ศึกษาที่ตัวสภาพธรรม
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์แสดงว่า สภาพธรรมที่ดับไป แล้วไม่สามารถพิจารณาได้ แต่การพิจารณาตรงนี้จะเป็นขั้นไหน เพราะบางครั้งผมรู้สึกว่า อกุศลจิตเกิด บางทีก็มีคนเตือน หรือบางทีก็รู้ตัวเองว่าอกุศลจิตเกิด ก็รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งไม่ดี ต่อไปจะไม่ทำอย่างนี้อีก แต่ที่ท่านอาจารย์แสดงว่า เมื่อดับ แล้ว พิจารณาไม่ได้ ก็คงไม่ใช่การคิดพิจารณาอย่างนี้ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าพูดถึงสิ่งที่ดับ แล้ว ยังเหลือไหมคะ
ผู้ฟัง ไม่เหลือ แล้วครับ แต่ว่ายังสามารถคิดตามได้
ท่านอาจารย์ หมายความว่า ยังมีสัญญา ความจำ ระลึกถึงสิ่งที่ผ่านไป แล้ว แต่ต้องทราบว่า ต้องเป็นสิ่งที่ผ่านไป แล้ว ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่ให้พิจารณา
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นการพิจารณาที่ท่านอาจารย์หมายถึงพิจารณาอย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ เวลานี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ไม่ต้องไปคิดถึงว่าดับไป แล้ว เพราะว่าการสืบต่อการเกิดดับเร็วมาก แต่ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏชัดเจน ให้ค่อยๆ เข้าใจถูกในสิ่งซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน เช่น กำลังเห็น มีแน่นอน กำลังเห็นอยู่ แต่ว่าไม่เคยรู้ความจริงของสภาพนี้เลย เป็นเรามาโดยตลอด เพราะฉะนั้นจะไม่ใช่เราได้อย่างไร ก็มีหนทางเดียว คือ รู้ว่าขณะนี้มีสภาพรู้ ถ้าขณะที่กำลังนอนหลับสนิท ไม่มีอะไรปรากฏเลย ก็ไม่สามารถมีอะไรให้พิสูจน์ความจริง ให้รู้ความจริงได้ แต่แม้ว่ามีจิต กำลังหลับสนิทก็ไม่รู้ สามารถจะรู้เมื่อเห็นว่า ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่สภาพที่กำลังเห็น เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง
เพราะฉะนั้นในขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏ ก็มีธรรม ๒ อย่าง คือ อย่างหนึ่งเป็นสภาพที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ อันนี้แน่นอน เวลาที่ได้ยิน เสียงมีปรากฏ ก็แสดงว่าต้องมีสภาพที่ได้ยินเสียง แน่นอน ถ้าไม่มีสภาพที่ได้ยิน หรือรู้ลักษณะของเสียง เสียงก็ปรากฏไม่ได้
เพราะฉะนั้น การที่ปัญญาจะรู้ความจริง ไม่รู้อื่นเลย นอกจากสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะค่อยๆ รู้ความจริงของสิ่งนั้นขึ้น ไม่ใช่ไปรู้ความจริงของสิ่งที่ไม่ปรากฏ หรือสิ่งที่ยังไม่มาถึง
ผู้ฟัง คำว่า “พิจารณา” หลายคนฟัง แล้วก็เข้าใจ แต่ก็เข้าใจโดยการพิจารณาที่เป็นเรื่องราว เป็นคำๆ แต่ว่าอย่างที่ท่านอาจารย์แสดงมา การที่จะพิจารณาเหมือนอย่างที่ท่านอาจารย์แสดงหรือว่าจะเป็นความเข้าใจอย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าเวลาที่กำลังฟังธรรมเดี๋ยวนี้ พิจารณาด้วยหรือเปล่าคะ หรือว่าฟังไม่พิจารณาเลย ถ้าไม่มีการพิจารณา จะเข้าใจไหม
เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราที่พิจารณา แต่หลังจากที่ได้ฟัง หลังจากที่ได้ยินเสียง แล้ว วิถีจิต วาระของจิตต้องมีการพิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ถ้าเป็นเราพิจารณายาวมากเลย ใช่ไหมคะ พิจารณาตั้งแต่ต้นจนปลาย พิจารณาเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ถ้าเป็นสภาพธรรมที่พิจารณา ลักษณะของเจตสิกมีมากที่เกิดร่วมกัน ส่วนในขณะใดที่เป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูก อันนั้นก็เป็นเจตสิกอีกชนิดหนึ่ง ในขณะที่ฟังเข้าใจ จะต้องมีการพิจารณาด้วย
เพราะฉะนั้นจะเห็นการพิจารณาที่ต่างกันของการฟัง ขณะที่กำลังฟังเรื่องราว ก็พิจารณาเรื่องราว จึงได้เข้าใจเรื่องราว แต่ขณะที่กำลังจะศึกษาพร้อมสติสัมปชัญญะ เช่น ในขณะเห็นก็ฟังเรื่องราวของเห็น ในขณะได้ยิน ก็ฟังเรื่องราวของได้ยิน แต่ไม่ใช่สติสัมปชัญญะที่ระลึกลักษณะนั้น แล้วศึกษา แม้แต่คำว่า “ศึกษา” ที่นี่ เดี๋ยวคนก็จะต้องหยิบปากกา ดินสอขึ้นมาอีก ไม่ใช่อย่างนั้นเลยค่ะ
“ศึกษา” หมายความถึงเริ่มเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้น ซึ่งต้องเข้าใจถูกว่า นามธรรมเป็นนามธรรม รูปธรรมเป็นรูปธรรมก่อน จนกว่าปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณเกิด เมื่อนั้นถึงจะรู้ว่า ไม่ต้องมีการคิด การพิจารณา การไตร่ตรองใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นปัญญาที่ถึงขั้นที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม เพราะขณะนั้นสภาพธรรมนั้นปรากฏกับปัญญา โดยความเป็นธาตุ โดยความเป็นญาณ ในขณะนั้น
เพราะฉะนั้นการฟังคำต่างๆ เราก็ต้องรู้ด้วยว่า หมายความถึงเจตสิกเกิดขึ้นทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ โดยระดับขั้นต่างๆ เช่น ขั้นฟัง ก็จะไม่ไปถึงระดับขั้นสติปัฏฐาน แต่พระศาสนามีทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ไม่ใช่มีเพียงขั้นปริยัติเท่านั้น เพราะว่าขั้นปริยัติอย่างเดียว ไม่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ในเมื่อสภาพธรรมจริงๆ ขณะนี้มีตลอด และกำลังเกิดขึ้นทำกิจการงานทุกขณะ แต่การศึกษาเรื่องราวของสภาพธรรมนั้น ก็เพียงเข้าใจเรื่อง ทั้งๆ ที่จิตเจตสิกก็เกิดดับเร็วมาก แต่สติปัฏฐานก็ไม่ได้เกิดที่จะระลึก
เพราะฉะนั้นจึงต้องฟังด้วยความเข้าใจ ในขณะที่เข้าใจ ไม่มีเราทำเลย ให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป เป็นธรรม เพราะฉะนั้นบางคนเวลาที่อกุศลจิตเกิด เขาคิดที่จะระงับ แม้ความคิดนั้นก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย รู้ไหมว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรม คืออย่างไรๆ ก็ต้องรู้ความเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมทั้งหมดค่ะ ไม่อย่างนั้น ตรงนั้นก็เป็นเรา โดยที่ไม่รู้ตัวด้วยว่า แม้ขณะที่คิดก็เป็นนามธรรม ขณะที่ฟัง ใจของใครจะคิดอย่างไรได้หมด แต่ละคน ปัญญาจะต้องรู้ว่า ขณะที่คิด จะคิดอย่างไรก็ แล้วแต่ของแต่ละคน ก็เป็นนามธรรม
ที่เราเรียน เราเรียนอย่างนี้ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเวลาที่อบรมเจริญปัญญา ก็อบรมให้เข้าใจถูกต้องอย่างนี้ ให้ประจักษ์อย่างนี้ มิฉะนั้นพระศาสนาต้องเป็นหมัน เป็นโมฆะ คือ มีเพียงปริยัติ ไม่มีปฏิบัติ ไม่มีปฏิเวธ