รู้ตามกำลังของตนเอง


    ผู้ฟัง มีข้อสังเกตอะไรสำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะไม่ให้เข้าใจผิดว่า ขณะนั้นสติเกิดครับ

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้รู้ลักษณะของสติปัฏฐาน ถ้าไม่รู้ลักษณะของสติปัฏฐาน ก็จะเอาสมาธิเป็นสติ หรือจะเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นการอบรมเจริญปัญญา ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้ในเรื่องของสภาพธรรมเลย เพราะฉะนั้นการที่สติปัฏฐานจะเกิดได้ ก็ต้องมีความเข้าใจสภาพธรรมพอที่จะทำให้มีการระลึกได้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ทางตาที่กำลังเห็นเป็นธรรม แต่เรามักจะพูดหรือคิดในใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม แต่เรายังไม่มีการระลึกลักษณะของธรรมหนึ่งธรรมใด เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่า เรารู้จริงๆ ไม่ได้ จนกว่าจะรู้จริง ก็ต่อเมื่อมีการเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็ได้ เป็นสิ่งที่สติกำลังค่อยๆ เข้าใจขึ้น ในขณะที่เข้าใจ ขณะนั้นก็มีสติอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องไปห่วงชื่อว่า เป็นสติปัฏฐานหรือไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะเหตุว่ามีลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และกำลังเข้าใจลักษณะนั้น ซึ่งก่อนนั้นเวลาที่สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดปรากฏ ก็มักจะคิดเป็นเรื่องราวต่อไปเลย แต่แทนที่จะคิดเป็นเรื่องราว ก็กำลังมีการพิจารณา หรือมีการสังเกต หรือมีการค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้น ขณะนั้นก็คือสติปัฏฐาน ซึ่งถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ปรากฏทางอื่น ลักษณะนี้มีจริง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เราก็จะไม่ปนกับความคิดนึกว่า มีคน หรือมีดอกไม้ มีต้นไม้ มีหญ้า มีเสื่อในสิ่งนี้ ต้องเป็นคนละขณะ

    เพราะฉะนั้นการที่สติค่อยๆ เข้าใจว่า สิ่งที่เราเคยเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ความคิดเรื่องคน เรื่องสัตว์ ก็มีไม่ได้เลย แต่เพราะเหตุว่ามีสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา แต่ไม่เคยรู้เลย และไม่เคยรู้มาก่อนว่า เป็นธรรมอย่างหนึ่งซึ่งสามารถจะปรากฏทางตาได้เท่านั้น การที่ค่อยๆ เข้าใจอย่างนี้ ก็จะคลายการติดในนิมิต คือ รูปร่างสัณฐาน และอนุพยัญชนะ ขณะนี้ก็มีนิมิต และอนุพยัญชนะ ถ้าเรายังติด ก็หมายความว่า ขณะนั้นสติปัฏฐานก็ไม่ได้เกิด ไม่ได้มีความเข้าใจว่า เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งไปคิดถึงว่า จะมองไปอย่างไรถึงจะทำให้ไม่เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ นั่นผิดนะคะ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นเพียงแต่ว่า ในขณะนี้เองมีสี มีเสียง ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเมื่อเห็นแล้วก็หมดไป เมื่อได้ยินแล้วก็หมดไป ด้วยความเข้าใจถูกต้องว่าเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ถ้าเสียงไม่หมด เห็นก็มีไม่ได้ ถ้าเห็นไม่หมด เสียงก็ปรากฏไม่ได้

    เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ทุกอย่างในชีวิตเปลี่ยนจากเป็นเรา มาเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    นี่คือขั้นเข้าใจ แต่ขั้นระลึก คือ ระลึกที่ลักษณะเฉพาะอย่าง ทีละอย่าง แล้วก็ค่อยๆ เริ่มรู้ลักษณะที่เป็นสภาพรู้ หรือไม่ใช่สภาพรู้ เพราะว่าทั้ง ๒ อย่าง มีลักษณะที่ต่างกันมาก สภาพรู้ไม่มีรูปร่างเลย ไม่มีสีสันปรากฏ ไม่มีรสปรากฏ ลองคิดดูว่า ถ้าประจักษ์ลักษณะของสภาพรู้จริงๆ ขณะนั้นจะมืดไหมคะ มืดยิ่งกว่าความมืดทั้งหมด แต่ว่าปัญญาขณะนั้นก็ยังสามารถเกิด และประจักษ์แจ้งลักษณะที่เป็นธาตุรู้ หรือสภาพรู้ได้

    เพราะฉะนั้นปัญญาสามารถรู้ตามที่ทรงแสดงทุกอย่าง เพราะว่าความจริงสภาพธรรมเป็นอย่างไร ประจักษ์อย่างนั้น และทรงแสดงอย่างนั้น ให้ผู้ที่อบรมสามารถเข้าใจถูกตามที่ได้ศึกษาทั้งหมด เช่น ภวังคจิต ขณะใดที่ไม่มีเสียง ไม่มีสี ไม่มีอะไรปรากฏเลย แล้วมี ก็จริง ใช่ไหมคะ เพราะว่าก่อนที่จะมีการเห็น หรือสิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏได้ ต้องไม่มีอะไร แล้วมี แล้วก็หามีไม่

    เพราะฉะนั้นทุกพระพุทธวจนะเป็นความจริง ซึ่งปัญญาจะต้องค่อยๆ อบรม ค่อยๆ รู้ตามกำลังของตนเอง ไม่ใช่ไปรู้ทั่วทั้งหมดอย่างที่พระไตรปิฎกทรงแสดง เพราะเหตุว่าผู้ที่ทรงแสดง ตรัสรู้ทั้งหมด โดยความเป็นปัจจัย โดยความเป็นธาตุ โดยความอายตนะ แต่ว่าผู้ที่เริ่มเรียน ยังไม่รู้ลักษณะที่เป็นธรรม ทั้งๆ ที่เป็นธรรม ก็เป็นเรา

    เพราะฉะนั้นผู้ที่ศึกษา ก็เป็นผู้ที่ตรงว่า การฟังทำให้เข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรม แต่การที่จะรู้ลักษณะแท้ๆ ของสภาพธรรมได้ ก็ต่อเมื่อสภาพนั้นกำลังปรากฏ และขณะที่ค่อยๆ เริ่มเข้าใจ เพราะเคยฟังมาว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ขณะนี้ก็ค่อยๆ น้อมไปเข้าใจว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ขณะที่ค่อยๆ น้อมไปเข้าใจว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏนี่ไม่ต้องเป็นชื่อ หรือเป็นคำ แต่มีความเข้าใจในลักษณะนี้ว่าต่างกับลักษณะอื่น

    เพราะฉะนั้นก็มีสภาพธรรมที่ปรากฏให้ค่อยๆ อบรมความรู้ ความเข้าใจถูก ซึ่งขณะนั้นสติต้องมี ปัญญาต้องมี เป็นสติปัฏฐาน แม้ว่าจะไม่เรียกชื่อว่า สติปัฏฐาน ก็มีสภาพธรรมที่กำลังค่อยๆ เข้าใจ โดยสติปัฏฐานเกิด และปัญญาก็สามารถน้อมไปเข้าใจความจริงของสภาพธรรมนั้น

    จะเว้นทางหนึ่งทางใดไม่ได้เลย ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าแต่ก่อนนี้ได้ยินเสียงอย่างนี้ เราอาจจะคิดว่าเสียงกลอง และพระธิเบต หรือพระพม่า หรืออะไรก็แล้วแต่ความคิดของเรา แต่ขณะที่เราไม่สนใจเลยว่า เป็นพระ เป็นกลอง แต่เสียงปรากฏให้ค่อยๆ เข้าใจว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ในชีวิตของเราก็มีสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเท่านั้นค่ะ ไม่มีอื่นเลย แล้วทุกอย่างเป็นธรรมแต่ละอย่าง

    เพราะฉะนั้นเมื่อไม่สนใจ ก็ละความติดข้องในนิมิต และอนุพยัญชนะ เพราะฉะนั้นก็เข้าใจความหมายของการละในนิมิต และอนุพยัญชนะ ไม่ใช่ตัวเราที่ละ แต่เพราะในขณะนั้นเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม จึงไม่สนใจในนิมิต และอนุพยัญชนะ ก็จะทำให้เราค่อยๆ เข้าใจตรงลักษณะของสภาพธรรมซึ่งปรากฏแล้วก็ดับ ซึ่งแต่ก่อนนี้พอปรากฏแล้วดับ ความนึกคิดติดตามมาทันที เป็นกลอง เป็นคนกำลังเดินมา แต่ขณะที่กำลังมีเสียงปรากฏ แล้วค่อยๆ รู้ลักษณะว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ถ้าธรรมอื่นปรากฏ ก็แสดงว่าธรรมนั้นดับไปแล้ว แล้วก็มีสภาพอื่นปรากฏให้รู้ ก็ค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรม จนกระทั่งเข้าใจการตั้งต้นของความเข้าใจว่า ต้องตั้งต้นด้วยความเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เมื่อสติระลึกก็ยิ่งเห็นจริงว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ถ้าไม่ระลึก ทุกอย่างเป็นธรรมก็เป็นแต่เพียงความจำจากการฟัง แต่ไม่ได้รู้จริงๆ ว่า ทุกอย่างคือแต่ละอย่างที่สติกำลังระลึก เป็นธรรมทั้งนั้น


    Tag  ทศพร  
    หมายเลข 8443
    23 ส.ค. 2567