เบาสบาย...ไม่เดือดร้อน
ผู้ฟัง พระอริยเจ้าก่อนจะเป็นพระอริยเจ้า อาจารย์พูดถึงการตั้งมั่นว่า ท่านจะฟังธรรมหรือจะศึกษาตามพระพุทธองค์ อย่างนั้นขณะนั้นก็คือ เขาก็มีปัญญาแล้ว น่าจะเป็นอย่างนั้นใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ระดับหนึ่งค่ะ ทิฏฐุชุกรรม ความเห็นตรง เพราะฉะนั้นเวลาเราจะพูดเรื่องความเข้าใจในสภาพธรรม เราไม่ต้องไปคิดถึงคนอื่นเลย ไม่ใช่เอาปัญญาของคนอื่นมานั่งเปรียบเทียบ หรือมานั่งคิดว่า เขารู้แค่ไหน เขาเข้าใจแค่ไหน เช่น ถ้ามีคนเห็นว่า พระธรรมเป็นสิ่งที่ประเสริฐ สมควรที่จะศึกษา แค่นี้เป็นปัญญาหรือเปล่าคะ
ผู้ฟัง เป็นปัญญา
ท่านอาจารย์ คิดถูกหรือคิดผิด คือ ต้องกล้าที่จะเข้าใจ ตัดสิน แต่ปัญญาที่อ่อนมาก เพียงแค่เห็นว่าควร แต่ยังไม่ได้ศึกษา กับเห็นว่าควรแล้วศึกษา ผิดกันแล้วใช่ไหมคะ เพิ่มขึ้นมาแล้วอีกนิดหน่อย แล้วศึกษาแล้ว ค่อยๆ เข้าใจตรงขึ้น เพิ่มขึ้นมาอีก ศึกษาจนกระทั่งสติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานเกิด คนนั้นก็รู้ว่า เป็นปัญญาต่างขั้น
ศึกษาไปเรื่อยๆ นี่ออกสบายนะคะ ไม่ต้องกังวล ไม่เดือดร้อน แล้วก็ศึกษาไปอีกๆ มีสภาพธรรมปรากฏให้ศึกษา ให้รู้ ให้ละ เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาธรรมจริงๆ จะเบาสบาย แต่พอต้องการเกิดขึ้นแล้ว วุ่นแล้ว นั่นคืออกุศล
ผู้ฟัง อาจารย์บอกว่า เบาสบาย แล้วไม่ต้องเดือดร้อน
ท่านอาจารย์ เวลาที่กุศลจิตเกิด ผ่องใสไหม
ผู้ฟัง ผ่องใสค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องรู้เลยว่า ผ่องใสนิดหนึ่ง หนักมากไหม แสดงว่ากุศลน้อย อกุศลมาก แต่ถ้าผ่องใสระหว่างที่ฟังตลอด ก็ไม่มีการหนักอะไรเลยในขณะที่กำลังฟัง
ผู้ฟัง เพราะว่าการเข้าใจธรรม และมาฟังว่า เราจะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ ถึงสมควรที่จะ ...
ท่านอาจารย์ นั่นคือฝัน อนาคต แต่ว่าเดี๋ยวนี้ กำลังมีสภาพธรรมปรากฏ คิดเรื่องตาย คิดเรื่องอะไรๆ หลายอย่าง แต่ว่าสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ ไม่หวั่นไหว
ผู้ฟัง อย่างนั้นต่างกันอย่างไรที่เป็นมรณสติ
ท่านอาจารย์ มรณสติต้องเป็นกุศล เวลาที่คิดถึงความตายแล้วกลัว เป็นกุศลหรือเปล่าคะ ขณะกลัว
ผู้ฟัง อกุศลค่ะ
ท่านอาจารย์ คิดถึงความตายแล้วห่วง เป็นกุศลไหมคะ
ผู้ฟัง อกุศล
ท่านอาจารย์ เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นเวลาที่เป็นมรณสติ คิดแล้วเป็นกุศล แต่ว่าจะเป็นกุศลระดับไหน บางคนก็อาจจะเกิดทาน การให้ เสื้อผ้าเรามีมากมาย แล้วเราก็ใช้ไม่หมด แล้วเก็บไว้ทำไม ตายแน่ๆ พรุ่งนี้ หรือเมื่อไรก็ได้ อย่างไรก็ต้องตาย ก็ให้คนอื่นเขาใช้บ้าง เขาก็อาจจะคิดเพียงแค่นั้นก็ได้ ตามกำลังของปัญญา แต่ถ้าสติปัฏฐานเกิด นั่นก็เป็นเครื่องที่ยิ่งกว่ารู้ว่า จะตายเมื่อไร เพราะสามารถจะรู้ความเป็นขณิกมรณะ คือ ความตายทุกขณะในขณะนี้
เพราะฉะนั้นปัญญาแม้จะระลึกถึงความตาย ก็ต้องตามลำดับ อย่างท่านพระอานนท์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ระลึกถึงความตายเมื่อไร ของท่านก็ต้องละเอียดกว่าผู้ที่ไม่ใช่ท่านพระอานนท์
ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าเรามีมรณสติ ด้วยความรีบร้อน รีบเรียน นั่นก็คือด้วยโลภะแล้ว
ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ ถ้ามรณสติก็ระลึกขณะนี้ ตายขณะนี้ จิตเกิดแล้วดับ ตายอยู่ตลอดเวลา ทุกขณะ
พบกันชาตินี้ ที่นี่ ไม่ทราบว่า เคยพบกันมาก่อนหรือเปล่า ที่ไหน แล้วชาติหน้าจะพบกันอีกหรือเปล่า ที่ไหนด้วย แต่ก็เป็นชาติที่ดีมาก ที่ได้พบกัน เกื้อกูลกันด้วยธรรม เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน