ค่อยๆเข้าใจความจริง ๒
ผู้ฟัง และการพิจารณาธรรม เราจะพิจารณาจากสิ่งที่เราเรียนมาหรือพิจารณาจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏกับสติครับ
ท่านอาจารย์ ทั้ง ๒ อย่างค่ะ คือ ถ้าสติปัฏฐานยังไม่เกิด เราก็ใคร่ครวญพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่เราได้ยิน โดยประการต่างๆ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเดียวมีระดับตั้งแต่ขั้นต้นจนกระทั่งขั้นสูงสุด เช่น สติปัฏฐาน หรือวิริยเจตสิกก็ตาม ก็เป็นมรรคมีองค์ ๘ แต่แม้ขณะนี้ก็ตามที่กำลังฟัง ก็มีวิริยะขั้นฟังเกิดกับจิต
เพราะฉะนั้นทุกอย่างไม่ใช่เพียงฟัง ถ้าฟังแล้วไม่ไตร่ตรอง ไม่พิจารณา ความเข้าใจก็จะต้องน้อยมาก หรืออาจจะไม่เข้าใจเลยก็ได้ อย่างบางคนที่ได้ยินว่า นามธรรมรูปธรรม เขาก็ผ่านไปเลย ไม่ใช่ไม่ได้ยิน ได้ยินนามธรรม ได้ยินรูปธรรม แต่ก็ผ่านไป อีกคนหนึ่งก็ได้ยินแล้วก็คิด นามธรรมเป็นอย่างไร รูปธรรมเป็นอย่างไร ค่อยๆ พิจารณาเข้าใจขึ้น อีกคนก็ได้ยินอะไรทั้งหมดในพระไตรปิฎก ก็พิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังประกอบกัน นามธรรมมีอะไรบ้าง เป็นปัจจัยซึ่งกัน และกันอย่างไร สภาพนี้เป็นปัจจัยแก่สภาพนั้นโดยปัจจัยอะไร แม้แต่ผัสสเจตสิกก็เป็นปัจจัย โดยเป็นอาหารปัจจัย เป็นผัสสาหาร คือ ไม่ทิ้งสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง แล้วก็พยายามเข้าใจ จนกระทั่งสามารถที่จะค่อยๆ มีความเข้าใจในสิ่งซึ่งเราไม่เคยเข้าใจมาก่อน ซึ่งจะทำให้มีการระลึกได้ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ
สำหรับการระลึก อย่าคิดว่า ยากมาก การรู้ต่างหากที่ยาก เพราะเหตุว่าสติจะเกิดได้ในขณะที่กำลังเห็น เป็นสติสัมปชัญญะซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการคิดเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น เหมือนอย่างกับว่าเวลานี้เราเห็น และเราก็ผ่านการเห็นมามาก แต่ขณะใดที่ค่อยๆ เข้าใจ ไม่ต้องกล่าวเป็นคำเลยว่า สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง นี่คือคำพูด แต่เวลาที่ไม่พูด ก็รู้ว่า นี่เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แล้วก็ยังมีสภาพเห็นซึ่งกำลังเห็นสิ่งนั้น ในขณะที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งกำลังเป็นอารมณ์ที่จิตหรือสติกำลังระลึก แล้วปัญญาค่อยๆ เข้าใจขึ้น นั่นคือสติปัฏฐาน ไม่ใช่เป็นแต่เพียงชื่อที่เราเรียกว่า สติปัฏฐาน แล้วก็หาว่า สติปัฏฐานอยู่ที่ไหน แต่สติปัฏฐานก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ที่สภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ได้
อย่างทางกายที่เคยยกตัวอย่าง วันหนึ่งอ่อนแข็งหลายครั้ง ก็ผ่านไป กายวิญญาณรู้แล้วก็หมดไปอย่างรวดเร็ว เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทุกอย่างเกิดแล้วดับไปเร็วมาก แต่ขณะใดที่กำลังค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่แข็ง ไม่มีเราตรงนั้น แข็งคือเป็นแข็ง เข้าใจว่าแข็ง ขณะที่ปรากฏ มี เป็นสภาพธรรม และขณะที่มีสภาพที่รู้แข็ง ลักษณะที่รู้แข็งก็มีจริงๆ จนกว่าธาตุรู้หรือสภาพรู้จะเปิดเผย เพราะเหตุว่าปรากฏทางมโนทวารกับปัญญาที่สามารถรู้ในขณะนั้นได้เมื่อสภาพนั้นปรากฏ แต่ไม่ใช่เราพยายามด้วยความเป็นเราที่จะรู้ เพราะเหตุว่าขณะนั้นกั้นทันที ถึงแม้ว่าเราจะเหมือนรู้มาก แต่ก็เป็นเราทั้งหมด ไม่ใช่การเริ่มรู้ตั้งแต่ต้นว่า สติเกิด เพราะฉะนั้นสติต่างหากที่กำลังรู้แข็ง สติต่างหากที่กำลังรู้ลักษณะสภาพของความรู้สึก สติต่างหากที่กำลังระลึกลักษณะของโลภะหรือโทสะ ซึ่งเราไม่ต้องเรียกชื่อ แต่ลักษณะที่ติดข้อง ลักษณะที่เพลิดเพลินนั้นมี และสติก็กำลังระลึกลักษณะนั้นว่า เป็นสิ่งที่มีจริง มีลักษณะอย่างนั้น ถ้าเป็นความขุ่นเคืองใจ สติก็ระลึกลักษณะสภาพนั้นซึ่งกำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้นก็เป็นปกติ ที่หลงลืมสติเป็นอย่างหนึ่ง และเวลาที่สติเกิดก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง คือ กำลังมีสภาพนั้นที่กำลังค่อยๆ เข้าใจขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย เป็นปกติค่ะ ถ้าผิดปกติ แฝงไว้ด้วยอะไร ถ้าผิดปกติสักนิดเดียว
เพราะฉะนั้นหนทางนี้เป็นหนทางละโลภะ เพราะเห็นโลภะมากขึ้น ถ้าไม่เห็นโลภะเลย ปฏิบัติไป ทำไป ใครก็ตาม แล้วจะละโลภะได้อย่างไร ไม่เห็นเลย อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่ที่จะรู้ได้ โลภะแม้ที่ละเอียดขึ้นเพียงไร ก็ไม่พ้นปัญญาที่สามารถจะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นโลภะ
เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ทุกขสัจ ทุกขสมุทัยสัจ หมดเมื่อไร ไม่มีในขณะที่สภาพของสังขารธรรมปรากฏ ขณะนั้นก็สามารถน้อมไปสู่พระนิพพานได้ แต่ก็ต้องเป็นปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมขึ้นตั้งแต่ขั้นต้น ถ้าไม่มีความเข้าใจ อย่าไปทำอะไรเลย ไม่มีประโยชน์ หรือถ้าเราเรียนไปเท่าไร แต่เราไม่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็เหมือนใบลานเปล่า