ตั้งใจ ไม่ใช่อยาก
ผู้ฟัง ถ้าความเข้าใจในขั้นการฟังเริ่มเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แม้ที่ท่านอาจารย์เคยพูดว่า แม้ขณะที่ให้ทาน ก็เป็นเพียงแต่จิตเกิดขึ้นที่คิดในทาน ความเข้าใจขั้นการฟังก็เข้าใจอย่างที่ท่านอาจารย์ว่าเป็นอย่างนี้ แต่สติก็ยังไม่เกิด พอให้ทานทีไร ก็ยังเป็นเราให้ทุกที
ท่านอาจารย์ แสดงว่าหวังให้เกิดสติ ไม่เกิดก็คือไม่เกิด เกิดก็คือเกิด สบายดีไหมคะอย่างนี้ เพราะเรื่องละความหวัง ขอให้ทราบว่า ถ้ายังไม่เริ่ม ไม่มีทางถึงค่ะ แม้เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ก็ต้องละ การรู้แจ้งอริยสัจธรรม รู้ด้วยการละ ต้องละสมุทัยจึงจะแจ้งนิโรธ ไม่ใช่เต็มไปด้วยความต้องการ แล้วจะไปประจักษ์ลักษณะของพระนิพพานได้ และการละนี่ ละแสนยาก ถ้าไม่เริ่มละไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย ละสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น อย่างเวลานี้ปรากฏให้เห็นว่า มีความต้องการ แต่ก่อนนี้ต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทรัพย์สินเงินทอง ลาภ ยศ พอฟังธรรมก็ต้องการผลแล้ว ต้องการอันนี้แล้ว ไม่ต้องการอันโน้นแล้ว ก็ยังคงเป็นความต้องการอยู่ ทำไมเราไม่คิดว่า ปัญญาเป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เรื่องเรา เราทำปัญญานี่ทำได้หรือ ถ้าอย่างนั้นเราก็ทำได้ยินได้ ทำเห็นได้ ทำทุกอย่างได้ แต่ทุกอย่างที่จะเกิดต้องมีเหตุปัจจัย
เพราะฉะนั้นปัญญา คือ ความเข้าใจ เราก็เป็นผู้ตรงว่า เราเข้าใจแค่นี้คือแค่นี้ ฟังอีกก็เข้าใจอีก เวลาที่สติเกิดก็มีความรู้ในขณะที่สติเกิดว่า นี่เป็นสติที่ระลึก ไม่ใช่เรา อย่างนี้คือสัมมามรรค ไม่ใช่ไปหวังรอ แล้วเมื่อไรปัญญาจะเกิด แล้วเมื่อไรมรรคจะเกิด แล้วเมื่อไรสติจะเกิด ฟังมา ๑๐ ปี ๒๐ ปี นั่งนับไป แล้วเมื่อไรอีก ถ้ามี แล้วเมื่อไรอีก ก็แปลว่ายังไม่พ้นโลภะ
ผู้ฟัง ฟังท่านอาจารย์แล้ว ก็ยังคิดอีกว่า รู้ว่ากุศลจิต กุศลกรรมเป็นสิ่งที่ดีที่งาม สิ่งที่ควรกระทำ ส่งเสริม หรือสะสมให้มากยิ่งขึ้น การคิดอย่างนี้ ก็เป็นลักษณะหนึ่งของการติดข้องแล้ว ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ถ้าเราหวังว่า จะเอาอย่างอื่นมาทำให้เกิดอย่างนั้นขึ้น นั่นคือความติดข้อง แต่ถ้าเราทำทันที ไม่มีโลภะมากั้นเลย
ผู้ฟัง ถึงแม้ว่าจะทำสิ่งที่ดีให้ดียิ่งขึ้น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขอให้คิด ต้องการใส่บาตร อยากจะใส่บาตร กับใส่บาตร ขณะไหนเป็นกุศล แต่ตอนอยาก ทำไมไม่ทำ ได้แต่อยาก เพราะฉะนั้นเวลาที่เราทำ คือ มีความตั้งใจที่จะทำ ไม่ใช่อยากจะทำ แต่ตั้งใจ ความตั้งใจไม่ใช่ความอยาก ความตั้งใจนั้นเป็นกุศล ตั้งใจจะทำ แต่ใครก็ตามอยากทำ อยากทำบุญที่โน่น อยากทำอย่างนี้ที่นี่ อยากใส่บาตร ก็เรื่องอยากหมดเลย ทำไมถึงต้องอยากค่ะ ทำก็คือทำ กุศลจิตก็คือกุศลจิต ซึ่งมีความตั้งใจที่เป็นบุพพเจตนาได้ ไม่ใช่ความอยากค่ะ อย่างเราคิดจะอ่านพระไตรปิฎก เราก็ไปหาหนังสือมา แล้วเราก็มาอ่าน ถ้าเราอยากอยู่นั่นแล้ว ไม่เห็นได้อ่านสักที ก็นั่งอยาก
แสดงให้เห็นความต่างกันโดยละเอียดว่า อกุศลเข้ามาเมื่อไร ครอบงำเมื่อไรโดยไม่รู้ตัว
คนที่ไม่รู้จักโลภะ จะไม่รู้จักโลภะเลย ไม่รู้จักจริงๆ เขาอยู่กับตัวตั้งแต่เกิด แล้วแต่เขาต้องการอะไร หามาให้หมด ที่หามา หามาให้โลภะ ความติดข้อง แล้วจะพ้นจากเขาได้อย่างไร ถ้าปัญญาไม่เกิด ขอให้ทราบอย่างนี้ หนีไม่พ้นต้องมีปัญญา ไม่ใช่มัวนั่งอยากมีปัญญาอีกก็ไม่ได้ ถ้าอยากมีปัญญา ก็คือเขานั่นแหละ
ผู้ฟัง ทั้งๆ ที่รู้ว่า อยากมีปัญญาก็เป็นสิ่งที่ดี แต่
ท่านอาจารย์ ปัญญาเป็นสิ่งที่ดีงาม แต่อยากนั้นเป็นโลภะ เพราะว่าโลภะติดข้องแม้แต่กุศลได้
ผู้ฟัง ก็ต้องแยกให้ละเอียดลึกลงไปอีกว่า ในขณะที่คิดอยากจะทำสิ่งที่ดีที่งาม ขณะนั้นก็แน่นอนอยู่แล้ว
ท่านอาจารย์ แต่ตรงกันข้าม ตั้งใจทำดี ไม่ใช่อยาก ตั้งใจเป็นบุพพเจตนา
ผู้ฟัง ความเข้าใจขั้นการฟังก็ต้องพิจารณาตั้งแต่ตอนนี้เลย ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ละเอียด มาก ค่ะ ต้องฟังเพื่อละ
ผู้ฟัง คือไม่ใช่ฟังเข้าใจแล้วก็ไปทำเลย
ท่านอาจารย์ ทำหรือไม่ทำ ก็ขึ้นอยู่กับว่า เข้าใจหรือเปล่า ถ้าไม่เข้าใจก็ต้องทำผิด อยากอยู่นั่นแหละ
ผู้ฟัง กระผมยังมีความเห็นว่า ถ้าความเข้าใจขั้นการฟังสมบูรณ์แล้ว สภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูปก็จะปรุงแต่งทำหน้าที่ของเขาเอง
ท่านอาจารย์ จะไม่มีคำถามว่า ทำอย่างไร และเมื่อไรสติจะเกิด เมื่อไรปัญญาจะเกิดมากๆ จะไม่มีคำถามเหล่านี้เลย ถ้าใครถาม แสดงว่าขณะนั้นจิตเป็นอะไรยังไม่รู้เลยว่า เป็นโลภะแล้ว
ผู้ฟัง เราก็คงต้องฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ แล้วให้ความเข้าใจทำหน้าที่ปฏิบัติกิจความเข้าใจของเขาเอง
ท่านอาจารย์ และอย่าลืมว่า พระพุทธศาสนารู้แล้วละ ถ้าไม่ละเมื่อไร มาแล้วค่ะ ตัวโลภะ เร็วมาก พร้อมเสมอ มาทันที ไม่ต้องเรียก อยู่ใกล้ๆ คอยอยู่แล้ว
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ฟังกันมาตั้งแต่เช้าว่า ปัญญาในขั้นการฟัง ปัญญาในขั้นปฏิบัติพระธรรมก็คงมีลักษณะนี้ว่า ไม่ใช่เราเป็นผู้กระทำ เป็นสภาพธรรมที่
ท่านอาจารย์ ต้องฟังให้เข้าใจความหมายของคำว่า “อนัตตา” คำนี้จะไม่พ้นไปเลย เพราะว่าเป็นสัจธรรม