เมตตาหรือรัก


    สนทนาธรรมกับเด็ก


    ผู้ฟัง เมื่อกี้เราพูดถึงกุศล และอกุศลกันเล็กน้อย อยากให้ท่านอาจารย์อธิบายละเอียดสักนิดหนึ่งว่า อกุศล ไม่ต้องใหญ่โต เล็กๆ ก็เป็นอกุศล เพื่อเป็นแนวทางสำหรับเด็กๆ

    ท่านอาจารย์ สนใจไหมคะ สนใจแจกหนังสือ “บุญกิริยาวัตถุ” การบ้าน

    ผู้ฟัง สงสัยเด็กๆ จะไม่เปิดค่ะ

    ท่านอาจารย์ การบ้านค่ะ คือ คนที่จะเข้าใจธรรม ไม่ใช่แค่ฟัง ต้องไตร่ตรอง และเริ่มเห็นประโยชน์ และต้องค้นคว้า ศึกษาด้วยตัวเองเพิ่มเติมด้วย เพราะเรียนเท่าไรก็ไม่หมด ตลอดชีวิตไม่จบ เพราะฉะนั้นถ้าฟังวันนี้แล้วไปอ่านหนังสือได้เลย อย่าไปคอยว่า เขายังไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ เราอย่าไปอ่านไม่ได้ อ่านได้เลยหมดทุกเล่ม แล้วจะประกอบกันทั้งหมด แล้วจะทำให้เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังด้วย และก็จะเร็วด้วย ไม่ต้องคอย แต่ว่าสิ่งใดก็ตามที่ได้ยิน อย่าลืมว่าต้องเข้าใจจริงๆ ถึงกระดูก ใช้คำว่า “จรดกระดูก” อย่างคำว่า “อนัตตา” เริ่มเห็นความจริงว่า บังคับใครได้ คนนี่อยากจะบังคับคนอื่น แม่ก็อยากให้ลูกเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ลูกก็อยากให้แม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่ต้องคนอื่น ตัวเองบังคับได้หรือเปล่า แค่ตัวเองยังไม่ได้ แล้วจะให้คนอื่นเป็นอย่างใจได้อย่างไร แต่มีทางเดียว คือ เข้าใจคนอื่น เมื่อเริ่มเข้าใจตัวเอง เพราะว่าเหมือนกันหมดค่ะ ทุกคนก็มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ มีคิด มีสุข มีทุกข์ มีรัก มีชังในสิ่งที่กำลังปรากฏ เลือกไม่ได้ แล้วแต่กรรมของใคร

    เพราะฉะนั้นถ้าเริ่มเข้าใจ ก็จะทำให้เห็นใจคนอื่น ที่ใช้คำว่า เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เมตตาก็คืออยากจะให้คนอื่นได้มีความสุขจากการมีปัญญา มีความเห็นถูก แล้วถ้าเขาอยู่ในสภาพที่เราจะเกื้อกูลได้ช่วยได้ ก็กรุณาให้เขาได้ยินได้ฟัง หรือกรุณาเรื่องไหนก็ได้ที่จะให้เขาพ้นทุกข์ ถ้าเขาเข้าใจ เราก็มีมุทิตา ดีใจด้วย ที่หลังจากที่ไม่ได้ฟังมาตั้งกี่ปีก็แล้วแต่ ก็เริ่มที่จะได้ยินได้ฟัง

    ผู้ฟัง ลูกๆ สามารถเมตตาพ่อแม่ได้ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ เมตตาทุกคนได้ เพราะจริงๆ แล้ว อุปสรรคคือ พ่อแม่ รัก ลูก และลูก รัก พ่อแม่ เพราะฉะนั้นก็จะมีความรักซึ่งกัน และกัน ซึ่งไม่ใช่เมตตา แต่ถ้าเรียนจริงๆ จะรู้ว่า เป็นพ่อแม่ลูกกันกี่ชาติแล้วคะ ชาติเดียวคือชาตินี้ ชาติก่อนเป็นลูกใคร ไม่รู้เลย พ่อแม่ชาตินั้นเขาก็รักอยู่ ถ้าเราตายเร็ว เขาก็ยังคร่ำครวญหวนไห้อยู่ ยังสุดแสนรัก เหมือนน้องสาวดิฉันคนหนึ่ง คนสุดท้อง ลูกของเขาเสียชีวิตเมื่ออายุ ๒๘ เป็นโรคภูมิแพ้เลือด SLE เรียนจบ ทำงานได้ทุกอย่างที่ดี ทุกวันนี้ไปไหนก็ต้องไปกับกระดูกลูก เวลานอนก็ไม่มีสักครั้งเดียวที่จะลืมคุยกับลูก ทุกสิ่งทุกอย่างของเขาคือลูกอยู่ในชีวิตของเขา จะบอกสักเท่าไรก็ชาตินี้ชาติเดียวก็ไม่ฟัง หรือฟังแล้ว ฟังแล้วนะคะ ก็ยังคงเหมือนเดิม ก็ยังคงเหมือนเดิม คือ ยากแสนยากที่ความรักโดยสายเลือด โดยความผูกพัน โดยการให้กำเนิด จะทำให้ลืมว่า เขาไม่ใช่ของเรา ทุกคนมีกรรมเป็นของตัวเอง ถ้าเขาไม่มีกรรมของเขาที่จะต้องเกิดมาเป็นลูกคนนี้ เขาก็ไม่เป็นลูกของคนนี้แน่ๆ ใช่ไหมคะ แล้วเขาจะอยู่ได้ด้วยกรรม อย่างที่เล่าให้ฟังถึงคนที่อยู่เชียงใหม่ถึงลูกที่เสียชีวิตเมื่ออายุ ๑๙ ขับรถชน เมื่อเช้านี้ฟังทาง จท่านอาจารย์ ก็มีคนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตขับรถชน อายุ ๒๕ เหมือนกัน ก็ไม่มีใครไปบังคับว่า สิ่งนี้อย่าเกิด เกิดกับคนอื่นได้ แต่อย่าเกิดกับเรา ก็เป็นไปไม่ได้ เกิดกับเขาได้ ก็ต้องเกิดกับเราได้ทั้งนั้น ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้นก็ไม่มีอะไรเป็นของเราจริงๆ ตัวเรายังไม่ใช่ของเรา แต่ความไม่รู้ ก็ทำให้เราผูกพันมาก แต่ทางเดียวที่เราจะผูกพันน้อย แล้วจะเพิ่มเมตตาขึ้น ก็ต่อเมื่อเห็นโทษของโลภะ และรู้ว่า ขณะที่เป็นโลภะกับขณะที่เป็นเมตตา นี่ต่างกันมาก มองดูข้างนอกคล้ายคลึงกัน เพราะว่าถ้ามีความเมตตาก็คือมีความเป็นมิตร มีความหวังดี หวังประโยชน์เกื้อกูลที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ เหมือนมารดาทำให้กับลูก แต่ต้องตัดคำว่า “โลภะ” ออกไป ถ้าเราสามารถทำให้คนอื่นเหมือนกับพ่อแม่ทำกับลูก แต่ไม่ได้ทำด้วยโลภะ นั่นคือเมตตาจริงๆ

    เพราะฉะนั้นถ้ามีความรู้ว่า เมตตาคือขณะที่ไม่มีความผูกพัน เรามีปัญญาที่จะรู้ความจริงว่า ควรที่จะเกื้อกูล เขาเป็นลูก ในฐานะพ่อแม่ก็ให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดีที่สุดที่จะให้ได้ แต่อย่าลืมว่า เขามีกรรมเป็นของเขา อย่างคนที่ให้ทุกสิ่งทุกอย่างกับลูก ให้รถเบนซ์ ก็ขับไปแล้วก็ตาย รถเบนซ์ขาด ๒ ท่อน ก็คิดดูว่า กรรมของใคร ไม่ใช่กรรมของแม่ แม่ไม่ได้ต้องการอย่างนั้น ไม่ใช่กรรมของพ่อ เพราะว่าแม้แต่วิสาขามิคารมารดาซึ่งท่านเป็นพระโสดาบัน เวลาหลานตาย ท่านก็ร้องไห้รำพันเข้าพระวิหารเขตวัน ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็เป็นเรื่องที่กิเลสจะหมดไปได้ ต่อเมื่อปัญญาถึงระดับขั้นที่จะดับกิเลส แต่ถ้ากิเลสยังไม่ดับ ก็ยังมีปัจจัยที่จะให้กิเลสอยู่

    ก็เห็นธรรม เห็นความเป็นธรรมดาของทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น สิ่งที่เกิดแล้วเป็นธรรมดา ธรรมดาอย่างไร เพราะมีเหตุปัจจัยสะสมมาที่จะเป็นอย่างนี้ ก็ต้องเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นคำถามที่ชอบถามกันแต่ก่อนว่า “ทำไมถึงต้องเป็นเรา” คนที่ศึกษาธรรมแล้วตอบเหมือนกัน เพราะต้องเป็นเรา จะเป็นคนอื่น หรือจะเป็นใครไปไม่ได้เลย สะสมมาอย่างไร เป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น


    หมายเลข 8570
    23 ส.ค. 2567