บางเบาจนไม่รู้
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดว่าให้ทำอย่างนั้นๆ เป็นเราทำ หรือเป็นสภาพธรรมครับ
ท่านอาจารย์ เวลาที่อ่านพระสูตร ถ้าอ่านไม่ดี จะเป็นตัวตนตลอด ทั้งๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา คำใดที่ตรัสแล้วไม่เปลี่ยน เปลี่ยนไม่ได้ ไม่เป็นสอง
เพราะฉะนั้นอนัตตาต้องเป็นอนัตตาทั้งพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม ถูกไหมคะ แต่เมื่อไม่เข้าใจจริงๆ อย่างนี้ เวลาที่ได้ยินพระธรรมที่ทรงแสดงว่า ละชั่ว ทำความดีให้ถึงพร้อม ชำระจิตให้บริสุทธิ์ ฟังเหมือนให้ทำ เหมือนสั่ง เหมือนบอก ใช่ไหมคะ ละชั่ว แต่ไม่ได้เข้าใจเลยว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมตามเหตุตามผล ตามความเป็นจริง เมื่อเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็ควรละ เป็นสิ่งที่ต้องละ แต่ไม่ได้บอกว่า จงละ หรือทำละ แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นสิ่งที่จะต้องละ และความดีก็เหมือนกัน เมื่อเป็นสิ่งที่ดีก็ควรอบรม ควรเจริญให้ถึงพร้อม แต่ไม่ใช่สั่ง แต่เป็นการแสดงพระธรรมตามเหตุตามผลทั้งหมด ซึ่งถ้าคนฟังไม่ดี หรืออ่านไม่ถูก จะมีโลภะ จะมีความเห็นผิด จะมีความเป็นตัวตนทำทันที นี่บอกให้ทำก็ทำ แต่ว่าจริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้นค่ะ เหมือนอย่างทาน ทานที่ประณีตก็ให้ผลอย่างหนึ่ง ทานที่ไม่ประณีตก็ต้องให้ผลตามขั้นของความเป็นทานที่ไม่ประณีต แต่พอฟังแล้วอยากทำทานที่ประณีต ไม่ได้เข้าใจเลยว่า แท้ที่จริงแล้วจะประณีตหรือไม่ประณีตตามเหตุตามปัจจัย แล้วผลที่จะเกิดก็เกิดตามเหตุตามปัจจัย แต่ความเป็นตัวเรา และความต้องการผล ทำให้ขวนขวายจะทำแต่ทานที่ประณีต
เหมือนอย่างที่มีคนถาม ที่วัดบวรก็มีน้ำดื่ม และน้ำที่ดื่มก็เหลือ เจ้าของน้ำก็ถามว่า จะถวายพระได้ไหม คล้ายๆ กับของเหลือแล้ว จะมีประโยชน์ หรือควรจะทำหรือไม่ควรทำ นี่ทำไม เพื่อตัวเองหรือเปล่า ต้องการผลอะไรที่ดี ประณีตหรือเปล่า ที่ว่าจะต้องถวายอย่างนี้ จะต้องไม่ถวายอย่างนั้น แต่ถ้าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ ไม่คำนึงว่าเราจะได้อะไร ไม่ได้อะไร แต่สิ่งนั้นเป็นประโยชน์ต่อพระภิกษุหรือเปล่า ถ้าเป็นประโยชน์แล้วควรถวายไหม เพื่อท่านก็ต้องถวายไป ไม่ใช่เพื่อเราจะคอยเอากุศลที่ประณีตหรืออะไรอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจพระธรรมจริงๆ ว่า ทั้งหมดแสดงตามเหตุตามผล ไม่ใช่ยุให้เราเกิดโลภะว่า จะต้องเอาให้ประณีตมากๆ หรืออะไรอย่างนั้น
ผู้ฟัง ฟังแล้วท่านอาจารย์ก็ไม่ให้ทำ
ท่านอาจารย์ ทำได้หรือเปล่า ตามความเป็นจริงทำได้หรือเปล่า
ผู้ฟัง มันเหมือนว่าเราทำได้
ท่านอาจารย์ นั่นเพราะไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “อนัตตา” ยังไม่หยั่งซึ้งลงไปว่า ทุกอย่างเป็นอนัตตา
ผู้ฟัง ความเข้าใจขั้นการฟังเรื่องการให้ทาน ก็ต้องเป็นความเข้าใจอีกระดับหนึ่ง หรือว่าปัญญาในขั้นการให้ทานก็ต้องมี เพราะฉะนั้นไม่ว่าในขั้นการฟังหรือการให้ทาน ก็ต้องมีความเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ในขณะนั้นเราให้ทานด้วยสภาพจิตที่หวังหรือไม่หวัง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นบารมีทั้งหมดจึงมีปัญญาเป็นหัวหน้า บารมีอื่นเป็นแต่เพียงบริวารของปัญญา
ผู้ฟัง ถ้าเราเข้าใจแค่นี้แล้ว ความเข้าใจของกระผมก็ลึกลงไปอีกว่า ปัญญาในขั้นการักษาศีลก็มีคล้ายๆ อย่างนั้น
ท่านอาจารย์ เหมือนกันค่ะ ไม่ใช่เพื่อหวังอะไรทั้งสิ้น
ผู้ฟัง แล้วปัญญาขั้นภาวนา ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา ก็เป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง
ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องละคลายความต้องการทั้งหมด
ผู้ฟัง ก็ต้องทำความเข้าใจตั้งแต่ต้นเลย
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการศึกษาพระพุทธศาสนาถึงเน้นแล้วเน้นอีกว่า เพื่อเข้าใจถูก
มีพระสูตรๆ หนึ่งที่แสดงว่า การฟังธรรมหรือการศึกษาธรรม ถ้าตั้งจิตไว้ผิด ก็เหมือนกับ ท่านใช้คำว่า เหมือนตั้งเดือยข้าวสาลี อาจเป็นส่วนที่แหลมหรือคมของเปลือก ถ้าตั้งไว้ดีก็ไม่สามารถบาดเท้า หรือสามารถเหยียบย่ำไปได้ เพราะว่าต้องเป็นเรื่องของการละอกุศล เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นเรื่องการทำลายอกุศล แต่ถ้าตั้งจิตไว้ไม่ดี พอกพูนอกุศล เต็มไปด้วยความต้องการ ความอยากได้ อยากถึงเมื่อไร ทำอย่างไร เป็นเรื่องของตัวตนทั้งหมด แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องละความไม่รู้ ละความเห็นผิด ละความต้องการ
หนทางที่จะถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ต้องเป็นเรื่องละตั้งแต่ต้นจนตลอด ถ้ามีเรื่องไม่ละมาเมื่อไร กั้นทันทีค่ะ เครื่องเนิ่นช้า
ผู้ฟัง ทำไมท่านอาจารย์ถึงว่า อกุศลเกิดมากกว่ากุศล อันนี้ยังสงสัย เพราะว่าเราไม่ได้เบียดเบียนใครเลย หรือคิดร้ายใครเลย
ท่านอาจารย์ เราไม่ได้ทำทุจริตกรรม แต่จะบอกว่า เราไม่มีอกุศลนี่ไม่ได้ เพราะว่าถ้าขณะใดกุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นเป็นอกุศล ถ้าเราไม่พูดถึงวิบาก และกิริยาจิต เราจะพูดถึงกุศลหรืออกุศล ขณะใดที่กุศลไม่เกิด ขณะนั้นอกุศลเกิด และเวลาที่ตื่นขึ้นมา คุณประทีปมีกุศลอะไรบ้าง
ผู้ฟัง ส่วนมากเฉยๆ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเฉยๆ นั้นเป็นอะไรคะ
ผู้ฟัง ก็เป็นอกุศล
ท่านอาจารย์ ก็เป็นแล้ว
ผู้ฟัง ถ้ากลับมาพิจารณาอีกว่า ถ้าขณะใดไม่เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ก็เป็นอกุศล แต่มันละเอียดมากครับ
ท่านอาจารย์ ก็ละเอียดซิคะ ถึงได้ว่ารู้ยากไงคะ
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวันเราก็มีแต่อกุศล
ท่านอาจารย์ ทำไมกลับไปคุณประทีปต้องอาบน้ำ ไม่เห็นเปื้อนเปรอะตรงไหนเลย แค่ล้างมือ ถ้าไม่ล้างเราก็ไม่เห็นมือเราเปื้อน แต่พอล้าง แล้วใช้สบู่ ยิ่งเห็นเลยว่า ทำไมมือก็ไม่มีหมึกหรืออะไร แต่ก็มีสิ่งดำๆ ออกมา ฝุ่นละอองธุลีของอกุศลตลอดวัน หนาแค่ไหนก็ไม่รู้ เพราะว่าเหมือนเดิมทุกวันๆ ไม่รู้เลยว่า มี แต่ความจริงมีค่ะ มีอย่างไม่รู้ ไม่ใช่มีอย่างรู้ ถ้ามีอย่างรู้ โลภะมากๆ โทสะมากๆ ก็รู้ แต่ถ้าจางลงไปกว่านั้นอีก จะรู้ไหมว่า ตื่นขึ้นมาก็ติดแล้ว ทางตาเห็น ติดแล้ว ทางหู ได้ยินก็ติดหมดเหมือนลิง ๕ ทาง ทั้งเท้าทั้งมือ ทั้งหาง ทั้งปากงับ หนีไม่พ้น
ผู้ฟัง นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวัน แล้วผมฟังท่านอาจารย์แล้ว แม้คำง่ายๆ ว่า ความโกรธห้ามไม่ได้ แต่ว่าอย่าเกลียด ท่านพูดไว้เท่านี้ โกรธกับเกลียดนี่คล้ายกันไหมครับ ลองขยายสักนิดครับ
ท่านอาจารย์ คุณประทีปเคยโกรธใครไหมคะ
ผู้ฟัง เคยครับ เคยบ่อย
ท่านอาจารย์ แล้วเกลียดคนที่โกรธหรือเปล่า
ผู้ฟัง เกลียดด้วยครับ
ท่านอาจารย์ โกรธโดยไม่เกลียดมีไหม
ผู้ฟัง มีครับ
ท่านอาจารย์ ก็เห็นความต่างของโกรธกับเกลียด
ผู้ฟัง แสดงว่าเกลียดนี่ยังจำไว้ตลอด เกลียดก็ต้องแรงกว่าโกรธ นึกขึ้นมาทีไรก็ยังต้องโกรธอยู่ดี
ท่านอาจารย์ อย่างคนในบ้านเขาทำผิด เราต้องโกรธแน่ๆ จะบอกว่าไม่โกรธ คนนั้นก็เป็นพระอนาคามี เพราะว่าโกรธ แม้แต่ความขุ่นใจนิดเดียว ไม่สบายใจเล็กที่สุด ก็ยังเป็นโทสะ แต่เราไม่ได้เกลียดเขา