สังฆทานคืออะไร


    ผู้ฟัง การถวายสังฆทานที่ถูกต้องควรจะทำอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจว่า สังฆทานคืออะไร ทุกอย่างไม่ใช่เพียงเขาบอกวิธีทำ หรือวิธีการ แต่ต้องเป็นเรื่องเหตุผลกับความเข้าใจ เวลาที่ได้ยินคำว่า “สังฆทาน” เข้าใจว่าอย่างไรคะ

    ผู้ฟัง ถวายสังฆทานแล้วได้บุญมาก เลยทำ

    ท่านอาจารย์ ถ้าได้บุญน้อยจะทำไหม

    ผู้ฟัง ไม่ทำค่ะ

    ท่านอาจารย์ นี่แสดงให้เห็นจริงๆ ว่า เราไม่เข้าใจ ถ้าเราเข้าใจ เราจะไม่คิดอย่างนี้ แต่เราจะรู้เหตุผลตามความเป็นจริง ทานคือการให้ สังฆ คือ หมู่สงฆ์ ซึ่งเราไม่เจาะจงว่า จะต้องให้พระคุณเจ้ารูปนี้ เจ้าอาวาส หรือพระเพื่อนฝูงที่เรารู้จักคุ้นเคย หรือญาติ ไม่ใช่อย่างนั้นนะคะ การให้โดยไม่เจาะจง ให้แก่ภิกษุแม้แต่รูปเดียวก็ได้ ทั้งๆ ที่สงฆ์ที่นี่ ไม่ได้หมายความถึงภิกษุบุคคล แต่หมายความถึงหมู่ของพระอริยสงฆ์ ซึ่งจริงๆ แล้ว เราไม่มีทางจะรู้เลยว่า พระภิกษุรูปใดเป็นพระอริยเจ้า แต่จิตใจของเราขณะที่ถวายทาน จิตขณะนั้นที่เป็นสังฆทาน ไม่ได้อยู่ที่ถัง หรือกระบุง หรือข้าวสาร หรือของแห้งที่เขามาตั้งวางอยู่ นั่นคือวัตถุทาน แต่สังฆทานต้องอยู่ที่ใจของเรา เพราะว่าวัตถุทาน คือ สิ่งที่เราให้ จะเรียกว่า “ไทยธรรม” ก็ได้ จะเรียกว่า “ทาน” ก็ได้ เป็นวัตถุทานที่มอบให้ แต่ที่จะเป็นสังฆทาน ไม่ใช่อยู่ที่นั่น แต่อยู่ที่สภาพจิตที่เรามีความอ่อนน้อม ให้ด้วยความเคารพ ด้วยความนอบน้อมในพระอริยเจ้า ท่านจะเป็นใครก็ตามแต่ แต่ใจของเราไม่หวั่นไหว และในขณะนั้นเรามีความนอบน้อมต่อสงฆ์ ขณะนั้นจึงจะเป็นสังฆทาน

    เพราะฉะนั้นสังฆทานให้ทราบว่า ไม่ได้อยู่ที่วัตถุ แต่อยู่ที่สภาพของจิต เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่รู้ เขาบอกให้เราทำสังฆทาน เขาก็ยกถังมาให้ แล้วก็บอกให้เราทำ แต่นั่นไม่ใช่สังฆทาน นั่นเป็นวัตถุทาน สังฆทานต้องอยู่ที่สภาพจิต ถ้าสภาพจิตของเรานอบน้อมต่อพระอริยสงฆ์ ใครจะบอกว่า นี่ไม่ใช่สังฆทานก็ไม่ได้ เพราะว่าใจของเรานอบน้อมถวายต่อสงฆ์ เพราะฉะนั้นก็เป็นสังฆทาน

    ผู้ฟัง อย่างนั้นเราใส่บาตรทุกวัน เราก็นึกเป็นสังฆทานได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่นึกค่ะ จิตของเราเป็นหรือเปล่า เป็นการนอบน้อมต่อพระอริยเจ้าจริงๆ หรือเปล่า ไม่คำนึงว่าท่านเป็นภิกษุรูปไหน อยู่วัดไหน ทำอะไร ไม่สนใจ แต่ใจของเรานอบน้อมต่อพระอริยเจ้า

    ผู้ฟัง ถ้านอบน้อมเมื่อใดก็เป็นสังฆทานเมื่อนั้น

    ท่านอาจารย์ บุญมากไหมคะ ที่ว่าบุญมาก มากตอนไหน จิตของเราผ่องใสค่ะ ไม่ไปติดข้องว่า เราจะต้องถวายพระภิกษุรูปนั้นรูปนี้ไม่หวังผล นี่คือจิตที่ผ่องใส แต่ถ้าหวังผล บุญมากไหมคะ เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า บุญจะมากหรือจะน้อยขึ้นอยู่กับสภาพของจิต ถ้าเป็นกุศลที่ผ่องใส ปราศจากความหวัง โลภะ ติดข้องใดๆ

    ผู้ฟัง เวลาทำแล้วก็มีหวังค่ะ

    ท่านอาจารย์ นั่นคือโลภะ เพราะฉะนั้นบุญนี้มีโลภะเป็นบริวาร


    หมายเลข 8519
    23 ส.ค. 2567