ยังไม่เห็นว่าเป็นภาระ
ผู้ฟัง พระองค์ทรงแสดงไว้ว่า ขันธ์ ๕ เป็นภาระอย่างยิ่ง ทีนี้ถ้าเรามองในแง่ของรูปธรรม หนูเข้าใจว่า ในแง่ของความเป็นภาระก็คือต้องดูแลปรนนิบัติให้ดำเนินไปจนกว่าจะสิ้นชีวิต แต่ภาระในเรื่องของนามธรรมเป็นอย่างไร และความหมายของคำว่า “ภาระ” ในที่นี้กินความมากน้อยแค่ไหนคะ
ท่านอาจารย์ ภาระเป็นของหนัก น่าจะปลดปล่อย แต่ไม่มีใครปลดปล่อยค่ะ ติดในภาระ คนที่มีภาระ เขาก็มีความกระตือรือร้นที่จะทำภาระนั้นๆ แต่จริงๆ แล้วถ้าเข้าใจความหมายของภาระ เป็นเรื่องหนัก รูปที่เกิดมาแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะติดเลย เพราะเหตุว่าแท้ที่จริงแล้วต้องบำรุงรักษา บริหารตั้งแต่เกิดจนตาย แม้ทุกวัน ตื่นขึ้นมาแล้วก็มีเรื่องร่างกายที่ต้องบริหาร เป็นภาระ ถ้าเราไม่ต้องบริหารร่างกายก็คงจะดี แต่เป็นไปไม่ได้เลย ทั้งความสะอาด ทั้งอาหาร และความเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัยต่างๆ ด้วย
สำหรับนามธรรมก็เป็นภาระอย่างยิ่ง คือ ขณะนี้จะมีใครเข้าใจความจริงว่า กำลังเห็นเพราะต้องเห็น ไม่เห็นไม่ได้ มีใครบ้างคะที่จะไม่ต้องเห็น ในเมื่อมีเหตุปัจจัยที่เห็นเกิดในขณะนี้ก็ต้องเห็น และเห็น ก็ต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็น แล้วก็ดับไป หมดไป ไม่ว่าจะเป็นแสนโกฏิกัปป์มาแล้ว เห็นก็เหมือนอย่างนี้ คือ เป็นสภาพธรรมหรือธาตุธรรมซึ่งรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาว่า สิ่งที่ปรากฏทางตามีลักษณะอย่างนี้ๆ ต่อไปข้างหน้าอีกแสนโกฏิกัปป์ ถ้ายังไม่ออกจากสังสารวัฏฏ์ ก็ต้องเห็น เป็นภาระหรือเปล่าคะ ที่ ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ต้องคิดนึก
จิต เจตสิกทำงานไม่มีหยุดเลย ไม่ว่าจะหลับหรือจะตื่น เป็นกิจการงานหน้าที่ของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งถ้าไม่ทำเสียได้ จะดีไหมคะ นั่นคือผู้ที่จะปลงภาระ เพราะเห็นว่าเป็นภาระจริงๆ แต่ถ้าตราบใดที่ยังพอใจที่จะเห็น ที่จะได้ยิน ที่จะได้กลิ่น ที่จะลิ้มรส ที่จะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่จะคิดนึก ก็หมายความว่าไม่ได้คิดที่จะปลงภาระ และชีวิตคือความจริง สัจจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ วันนี้กว่าจะมานั่งตรงนี้ มีภาระเท่าไร โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นภาระ หรือว่าแสวงหาเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลาซึ่งภาระ โดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่า เป็นภาระ
เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมจนเห็นว่าเป็นภาระ ก็คือขณะนั้นไม่ใช่เรา ถ้าเป็นเราอยู่ก็สนุกดี เห็นก็เห็นสิ่งที่สวยๆ งามๆ ไปตลาดซื้อของ มีผัก มีผลไม้ มีทุกอย่าง นำมาซึ่งความรู้สึกตื่นเต้นบ้าง ดีใจบ้าง ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ก็เสียใจบ้าง ก็ไม่เห็นเบื่อหน่าย คือ ไม่เห็นว่าเป็นภาระ จนกว่าจะไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมซึ่งต้องเกิด เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิด และเมื่อเกิดแล้ว ไม่มีธรรมใดเลยที่ไม่ดับ ไม่คงที่ เกิดมาชั่วเวลาที่สั้นแสนสั้น แล้วก็รู้สิ่งที่ปรากฏแต่ละทาง คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยไม่พร้อมกันด้วย ทีละอย่าง สิ่งใดที่กำลังปรากฏ สิ่งนั้นดับ ไม่ว่าจะปรากฏทางตา หรือปรากฏทางหู ปรากฏทางจมูก ปรากฏทางลิ้น ปรากฏทางกาย ปรากฏทางใจ เป็นภาระที่จะต้องรู้สิ่งซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป ไม่มีอะไรเหลือเลย ทุกอย่างที่กำลังปรากฏในขณะนี้เกิดแล้วดับ
เพราะฉะนั้นก็เป็นแต่เพียงภาระหน้าที่ของสภาพธรรม ซึ่งเมื่อมีอวิชชาก็จะต้องมีการติดข้อง ขวนขวาย จนกระทั่งทำให้สภาพธรรมต่างๆ เหล่านี้ไม่หยุดการเกิด ยังมีการเกิดต่อไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ดับไปแล้วก็มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรมเกิดต่อไปอีก
เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ว่าเป็นภาระ ก็คือต้องมีการศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนประจักษ์แจ้งว่า พระธรรมที่ทรงแสดงทุกพุทธวจนะเป็นความจริง เป็นสิ่งที่แต่ละท่านสามารถอบรมเจริญปัญญาพิสูจน์รู้แจ้งในความจริงนั้นได้