ศึกษาธรรมเพื่ออะไร
ผู้ฟัง อาจารย์พูดทุกครั้งว่า การศึกษาต้องมีความระมัดระวัง ต้องเป็นผู้ตรง ต้องเป็นไปในทางที่ถูก และอุปสรรคหลายๆ อย่างที่ทำให้ความเข้าใจที่ถูกต้องไม่เกิด เช่น ความมีตัวตน ความอยากเป็นต้น สำหรับผู้ศึกษาใหม่ๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ปรากฏง่ายๆ จะพาตัวเองเข้ารกเข้าพงไปเรื่อยๆ อยากให้อาจารย์ช่วยชี้แนะว่า มีอะไรเป็นอุปสรรคปิดกั้นความเข้าใจที่ถูกต้องบ้าง ตั้งแต่ขั้นฟัง
ท่านอาจารย์ เมื่อได้ยินคำอะไร ขอให้เข้าใจคำนั้นจริงๆ อย่าไปคิดว่าเข้าใจแล้ว อย่างคำว่า “ธรรม” ฟังดูก็ง่าย คือ ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม แต่ทุกอย่างที่มีจริง คำว่า “เป็นธรรม” คืออย่างไร ถ้าไม่ถึงวิปัสสนาญาณก็ไม่ประจักษ์ความเป็นธาตุ แต่เราเริ่มที่จะมีความคิดใหม่ เพราะว่าความคิดเดิมของเราคือเรา และพี่น้องเพื่อนฝูง ทั้งหมดโลกนี่เลย ใช่ไหมคะ แต่ตามความเป็นจริงก็คือเป็นธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอะไรๆ ก็เป็นธรรม แต่ธรรมที่มีจริงก็มีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ นามธรรมกับรูปธรรม ฟังแค่นี้ก็หยุดไม่ได้ คิดว่าเข้าใจแล้วก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าได้ยินคำว่า “นามธรรม” แสดงว่ามีธาตุชนิดหนึ่ง คำว่า “ธาตุ” แสดงแล้วว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่นามธาตุที่เกิด หมายความว่ามีปัจจัยเกิด
เพราะฉะนั้นเวลาที่นามธาตุใดไม่เกิด ไม่ปรากฏ เราจะไปรู้นามธาตุนั้นก็ไม่ได้ และขณะนี้ที่เริ่มเข้าใจนามธาตุ ก็คือว่า นามธาตุที่เกิดเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เมื่อเกิดแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ส่วนรูปธาตุมีจริงๆ จะอยู่ที่ตัวเรา จะอยู่ที่กิ่งไม้ จะอยู่ที่หญ้าในพระวิหารเชตวัน อย่างที่ข้อความในพระไตรปิฎกว่า ถ้ามีใครเผาหญ้า เมื่อกี้เขาก็เผาหญ้า ในพระวิหารเชตวัน ที่เรากำลังเดินมาพอดี และเราจะต้องเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงว่า รูปเป็นรูป ไม่ว่าจะที่หญ้าในพระเชตวัน หรือรูปที่กาย ก็คือสภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ คือ เวลาฟังต้องฟังด้วยความเข้าใจ เข้าใจในคำนั้น และก็คิดว่าพอแล้ว หมดแล้ว ไปหาจิตกี่ดวง เจตสิกกี่ดวง ไม่ใช่อย่างนั้น แต่แม้แต่คำว่า “รูปธาตุ” เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ตรงไหน ลักษณะที่ไม่รู้เป็นรูปทั้งหมด คือ ต้องค่อยๆ เข้าใจ และพิสูจน์ความจริงว่า ที่ตัวมีรูปธาตุไหม หรือว่าเป็นเรา เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งที่ตัว ก็เหมือนเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งที่อื่น ต้องเข้าใจมั่นคงว่า รูปธาตุเป็นรูปธาตุ เคยมีคิดว่า ที่ตัวหรือข้างนอก แต่ตามความจริง รูปธาตุมีปัจจัยเกิดแล้วดับ แล้วเราก็ไปทรงจำว่า อยู่ตรงไหน ที่ไหน แต่ความจริงการที่จะรู้ลักษณะของรูปธาตุ ก็คือไม่ต้องไปนึกถึงที่ แต่มีลักษณะของรูปปรากฏให้เข้าใจในความเป็นรูป ซึ่งเมื่อปัญญาถึงความสมบูรณ์ ก็จะประจักษ์การเกิดดับ เพราะเหตุว่าถ้ารูปนั้นไม่เกิด รูปนั้นจะปรากฏไหม แต่เวลาที่รูปปรากฏ ปัญญาสามารถรู้ไหมว่า รูปนั้นเกิด เห็นการเกิดของรูปนั้นหรือเปล่า
เพราะฉะนั้นปัญญาต้องตามลำดับขั้นจริงๆ คือ เมื่อฟังแล้วก็เริ่มเข้าใจถึงความเป็นธาตุ ถึงความเป็นธรรม ถึงความเป็นรูปธรรมนามธรรมก่อน และเวลาที่มีสภาพธรรมใดกำลังปรากฏ ถ้าเป็นผู้อบรมความเข้าใจมามั่นคงสามารถจะระลึก คือขณะนั้นมีการพิจารณา หรือจะใช้คำว่า “ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ” เช่น เห็น บางคนก็อาจจะคิด “เห็นเป็นนามธรรม” ห้ามไม่ได้ แต่ขณะที่ไม่คิดว่าเห็นเป็นนามธรรม เห็นก็เห็น แสดงว่าธาตุชนิดนี้ไม่ต้องเรียกชื่อ เกิดขึ้นทำหน้าที่ของธาตุนั้นๆ
นี่คือฟังเรื่องสภาพธรรมจนเข้าใจในความเป็นธรรม และเวลาที่สติระลึก ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องอบรม อย่างผู้คนในสมัยของพระทีปังกร สี่อสงไขยแสนกัป จนกระทั่งถึงสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ เพราะฉะนั้นจึงใช้คำว่า “จิรกาลภาวนา”
การฟังธรรมแต่ละครั้ง ไม่ใช่มุ่งจะได้อะไรเลย แต่มุ่งที่จะสามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏหรือเปล่า ถ้ายังไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็ต้องเข้าใจว่า เราศึกษาธรรมเพื่ออะไร ถ้ายังไม่สามารถรู้ว่า เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ การศึกษาของเราก็ไม่มีประโยชน์เลย เพราะว่าเป็นเพียงเรื่องราวที่จำ เหมือนเราเรียนประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เราก็จำได้
ผู้ฟัง พออาจารย์พูดอย่างนี้ ทุกคนก็อยากจะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ท่านอาจารย์ แต่ค่อยๆ เข้าใจไงคะ และเป็นผู้ตรงสำหรับตัวเองว่า กำลังค่อยๆ หรือเปล่า อย่างขณะเห็น ไม่เคยระลึกเลย หรือว่าแข็งทั้งวัน ไม่เคยระลึกเลย
เพราะฉะนั้นสติสัมปชัญญะคืออย่างไร ขณะไหน ไม่ใช่สมาธินี่แน่นอน แล้วสติสัมปชัญญะก็คือตามรู้ หรือรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏนั่นเอง
จากการศึกษา เราทราบว่า แข็งปรากฏกับกายวิญญาณ ทุกคนที่มีกายปสาท จะต้องรู้ลักษณะที่แข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน เด็กรู้ไหมคะ เด็กรู้ แต่ไม่มีสติที่ตามรู้หรือระลึก หรือรู้ตรงนั้น แม้เพียงนิดเดียว เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าสภาพนั้นดับ แล้วสภาพธรรมอื่นก็เกิดต่อ
เพราะฉะนั้นผู้จะรู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะต้องเป็นผู้ที่อบรม และรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่เพียงแข็งปรากฏ เหมือนอย่างตอนเช้าหรือตอนบ่าย แต่เดี๋ยวนี้แข็งกำลังปรากฏกับสติหรือเปล่า หรือเพียงกับกายวิญญาณ ถ้าสติ ก็คือมีการใส่ใจตรงนั้น ระลึกตรงนั้น เพื่อจะเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพรู้ หรือลักษณะของรูป เพราะมี ๒ อย่างในขณะนั้น แต่ที่ขณะนี้เรามีทุกอย่าง เพราะสภาพธรรมเกิดดับสืบต่อเร็วมาก รวมจนกระทั่งเป็นคน เป็นสัตว์ แต่ถ้าแยกออกไปทีละทวาร มีภวังคจิตคั่นด้วย จุดประสงค์ของการเรียนเพื่อเรียนให้เข้าใจจริงๆ ว่า ไม่ใช่เราแน่นอน เพียงเกิดแล้วก็ดับ ตั้งแต่เช้ามา อาหารที่รับประทานตอนเช้า ความรู้สึกตอนเช้า เวลานี้อยู่ที่ไหน ไม่มีเลย และต่อไปความรู้สึกขณะนี้ก็ไม่มี ซึ่งความจริงแล้วเร็วยิ่งกว่านั้นอีก คือ แม้ขณะนี้สภาพธรรมก็ปรากฏเพียงทีละอย่าง สั้นมาก เพราะฉะนั้นสติสัมปชัญญะคือสั้นอย่างนั้น แต่กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ ถ้าเป็นเรื่อง อย่างที่ว่ากระทบ ก็คือไม่ใช่ แต่ว่ามีลักษณะที่ปรากฏให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไม่ต้องไปคิดถึงทวาร ไม่ต้องไปคิดถึงดวง ไม่ต้องไปคิดถึงอะไรเลย แต่ความเข้าใจสภาพธรรมกำลังอยู่ตรงลักษณะที่มีจริงๆ ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยใส่ใจ เย็นก็เย็นไป ร้อนก็ร้อนไป ก็เป็นเรื่องเป็นราวติดตามมาทันที พอเห็นก็เป็นเรื่องราวทันที พอแข็งก็เป็นเรื่องราวทันที พอได้ยินก็เป็นเรื่องราวทันที แต่เวลาที่สติเกิด ก็คือใส่ใจในสภาพที่เป็นปรมัตถ์ ขณะนั้นคือมีสติสัมปชัญญะที่รู้ลักษณะนั้น เพียงแต่ว่าปัญญายังไม่เจริญถึงขั้นที่จะประจักษ์แจ้ง แต่ก็มีความเข้าใจถูกต้องว่า ถ้าสติไม่เกิดระลึกตรงนั้น ไม่มีทางที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ เพราะเกิดแล้วดับแล้วเร็วทุกขณะ