ต่างคนต่างใจ
ผู้ฟัง หนูรู้จักคนๆ หนึ่ง เขาเกิดเสียชีวิตกะทันหัน แต่เรารู้จักเขาเพียงผิวเผิน เกิดความรู้สึกสงสารว่า ไม่น่าเป็นไปอย่างนั้น กับอีกคนหนึ่งที่เขาก็พอรู้จัก แต่เขาบอกว่า พอได้ฟังแล้วเขาเฉยๆ ทำไม ๒ คนนี้ถึงเกิดความรู้สึกไม่เหมือนกัน
ท่านอาจารย์ ที่จริงธรรมเป็นเรื่องจะแจ่มแจ้งกับผู้ที่ไตร่ตรองด้วยตัวเอง ได้ยินได้ฟังนิดเดียว แต่ถ้าเราคิดพิจารณามากๆ เราจะเข้าใจด้วยตัวของเราเองว่า ถ้าเรามีพี่น้องหลายคนแล้วไม่เหมือนกันเลย มีเพื่อนหลายคนแล้วไม่เหมือนกันเลย ทุกคนที่นั่งที่นี่แล้วก็คิดไม่เหมือนกันเลย ก็เป็นของธรรมดาว่า ต่างคนต่างใจตามการสะสม ถ้าคนไหนที่โกรธบ่อยๆ เขาต้องเป็นคนขี้โมโห เจ้าโทสะ ถ้าคนไหนที่เห็นใครก็มีเมตตา ช่วยเหลือสงเคราะห์ ทนไม่ได้ที่จะไม่ช่วยเหลือคนอื่น ก็เพราะเขาสั่งสมมาทีละเล็กทีละน้อยจนกระทั่งเป็นอุปนิสัย คือ เป็นสิ่งที่มีกำลังที่ทำให้เป็นอย่างนั้น คิดอย่างนั้นในขณะนั้น
ผู้ฟัง คนที่รู้สึกเฉยๆ นี่
ท่านอาจารย์ เขาก็สะสมความเฉยๆ คนที่ตื่นเต้น ก็สะสมความตื่นเต้น คนที่สงสารก็สะสมความสงสาร ไม่วิจารณ์ เพราะว่าแน่นอนที่สุดคือการสั่งสม
ดอกไม้ ๒ ดอกนี่เหมือนกันไหมคะ
ผู้ฟัง ไม่เหมือนกัน
ท่านอาจารย์ ทั้งๆ ที่อาจจะสีเดียวกัน ยังไม่เหมือนกัน ลองนับกลีบดู แล้วก็ลองดูสีที่ต่างกัน แค่นี้ยังต่าง และใจมนุษย์จะสักแค่ไหน ต้นไม้ดอกไม้ไม่มีจิตเลย อาศัยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมที่ปรุงแต่งอย่างละเอียดทำให้สีต่างกัน กลีบต่างกัน ดอกต่างกัน ผลต่างกัน รสต่างกัน
นี่เพียงแค่อาศัยธาตุ ๔ ธาตุ ซึ่งเป็นรูปธาตุ แต่นามธาตุหลากหลายกว่านั้นมากมายเหลือเกิน และจะให้เหมือนกันได้อย่างไรคะ แม้แต่ความคิดของเราเองวันหนึ่งผิดจากวันก่อนไหม แค่เราคนเดียว แล้วคนอื่นจะให้มาเหมือนกันได้อย่างไร
ผู้ฟัง เฉยๆ นี่เขาจะรู้ธรรมมากกว่าคนที่รู้สึกเสียดาย เสียใจ สงสารไหมคะ
ท่านอาจารย์ ถ้ารู้ว่า ธรรมคืออะไร และเรารู้ เราถึงจะรู้ว่า เขารู้หรือเปล่า แต่ถ้าเรายังไม่รู้ว่า ธรรมคืออะไร แล้วเราจะไปคิดว่า เขารู้ธรรม ก็ไม่ถูกต้อง เพราะเราไม่รู้ว่า ธรรมคืออะไร ต่อเมื่อใดเรารู้ เราถึงจะรู้ว่า เขารู้หรือไม่รู้