ไม่มีใครไม่คิด
คุณนีน่า ดิฉันฟังแล้วก็คิดด้วย ชอบคิดเรื่องปรมัตถธรรม แต่อาจารย์บอกว่า การคิดเสมอ ไม่มีอะไรอื่น แต่ดิฉันเข้าใจว่าเป็นสังขตธรรม
ท่านอาจารย์ ความคิดต้องเกิดแน่นอนค่ะ ไม่เกิดไม่ได้เลย มีใครเพียงเห็นแล้วไม่คิด มีใครเพียงได้ยินแล้วไม่คิด มีใครเพียงได้กลิ่นแล้วไม่คิด มีใครเพียงลิ้มรสแล้วไม่คิด มีใครที่เพียงกระทบสัมผัสแล้วไม่คิด
เพราะฉะนั้นโลกของความคิดประมวลมาทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏทางตา นานแสนนานมาแล้วก็ยังคิดถึงได้ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยนัยเดียวกัน ความคิดของคนที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม ก็จะเป็นไปในเรื่องความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมเลย แต่ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้วก็จะมีความคิดใหม่ คือ คิดเรื่องธรรมที่ได้ยินได้ฟัง แต่เพียงความคิดไม่สามารถทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่เป็นส่วน เพราะเหตุว่าพระศาสนามี ๓ ระดับ ปริยัติศาสนา ปฏิบัติศาสนา ปฏิเวธศาสนา คำสอน สอนแม้ในขั้นของปริยัติ คือ เรื่องราวของสภาพธรรมซึ่งต้องฟัง ฟังแล้วไม่ใช่ฟังเฉยๆ ขณะนี้ไม่ใช่ทุกคนไม่ได้คิดเลย ฟังแล้วก็คิดด้วย แต่ไม่ใช่เป็นเราที่คิด
เพราะฉะนั้นบางคนก็พยายามให้เป็นเราไปให้คิดให้ดี ให้เป็นกุศล แต่ขณะนั้นเขาไม่รู้เลยว่า เพียงแต่จะคิดอย่างนั้นก็เกิดขึ้นก็เพราะเหตุปัจจัย หนีไม่พ้นสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก และรูป แต่ความยึดถือสภาพธรรมก็คือ เดี๋ยวยึดว่า จะต้องคิดดีๆ จะต้องทำดีๆ แต่ผู้ที่รู้ความจริงจะรู้ว่า แม้ขณะคิดก็เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เพื่อละความเป็นเรา หรือละความเป็นตัวตน
เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ต้องเข้าใจความต่างของธรรมที่เป็นคำสอน ๓ ระดับ คือ ขั้นปริยัติ สอนให้เข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรมที่มีจริงๆ เพราะเหตุว่าถ้าไม่เข้าใจเรื่องราว และจะมีขณะที่สติปัฏฐาน สติสัมปชัญญะเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านก็ได้อบรมปัญญามานานมาก ในชาติสุดท้ายที่ท่านยังไม่ได้ฟังพระธรรม ท่านจะมีการระลึกลักษณะของสภาพธรรมไหมคะ ไม่มี แต่เพราะเหตุท่านฟังมานานมาก หลายชาติ เพราะฉะนั้นเวลาที่ได้ฟังพระธรรมอีกครั้งหนึ่ง สติปัฏฐานเกิด สภาพธรรมปรากฏ มีการละคลายการยึดถือสภาพธรรม รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบัน
ท่านพระสารีบุตรผู้เป็นอัครสาวกบำเพ็ญบารมี ๑ อสงไขยแสนกัป แต่ก็ไปเป็นลูกศิษย์ของสัญชัย จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมจากท่านพระอัสสชิ เพียงสั้นๆ ก็สามารถรู้ความจริงของสภาพธรรม
เพราะฉะนั้นปัญญาที่ได้สะสมอบรมมา ไม่ใช่เพียงขั้นปริยัติ แต่ต้องเป็นขั้นที่อบรมเจริญการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จนถึงกาลที่สามารถจะรู้ความจริง เพราะสติสัมปชัญญะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้น ถึงกาลที่จะรู้แจ้ง ไม่นานเลย เร็วมาก เวลาที่ถึงความสมบูรณ์ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นเวลาที่ไม่นาน แต่นั่นเป็นผู้ที่เป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคล คือ สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม รู้แจ้งอริยสัจธรรมในเวลาสั้นๆ ไม่นาน แต่ไม่ใช่มีแต่อุคฆฏิตัญญูบุคคล หรือวิปจิตัญญูบุคคล ซึ่งอาศัยการเทศนามากกว่าอุคฆฏิตัญญูบุคคล จึงสามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ยังมีผู้ที่จะต้องอบรมมากกว่านั้น จึงจะรู้ได้ คือ เนยยบุคคล ทั้งๆ ที่ฟังมาก แสดงธรรมมาก อบรมเจริญปัญญามาก ปัญญาของแต่ละบุคคลซึ่งเป็นเนยยบุคคลก็ต่างกัน บางท่านก็จะมีวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นเพียง ๒ – ๓ ญาณ แล้วก็ต้องอบรมต่อไปอีก กว่าจะก้าวไปถึงมหาวิปัสสนา หรือพลววิปัสสนาต่อๆ ไป
เพราะฉะนั้นต้องฟังด้วยความเข้าใจจริงๆ ว่า จุดประสงค์สูงสุด ชาตินี้ คือ อบรมเจริญปัญญา ด้วยความเป็นผู้ตรงว่า ขณะนี้รู้หรือไม่รู้สภาพที่เป็นธรรม ไม่ใช่อะไรเลยทั้งสิ้นในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่มีอะไร นอกจากเป็นชั่วขณะที่กระทบกับจักขุปสาทเกิดแล้วก็ดับไป ถ้ายังไม่รู้ ธรรมทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มีธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้ศึกษา ให้ฟัง ให้ไตร่ตรอง ให้เข้าใจ จนกว่าสัมมาสติจะเกิด แล้วเมื่อสัมมาสติเกิด ก็ยังต้องมีอุปสรรค คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ที่จะทำให้เนิ่นช้าต่อไปอีก
เพราะฉะนั้นผู้ที่ฟังแล้วเข้าใจจริงๆ อบรมมาแล้ว ก็จะคลายความเป็นตัวตน ก็จะทำให้สามารถเข้าใจพระธรรมจรดกระดูก คือ ไม่มีการเปลี่ยนเลย รู้ว่าสภาพธรรมขณะนี้เป็นสัจธรรม และผู้ที่รู้จริง ประจักษ์แจ้งเป็นอริยสัจธรรม จนกว่าจะถึงวันนั้น ก็เป็นสิ่งที่สามารถอบรมไปได้ และต้องเป็นเรื่อง “ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง” คนที่บอกว่าอดทนเก่งๆ พอถึงธรรม เขาจะเข้าใจความหมายเลยว่า อดทนที่ว่าเก่งแล้ว จะอดทนฟังพระธรรม อดทนพิจารณา อดทนที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เมื่อสติปัฏฐานเกิดมีเหตุปัจจัย ไม่ใช่เป็นเราที่จะทำ เพราะถ้าเป็นเรา ก็หมายความว่า ความเข้าใจเรื่องธรรมไม่ตรง ความเข้าใจเรื่องอนัตตาไม่จริง เพราะเหตุว่าเมื่อรู้ว่าเป็นธรรม ก็ต้องเป็นธรรม เมื่อรู้ว่าเป็นอนัตตา ก็ต้องเป็นอนัตตา จะเป็นอื่นไปไม่ได้