กว่าจะสละความยึดถือในสภาพธรรม


    ท่านอาจารย์ คุณคำปั่นเคยเสียสละไหมคะ

    อ. คำปั่น เสียสละครับ

    ท่านอาจารย์ มีของดีหลายชิ้น เราก็เป็นหนึ่งที่จะได้ของดีนั้น แต่เราก็รู้ว่า คนอื่นก็อยากได้เหมือนกัน ถ้าเราได้ของที่ดีน้อยกว่า แล้วคนอื่นเขาจะมีความสุขในการที่เขาจะได้ของดี เราเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า สละได้ไหม เริ่มรู้จักความหมายของการที่จะสละเพื่อคนอื่นแม้เพียงเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน แต่ก็เป็นพื้นฐานของการสามารถสละการยึดติดสภาพธรรมว่าเป็นเรา รู้ว่าสิ่งนั้นมีประโยชน์แก่คนอื่น สำหรับเราก็มีประโยชน์เหมือนกัน แต่คนอื่นมีประโยชน์มากกว่า และบางทีคนอื่นก็มีของตั้งเยอะแยะ แต่คนอื่นเขามีน้อย หรือถ้ามีน้อยด้วยกัน แต่เราไม่ค่อยได้ใช้ คนอื่นเขาจะใช้มากกว่า ทางที่จะคิดถึงประโยชน์ของคนอื่นมีมาก ถ้าเราไม่คิดถึงตัวเอง ไม่สะสมทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อตัวเอง แต่สิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์แก่คนอื่น แม้พื้นฐานเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็จะมีความมั่นคงขึ้น จนกล้าที่จะสละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา

    ปัญญากว่าจะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เพราะรู้ความจริงของสภาพธรรม จนไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยในสภาพธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ต้องมาจากอบรม และมีกุศลเพิ่มขึ้นด้วย ไม่ใช่คนที่ฟังธรรมแล้วก็เห็นแก่ตัวเหมือนเดิม ประโยชน์อะไรจากการฟัง แต่ถ้าจากการฟัง และมีความเข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธรรม ความเข้าใจจริงๆ ก็จะทำให้พฤติกรรมในชีวิตก็เป็นไปในทางที่ดีขึ้น ทุกอย่าง

    ถ้าถามว่า ทำอย่างนี้แล้วเหนื่อยไหม แต่ถ้าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ จะมานั่งคิดถึงเหนื่อยไหมๆ ๆ ทำไมกัน นี่ก็คือการที่เราเริ่มจะเห็นว่า การที่คนอื่นจะได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์สำคัญ ถ้าเราสามารถกระทำได้ คือ มีการคิดถึงคนอื่นมากขึ้น เสียสละมากขึ้น และคิดถึงตัวเองน้อยลง จนไม่มีเวลาที่จะมานั่งคิดถึงตัวเอง จะทำประโยชน์ทั้งเขา และเรา เพราะว่าไม่ต้องมานั่งคิดว่า เดี๋ยวเราจะป่วยไข้ เดี๋ยวจะเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวจะเป็นอย่างนี้ มัวแต่กังวลถึงเรื่องตัวเอง

    ดูชีวิตของพระโพธิสัตว์ ความดีทั้งหมดต้องให้ผลที่ดี และตอนที่เป็นสุเมธดาบสก็ได้เฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ทีปังกร ปรารถนาที่จะถึงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นทำไมคะ เพียงแค่เป็นสาวกก็ยากแล้ว แต่ผู้ที่ทรงปรารถนาถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความเสียสละเพื่อคนอื่น ไม่ใช่เฉพาะตนจะมากมายสักแค่ไหน กว่าที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีบุคคลเช่นนี้ เราก็ไม่มีโอกาสได้ฟังธรรม ไม่มีโอกาสได้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เลย

    เพราะฉะนั้นก็ตามกำลังว่า ใครจะเป็นอะไรก็ตามการสะสม เพราะเหตุว่าไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ หรือว่าโดยง่ายเลย แต่ต้องเป็นผู้มีอัธยาศัยใหญ่ คือ ไม่เห็นแก่ตัวหรือเฉพาะตัวเท่านั้น

    นี่เป็นประโยชน์ที่ทำให้เรารู้คุณค่าของความดี และรู้ว่าถ้าไม่มีความดีจะถึงการดับกิเลสไหม การที่จะไม่มีกิเลสใดๆ เลยทั้งสิ้น ซึ่งเป็นไปได้ ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ แต่ต้องอาศัยหลายอย่างซึ่งเป็นบารมี ทั้งสัจจะ ความจริงใจ และเป็นผู้มีอธิษฐาน ความมั่นคง ที่จะประพฤติตามความจริงใจด้วย ก็ต้องมีบารมีอื่นๆ ด้วย แสดงให้เห็นว่า ความดีเท่าไรไม่พอ ถ้าความดีเกิดมากๆ คนนั้นก็เป็นคนดีมากๆ แต่ถ้าความดีเกิดเล็กน้อย คนนั้นก็ดีเพียงเล็กน้อย

    ผู้ฟัง อย่างนี้ต้องมีปัญญามากๆ ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจึงมีปัญญา ๓ ระดับ มหาโพธิสัตว์สัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกโพธิสัตว์ และสาวกโพธิสัตว์ ไม่ใช่ว่าไม่มีคุณความดี ไม่มีปัญญา แล้วก็จะไปเป็นสาวกได้ ก็ต้องตามลำดับ แต่ว่าเพียงแค่สละความเห็นแก่ตัวยังยาก แล้วก็สละการที่จะไม่ยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยทั้งสิ้น จะยากกว่าไหม

    เพราะฉะนั้นความดีเป็นสิ่งที่ทำได้ แล้วควรทำแล้วก็ทำบ่อยๆ ก็จะมีกำลังขึ้น ต้องเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์จริงๆ ของความดีว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทุกคนจะได้รับ ก็เพราะมาจากความดีเป็นเหตุ สิ่งที่ไม่ดีจะนำสิ่งที่ดีมาให้ไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นอกุศลทั้งหลายไม่มีทางที่จะนำสิ่งที่ดีมาให้ได้เลย และก็มีความมั่นใจ มั่นคงว่า กุศลทั้งหลายซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ก็ต้องนำมาซึ่งสิ่งที่ดีได้ ถ้ามีความมั่นใจอย่างนี้ ก็จะทำให้ทำความดีเพิ่มขึ้น


    หมายเลข 8525
    18 ก.พ. 2567