เพื่อรู้....ไม่ใช่เพื่อเรา
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่า สัมมัปปธานเกิดตอนที่มีสัมมาสติ หมายความว่าต้องเป็นตอนที่เป็นสติปัฏฐาน หรือวิปัสสนาญาณใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ กิจทั้ง ๔ แล้วก็ค่อยๆ สมบูรณ์ขึ้น
ผู้ฟัง แต่ถ้าเป็นไปในทาน ศีล ไม่เรียกว่า สัมมัปปธาน
ท่านอาจารย์ เป็นอย่างๆ ไม่เป็นสัมมัปปธาน
ผู้ฟัง จะเป็นสัมมัปปธาน ก็ต่อเมื่อพร้อมกันทั้ง ๔ อย่าง
ท่านอาจารย์ ทำกิจ ๔ อย่าง
ผู้ฟัง อย่างเราเป็นปุถุชน วันๆ จิตเราเดี๋ยวก็เป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง แต่พอมีสติก็นึกได้ว่า เมื่อกี้เราโลภะ โทสะ มานะ อิสสา ตามปกติพอมีสตินึกได้ ก็จะตรึกไปในสภาพธรรมขณะนั้น อย่างเช่น แข็ง ร้อน ตึง ไหวที่ปรากฏ ตอนนั้นก็รู้ว่า รู้ด้วยกายวิญญาณหรือโสตวิญญาณ หรือจักษุวิญญาณ คือรู้ว่าไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่หนูก็ไม่แน่ใจว่า ที่ตรึกไปด้วยปสาทแบบนี้ ด้วยจักขุวิญญาณ กายวิญญาณแบบนี้บ่อยๆ เนืองๆ จะทำให้เนิ่นช้าหรือเปล่าคะ
ท่านอาจารย์ ขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิดก็ผ่านไป ไม่อย่างนั้นก็เป็นตัวเรานั่งคิดโน่นคิดนี่ต่อไปอีก และถ้ามีเหตุพอที่สติปัฏฐานจะเกิด ขณะนั้นสติปัฏฐานก็เกิดได้
ข้อสำคัญที่สุดก็คือให้ทราบว่า เรื่องที่เราเข้าใจธรรมจากการศึกษาไม่พอที่จะละความเห็นผิด ในเมื่อสภาพธรรมมีจริงๆ และเรายังไม่รู้จักลักษณะของสภาพธรรม จะชื่อว่า เรารู้จักธรรมไม่ได้ เราเพียงรู้จักเรื่องราวเพื่อที่จะเป็นปัจจัยให้ค่อยๆ มีสติปัฏฐานเกิด เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเข้าใจเรื่องธรรมเลย สติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้
ผู้ฟัง แต่วันๆ จิตเราก็มักจะตกไปในอกุศล ถ้าเราจะพิจารณาเพื่อให้เป็นเครื่องอยู่ เพื่อไม่ให้อกุศลเกิดมากเกินไป
ท่านอาจารย์ เรื่องจะเตรียมที่อยู่
ผู้ฟัง ก็เป็นเรื่องเจตนา
ท่านอาจารย์ คือเรื่องเรา จะทำให้คิดอย่างโน้นคิดอย่างนี้ ทำอย่างโน้นอย่างนี้เพื่อเรา คิดลงไปก็คือเพื่อเรา แต่ไม่ใช่เพื่อรู้ว่า ไม่ใช่เรา ถ้าเราสบายๆ เราจะไปทำอะไรกับกิเลส ใครจะไปฆ่ากิเลส ใครจะไปตีกิเลส ได้ไหมคะ เข้าใจได้ หนทางเดียวก็คือเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เป็นธรรม คือ เราจะต้องไปกลับหาข้อความตอนแรกที่เราเข้าใจให้มั่นคงขึ้น คือ เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ก็จะค่อยๆ เบาสบาย แล้วการศึกษาธรรมจริงๆ เป็นความรู้สึกที่อาจหาญร่าเริง เพราะเป็นสิ่งที่เราพร้อมสละความเป็นเราหรือยัง ที่เราอยาก อยากให้มีสติมากๆ อยากให้สภาพธรรมปรากฏ อยากให้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม พร้อมที่จะไม่มีเราหรือยัง ไม่มีเลยสักอย่าง
ผู้ฟัง อย่างพอเรามีสติรู้ตัวว่า จิตเราเป็นอกุศลแล้ว แล้วเราก็ตรึกไปในหัวข้อธรรม พิจารณาหัวข้อธรรมเพื่อต้องการให้กุศลจิตเกิด อันนี้นึกดูว่า เหมือนกับจะเป็นกุศล แต่จริงๆ มันก็หลอกลวงใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ถ้าขณะนั้นคุณกานตาไม่ทราบว่าเป็นธรรม ไม่ใช่คุณกานตา ก็ยังคงเป็นตัวพยายามอยู่นั่นแหละ เพื่อตัวอีกนั่นแหละ
เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่แม้แต่หนทางในอริยสัจ ๔ ลึกซึ้งทั้ง ๔ ค่ะ ไม่มีใครบอกว่า สติปัฏฐาน ๔ หรือมรรคมีองค์ ๘ เป็นเรื่องง่ายๆ แต่เป็นเรื่องละเอียดรอบคอบ เป็นเรื่องจริงที่จะต้องเข้าใจตรงว่า ขณะนั้นมีอะไรแฝงอยู่หรือเปล่า ตราบใดที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน เราก็ให้โลภะจางไปไม่ได้เลย ไม่มีทางจะจางเลยค่ะ