เงี่ยโสตลงฟัง
ผู้ฟัง อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงตัดแล้วซึ่งกิเลส สละความโลภ โกรธ หลง
ท่านอาจารย์ ทำไมถึงสละได้ มีอะไรทำให้สละได้
ผู้ฟัง หนูไม่เข้าใจค่ะ
ท่านอาจารย์ อยู่ดีๆ สละไม่ได้ค่ะ ต้องมีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว ไม่มีทางเลยที่จะดับกิเลสได้ แม้แต่เราจะเรียกว่าพระพุทธเจ้า หรือใครก็ตามแต่ ต้องด้วยปัญญา ปัญญาเท่านั้นถึงจะละกิเลสได้
ผู้ฟัง แล้วปัญญาจะเกิดขึ้นได้อย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ ปัญญาคืออะไรก่อน ทุกอย่างต้องตั้งต้นว่าคืออะไร ถ้าเราไม่รู้จักสิ่งนั้น แล้วเราไปพูดมากมายเรื่องสิ่งนั้น เราก็ยังไม่รู้จักอยู่ดี เพราะฉะนั้นต้องทราบว่า ปัญญาคืออะไร ถ้าเรารู้ว่า ปัญญาคืออะไร เราถึงจะรู้ว่า จะเกิดขึ้นได้อย่างไร
ผู้ฟัง ให้อาจารย์ช่วยอธิบายให้ฟังค่ะ
ท่านอาจารย์ ปัญญา คือ ความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆ
ผู้ฟัง แล้ววิธีให้เกิดปัญญา
ท่านอาจารย์ ใครเป็นคนที่เห็นถูกต้องตามความเป็นจริงก่อน มีไหมคะ คนที่เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง มีไหมคะ
ผู้ฟัง ต้องใช้เหตุผล
ท่านอาจารย์ มิได้ค่ะ ใครที่เราพอจะบอกได้ไหมว่า เป็นผู้ที่เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง
ผู้ฟัง พระพุทธเจ้า
ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงแล้วทรงสอน คือ ทรงแสดงเหตุผลให้เราได้ฟัง เพราะฉะนั้นปัญญาจะเกิดได้ก็เมื่อได้ฟังพระธรรม ฟังคนอื่นอย่างไรก็ไม่เกิดปัญญา
แต่วันนี้มีปัจจัยให้ได้ยินเสียงเรื่องธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วทรงแสดง ก็ต้องมีเหตุ คือ กุศลในอดีตที่ได้ทำแล้ว ส่วนการที่จะมีศรัทธา หรือมีปัญญา มีความเข้าใจมากน้อยเท่าไร แต่ละคนจะไม่เท่ากัน เพราะว่าแม้พระองค์เองทรงแสดงพระธรรม ผู้ฟังยังไม่เท่ากันในด้านปัญญา บางคนเป็นพระอรหันต์ บางคนเป็นพระโสดาบัน บางคนก็ไม่เป็นอะไรเลย แต่เริ่มมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ คือ ไม่พึ่งอื่น แต่พึ่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่เป็นพระอริยสงฆ์
เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่อยู่ดีๆ มาแล้วก็ได้ฟัง แต่ทุกขณะต้องมีเหตุมีปัจจัยทั้งนั้น เพราะฉะนั้นก็ต้องฟัง เพราะว่าสาวก หรือสาวโก คือ ผู้ฟัง ผู้ฟังไม่ใช่ผู้ได้ยิน ได้ยินแล้วผ่านไปเลย แต่ผู้ฟัง ฟังจริงๆ จะเห็นได้ว่า แม้ว่าใครจะพูดหรือใครจะคุย เราก็รู้สึกว่า ไม่น่าที่เขาจะละโอกาสที่จะได้ฟังเลย เพราะว่าบางคนเหมือนกับไปฟังธรรม แต่ความจริงไม่ได้ฟัง พอฟังนิดหนึ่ง ก็ตรงนี้ว่าอย่างไร ก็ทำไมไม่ฟังต่อไป ระหว่างที่ว่าตรงนี้ว่าอย่างไร เขาก็ขาดการที่จะได้ฟังคำอธิบายไปแล้ว ใช่ไหมคะ
เพราะฉะนั้นผู้ฟังจริงๆ อย่างที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เตือนแล้วเพื่อจะให้ได้ฟังสิ่งที่จะตรัสต่อไป จงเงี่ยโสตลงสดับ ต้องมีความตั้งใจที่จะฟัง และข้อความในอรรถกถาก็ยังมีความไพเราะว่า เหมือนกับกล่องหรือหลอดทองที่เล็กมาก แล้วก็หยอดน้ำมันราชสีห์ลงไปในหลอดทองนั้น นี่คือความที่จะเราจะต้องตั้งใจเงี่ยโสตฟังจริงๆ เพื่อที่จะเข้าใจ
เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า ยิ่งเห็นคุณค่าของพระธรรมมากเท่าไร การฟังธรรมด้วยความเคารพ คือ ตั้งใจฟัง ถ้าเห็นใครทำอย่างอื่น ก็แสดงว่า คนนั้นไม่ได้เห็นคุณค่าหรือไม่ได้ตั้งใจจริงๆ แต่ถ้าตั้งใจจริงๆ ฟังจริงๆ พิจารณาจริงๆ จะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดงเป็นเรื่องสัจธรรม ความจริง ถ้าไม่ฟัง คิดเอง ไม่มีทาง เพราะว่าใครจะคิดเองได้ เมื่อถ้าไม่ใช่ผู้ที่ตรัสรู้ ต้องอดทน ต้องมีวิริยะ ความพากเพียรในการฟัง ปกติชอบฟังหรือเปล่าคะ
ผู้ฟัง พอฟังได้ค่ะ
ท่านอาจารย์ แต่ยังไม่มีศรัทธามากพอที่จะฟังอย่างตั้งใจแล้วเห็นคุณค่าใช่ไหมคะ ถ้ามีก็ฟัง
ผู้ฟัง วันนี้จะมาลองฟังดูค่ะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ แต่ทีนี้เข้าใจเรื่องวิธีฟังแล้วใช่ไหมคะ เพราะว่าปัญญาจะเกิดไม่ได้เลยถ้าเพียงได้ยิน เพราะพอพูดถึงเรื่องปัญญา อยากมีมากๆ แล้ว นี่ไม่ถูกเลยค่ะ มีมากไม่ได้ ถ้าไม่เข้าใจ
เพราะฉะนั้นตัวปัญญาจริงๆ เราใช้คำในภาษาไทยผิวเผินมาก เราพูดถึงปัญญาเหมือนเราเข้าใจว่า ปัญญาคืออะไร แต่คำว่า “ปัญญา” ไม่ใช่ภาษาไทยนะคะ เป็นภาษาบาลี และคำว่าเข้าใจในภาษาบาลีก็ไม่มี เพราะเหตุว่าเป็นภาษาไทย แต่ลองคิดดูว่า ที่ใช้คำว่า “ปัญญา” ต้องเริ่มจากคำว่า เข้าใจ ปัญญาก็คือเข้าใจถูก เห็นถูกในภาษาของเรา เวลาที่เราเข้าใจแล้ว เราก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น ถ้าเป็นภาษาบาลี ปัญญาก็ค่อยๆ เจริญขึ้น แต่ปัญญาไม่ได้หมายความว่า ไม่เข้าใจ
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เราต้องคิดถึงอรรถหรือตัวจริงของปัญญาว่า ปัญญา คือ เข้าใจ เพราะว่าปัญญาไม่ใช่ว่า จะมีมากๆ โดยเข้าใจ เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ว่า ความเข้าใจที่ถูก คือ ปัญญา ซึ่งต้องอาศัยการฟัง จะมากหรือน้อยอยู่ที่ไหนคะ ฟังมากหรือฟังน้อย ฟังมากหรือฟังน้อย ยังอยู่ที่ไหนอีก อยู่ที่ฟังแล้วเข้าใจมากหรือเข้าใจน้อย
เพราะฉะนั้นไม่ใช่มีวิธีการที่จะไปให้ปัญญาเกิดมากๆ แต่ต้องรู้ว่า เมื่อเป็นความเข้าใจแล้วก็จะต้องอาศัยการฟัง การไตร่ตรอง และการเข้าใจขึ้น ไม่มีวิธีอื่น หรือยังมีคะ
ผู้ฟัง ไม่มีค่ะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ อันนั้นก็เป็นความเห็นถูกค่ะ