิดว่าผิดไหม หรือถูกหรือเปล่า แต่ต้องเป็นปัญญาของเราเอง และก็ไม่มีกฎว่า คิดอย่างนี้ไม่ได้ ต้องคิดอย่างนั้น ใครจะคิดประหลาด ต้องใช้คำว่า “ประหลาด” บางคนคิดประหลาดจริงๆ ก็เป็นขณะที่มีปัจจัยที่คิดประหลาดจะเกิด ไม่ต้องเดือดร้อน เพราะเหตุว่าคิดแล้วก็หมดไป คือ ถ้ามีความเข้าใจถ่องแท้ในความเป็นอนัตตา ในความเป็นธรรม เราก็จะไม่กังวลกับสิ่งที่ล่วงไปแล้ว หรือสิ่งที่ยังไม่มาถึง แต่ขณะนี้มีสภาพธรรมปรากฏ ฟังให้เข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรม ไม่มีเรา จะคิดอย่างไร ก็คือ ขณะที่คิดก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ทำให้คิดแปลกๆ คิดประหลาดๆ ก็ได้
ผู้ฟัง อย่างนั้นก็แสดงว่า ความเข้าใจความเป็นอนัตตายังไม่มั่นคง
ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ
ผู้ฟัง ก็เลยทำให้บางครั้งจะคิดว่า มีความคืบหน้าไหม แล้วพิจารณาธรรม
ท่านอาจารย์ คือเราทั้งนั้นเลย ฟังไปเป็นเราไป ฟังด้วยความเป็นเราที่ต้องการความก้าวหน้า
ผู้ฟัง ถ้าจะให้ความเข้าใจเรื่องความเป็นอนัตตามั่นคงมากยิ่งขึ้นๆ จากการที่เราได้ยินได้ฟังพระธรรม และน้อมพิจารณา อันนี้เป็นปัจจัยสำคัญเลยใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ คือขณะที่ฟังแล้วเข้าใจ ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ไตร่ตรองตามความถูกต้อง ทิ้งคำว่า “ธรรม” ไม่ได้เลย