วิปัสสนาคืออะไร ๓


    พระคุณเจ้า เนื้อหาตามหลักสูตรเกี่ยวกับเรื่องปัญญาหรือวิปัสสนา ที่ได้ยินมาเห็นบอกว่ามีอยู่ ๓ ระดับขั้น คือ สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการฟัง เช่นฟังอาจารย์พูด จินตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการคิดนึกคำพูดที่อาจารย์พูด บอกว่าทั้ง ๒ อย่างนี้ยังไม่สามารถจะรู้เห็นธรรมในระดับละเอียดได้ เพราะเป็นปัญญาแบบตรรกศาสตร์ เป็นปัญญาที่เราเรียนในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัยโดยทั่วไป ถ้าเราอยากจะรู้ธรรมในระดับที่ลึกลงไปภายในใจเอง ต้องเป็นปัญญาที่เกิดจากการภาวนา คือ การจ้อง การมอง การเข้าไปศึกษาอย่างละเอียด

    ท่านอาจารย์ ภาวนาไม่ได้หมายความถึงการจ้อง การมอง แล้ว ๓ ระดับนี้ต้องอาศัยกัน ถ้าไม่มีการศึกษาขั้นฟัง จะเอาอะไรมาพิจารณา จะเอาอะไรมาเข้าใจ แล้วถ้าไม่มีการฟัง การพิจารณา จะเอาปัญญาที่ไหนมารู้ความจริงของสภาพธรรม

    พระคุณเจ้า ทีนี้ปัญญาที่จะดับกิเลสได้คงจะไม่พอ นี่ความคิดเห็นส่วนตัว แค่สุตตะ แค่จินตา คงไม่พอ สุตตะ จินตาพัฒนากลายเป็นภาวนาปัญญา

    ท่านอาจารย์ ใครภาวนาเจ้าคะขณะนั้น

    พระคุณเจ้า ก็ต้องเป็นตัวเรา

    ท่านอาจารย์ เป็นตัวเราก็เอาตัวเราออกไม่ได้ ไม่มีปัญญาที่จะเห็นธรรมระดับต้นว่าเป็นอนัตตา

    พระคุณเจ้า ตรงนี้ขอแย้งอาจารย์นิดหนึ่ง แย้งด้วยศรัทธา อาจารย์อาจจะแยกคำพูดมากไป คือ ตีความหมายทางคำพูด ทางภาษามากไป คืออยากจะเอาแบบเนื้อหาจริงๆ เลย ไม่ต้องไปแยกว่า เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อันนั้นเป็นภาษา เป็นการให้ความหมายทางถ้อยคำ ทีนี้อาตมาพูดว่า เราเป็นผู้เจริญ อาจารย์ไปตีว่า เราไม่ได้ เราไม่เห็น คือ อันนั้นก็เข้าใจแล้ว แต่ในทีนี้ก็ต้องพูดว่า เรา ก็ต้องเรา จะเป็นคนอื่นได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ มรรคมีองค์ ๘ เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว อบรมเจริญไม่ได้ และองค์อื่นก็จะเป็นสัมมามรรคไม่ได้

    พระคุณเจ้า อย่างที่เราเรียน เรียนสุตตะ จินตะ แล้วเราที่เรียนไปปฏิบัติเลย เอาอันนั้นมาปฏิบัติ ปฏิบัติให้เป็นปัจจุบันธรรม ขณะนั้นจะเรียกว่า เป็นภาวนาปัญญาได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าตราบใดไม่รู้ว่า ขณะใดสติเกิด ขณะใดหลงลืมสติ ขณะนั้นก็อบรมเจริญปัญญาไม่ได้ เพราะว่าเป็นเราทำ

    พระคุณเจ้า นั่นคือรายละเอียดในภาวนามยปัญญา

    ท่านอาจารย์ มิได้เจ้าค่ะ คือ ผู้ที่จะอบรมเจริญภาวนาไม่ได้หมายความว่าต้องไปสำนัก ไปนั่ง ไปจ้อง ภาวนา คือ การอบรมปัญญา ตั้งแต่ฟังเดี๋ยวนี้ นี่คือขั้นต้น นี่คือกำลังภาวนาอยู่ คือ กำลังอบรมที่จะให้ปัญญาเกิดตามระดับขั้น เพราะเหตุว่าถ้าขั้นต้นฟังไม่เข้าใจ แล้วจะไปประจักษ์ว่า ขณะนี้เป็นนามธรรมกำลังดับ ไม่ใช่เรา เป็นไปไม่ได้เลย

    เป็นเรื่องของความเข้าใจ ถ้าเราตัดคำว่า ปัญญาในภาษาบาลี แล้วมาใช้คำภาษาไทยว่า เข้าใจ เราจะรู้เลยว่า เราเข้าใจหรือเปล่า เราไปนั่งอย่างนั้น เราเข้าใจอะไรหรือเปล่า กำลังเห็นขณะนี้ เราเข้าใจเห็นหรือเปล่า เราเข้าใจลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมหรือเปล่า ในเมื่อกำลังไปนั่งทำ ปัญญาไม่เกิด

    พระคุณเจ้า แต่ว่าฟัง คล้ายๆ ยังไม่จุใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้าอ่านประวัติของพุทธสาวก อดีตชาติแสนกัปมาแล้ว ทั้งนั้นเลย และเวลาที่มีข้อความในพระไตรปิฎกว่า บุคคลนี้ได้บรรพชาอุปสมบท ในเวลาไม่นานก็ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม มีข้อความอธิบายว่า ในเวลาไม่นาน ๑๐ ปี ๑๖ ปี ๒๐ ปี ๖๐ ปี แล้วเราจะทำอะไรกับการที่เราฟังวันนี้ แล้วเราจะไปปฏิบัติ

    พระคุณเจ้า ทีนี้มีปัญหาตรงนี้ คืออย่างที่อ่านมา อย่างที่ฟังมา อย่างที่อาจารย์ว่า มันเข้าใจหมดแล้ว ถามตัวเองว่า แล้วหมดกิเลสหรือยัง ตอบเลยว่า ยังไม่หมด

    ท่านอาจารย์ มิได้เจ้าค่ะ เข้าใจไม่หมด ไม่ใช่เข้าใจหมด

    พระคุณเจ้า ถ้าเราทำให้เข้าใจหมด เราจะต้องพัฒนาปัญญาระดับไหนอีก

    ท่านอาจารย์ ต้องฟังกว่าจะเห็นจริงๆ ว่า เป็นอนัตตา

    พระคุณเจ้า บัดนี้ก็เห็นแล้ว

    ท่านอาจารย์ ยังค่ะ กำลังฟังเรื่องนิดเดียว

    พระคุณเจ้า ก็ทั่วโลก ทั่วจักรวาล อาตมามองเห็นจนขนาดว่า

    ท่านอาจารย์ นี่ไม่ได้มองเห็น อันนี้ฟังชื่อแล้วเข้าใจความหมายว่า อนัตตาหมายความว่าอย่างนี้

    พระคุณเจ้า ตอนนี้เป็นความเข้าใจ ณ ระดับหนึ่งใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ยังไม่พอเลย

    พระคุณเจ้า เพราะเหตนี้อาตมาคิดว่า ยังไม่พอนี่แหละ ก็เลยอยากจะสร้างปัญญาอย่างกระชั้นชิด ให้มันสว่างไสว

    ท่านอาจารย์ นี่คือจุดที่คนจะไปผิด นี่เป็นจุดหันเหที่ทำให้เกิดมิจฉามรรค เพราะเหตุว่าในพระไตรปิฎกไม่ได้มีแต่สัมมามรรค มิจฉามรรคก็มี เหมือนกับมรรคทุกอย่าง ๘ องค์เหมือนกัน แต่เริ่มต้นด้วยมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด มิจฉาสังกัปปะ มิจฉากัมมันตะ มิจฉาวาจา มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสมาธิ มิจฉาสติ เหมือนกันทุกประการ แต่เป็นมิจฉาหมด ทำไมทรงแสดงไว้ครบ ๘ แต่ว่าเป็นมิจฉา

    เพราะฉะนั้นผู้ฟังต้องละเอียดจริงๆ ไม่ได้ต้องการอะไร แต่ขณะนี้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมระดับฟัง หรือระดับที่สติอีกขั้นหนึ่ง พอพูดถึงสติ แม้แต่การฟังต้องเข้าใจว่า ในขณะที่ฟังสติเกิด แต่เราไม่เคยรู้ เหมือนอย่างเวลาที่เราทำความดี เราไม่ได้รู้เลยว่า ขณะนั้นมีสภาพธรรมที่ดี ที่ใช้คำว่า เจตสิก อย่างน้อยที่สุดเจตสิกฝ่ายดี ๑๙ ชนิด มีทั้งศรัทธา มีทั้งหิริ มีทั้งโอตตัปปะ มีทั้งอโลภะ มีทั้งอโทสะ แต่เราไม่รู้ เพราะว่าสภาพธรรมเขาเกิดขึ้นทำกิจการงานของเขา แต่ว่าสภาพธรรมปรากฏทีละอย่าง เพราะว่าจิตเกิดขึ้นทีละขณะ ก็จะต้องรู้อารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏให้รู้ทีละ ๑ เท่านั้น

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราคิดว่า เราเห็นความเป็นอนัตตา บอกปุ๊บ เราเข้าใจเลยว่า เป็นอนัตตาหมด

    พระคุณเจ้า ปัญหาอยู่ที่ว่า แล้วจะรู้อย่างไรถึงจะเห็นความเป็นอนัตตา

    ท่านอาจารย์ ตราบใดที่มีคำถามอันนี้ หมายความว่าโลภะกำลังทำกิจของโลภะว่า จะรู้อย่างไร แต่ถ้าปัญญาทำกิจของปัญญา คือ ขณะนี้เข้าใจแค่ไหน แล้วก็จะต้องเข้าใจอีก ฟังมากขึ้นอีก จนกว่าสติจากการฟังเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติปัฏฐานเกิด เพราะเหตุว่าสติมีหลายขั้นที่กำลังจะกล่าวถึงเมื่อกี้นี้ว่า กำลังฟังก็ต้องมีสติ กำลังให้ทานก็ต้องมีสติ คือเราคิดว่าเป็นเราให้ แต่ความจริงสติระลึกเป็นไปในทาน จึงมีการให้ทานเกิดขึ้น ขณะที่วิรัติทุจริตไม่ฆ่า ขณะที่คิดจะฆ่าแล้วไม่ฆ่า จะพูดไม่จริง หยุดพูดไม่จริง ขณะนั้นเพราะสติระลึกเกิดขึ้นที่จะไม่พูดสิ่งที่ไม่จริง

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นเจตสิกที่ดี ที่เกิดขึ้นขณะนั้นทำกิจในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้นสติขั้นฟัง ขั้นฟังเรื่องราว ต้องฟังจนกว่าจะรู้ว่า ที่มีสติระดับนี้ระดับเดียว สัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ เป็นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เพียงฟังเรื่อง แต่เมื่อเข้าใจเรื่องจิต เจตสิก รูป สภาพธรรมเป็นอนัตตาหมดแล้ว เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้มีการระลึกทันที ขณะนี้กำลังแข็งปรากฏ ตั้งแต่เช้ามา แข็งปรากฏบ่อยเหลือเกิน จับช้อนก็แข็ง หยิบแปรงสีฟันก็แข็ง หยิบหวีก็แข็ง แต่สติปัฏฐานไม่เกิด แม้แต่สติที่เป็นกุศลก็ไม่เกิด แต่ถ้าสติปัฏฐานเกิด ลักษณะที่แข็งปรากฏกับสติที่กำลังระลึกที่จะรู้ว่า ขณะนั้นมีสภาพที่รู้แข็ง ซึ่งแต่ก่อนนี้เป็นเรา แต่เดี๋ยวนี้กำลังรู้ว่า ลักษณะรู้เป็นอย่างนี้ อาการที่กำลังรู้เป็นอย่างนี้ และลักษณะที่แข็งก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

    นี่คือรู้ความต่างกันขณะที่สติเกิดกับหลงลืมสติ

    นี่คือการอบรมเจริญภาวนาซึ่งทำให้ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรม และรูปธรรม แต่ไม่ใช่ไปสำนัก ไม่ใช่นั่งจ้องหรือทำอะไร แต่เป็นการที่รู้ความต่างกันของขณะที่สติเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ เพราะเหตุว่าใครจะบังคับให้สติปัฏฐานเกิดไม่ได้ เหมือนกับถ้าเสียงไม่กระทบหู ใครจะบังคับให้ได้ยินเกิดก็ไม่ได้ สำหรับคนที่ไม่มีโสตปสาท หูหนวกไปแล้ว ต่อให้มีเสียง ใครจะไปบังคับให้จิตได้ยินก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานเป็นสติระดับหนึ่ง ใครจะไปจงใจ ไปที่ไหน ตั้งใจทำอย่างไรที่จะให้สติปัฏฐานเกิด สติปัฏฐานก็ไม่เกิด เพราะเหตุว่าสติปัฏฐานเป็นอนัตตา จะเกิดก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจจริงๆ ในหนทางซึ่งเป็นสัจญาณ

    เพราะฉะนั้นทรงแสดงธรรมไว้ละเอียดมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการอบรมเจริญภาวนาว่า จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อเข้าใจในญาณ ๓ รอบ คือ สัจญาณ กิจญาณ และกตญาณ ถ้าไม่มีปัญญา ไปเอาคนที่ไม่มีปัญญามานั่งจ้องให้ประจักษ์การเกิดดับของนามรูป เป็นไปไม่ได้เลย หรือบอกเขาว่า มีนามมีรูปเป็นอนัตตา แล้วให้ไปนั่งดูนามดูรูป ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าไม่ใช่เป็นการเข้าใจสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งละเอียดยิบตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าสติจะเกิดหรือสติไม่เกิด ก็ต้องรู้ว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง เป็นการทวนกระแสของโลภะเจ้าค่ะ

    เพราะฉะนั้นความยากของพระธรรมอยู่ที่ว่า สัตว์โลกคุ้นเคยกับความติดข้องต้องการ ต้องการทุกอย่าง รูปก็ต้องการ เสียงก็ต้องการ กลิ่นก็ต้องการ รสก็ต้องการ สัมผัสดีๆ ก็ต้องการ กุศลก็ต้องการ อยากได้บุญมากๆ

    นี่คือความเป็นไปของโลก คือ มีความติดข้อง แต่พระพุทธศาสนาชี้เลย โลภะหรือความติดข้องเป็นสมุทัย เป็นบ่อเกิด เป็นที่ตั้งของทุกข์ทั้งปวง

    เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจเลยว่า ทวนกระแสของความต้องการ ซึ่งคอยมาในชีวิตประจำวันโดยตลอด ถ้าเป็นไปกับโลภะก็ไม่มีทางเจ้าค่ะ


    หมายเลข 8502
    23 ส.ค. 2567