รู้จักจิต เจตสิก


    สนทนาธรรมกับเด็ก


    ท่านอาจารย์ อยากจะเรียนสิ่งที่ง่ายหรือสิ่งที่ยาก ทุกคนช่วยกันตอบค่ะ

    ผู้ฟัง สำหรับตัวเองก็อยากจะเรียนสิ่งที่ง่ายค่ะ

    ผู้ฟัง สิ่งที่ยากค่ะ

    ตอบ๒ จากง่ายๆ ก่อน แล้วก็ยากขึ้น

    ท่านอาจารย์ วันนี้ง่ายไหมคะ

    ผู้ฟัง ง่ายที่จะฟัง แต่ยากที่จะทำความเข้าใจให้สูงขึ้น ละเอียดขึ้น

    ผู้ฟัง อยากเรียนสิ่งที่ยากค่ะ เพราะว่าถ้าเข้าใจสิ่งที่ยาก สิ่งที่ง่ายก็น่าจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น

    ท่านอาจารย์ สลิตาล่ะคะ

    ผู้ฟัง สิ่งที่ง่าย

    ท่านอาจารย์ อยากเรียนสิ่งที่ง่าย วันนี้มีอะไรง่ายบ้างคะ

    ผู้ฟัง การได้รู้จักนามธรรม ความหมายของนามธรรม ความหมายของรูปธรรม รู้จักว่าความสุขในชีวิต จริงๆ แล้วก็คือการไม่ยึดว่า นี่เป็นตัวของเรา

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นสิ่งที่ง่ายหรือคะ คือว่าบางคนสะสมมาที่จะเข้าใจได้ สิ่งนั้นก็ไม่ยาก อยู่ที่การสะสม เวลาฟังแล้วสามารถจะเข้าใจได้ว่า จริงๆ แล้วการพูดวันนี้ พูดเรื่องอะไร และจุดประสงค์คืออะไร น่าสนใจไหมคะ จะฟังต่อไปอีกหรือเปล่า พอหรือยังคะ นามธรรมกับรูปธรรม จะต่อไหม

    ผู้ฟัง ผมก็ยังสงสัยเรื่องนามธรรมกับรูปธรรม ไม่ทราบเข้าใจถูกหรือเปล่าว่า รูปธรรมคือสิ่งที่สัมผัสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ถ้าเป็นนามธรรมสัมผัสด้วยใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่เอาค่ะ อย่างนี้คือเราคิดเอง เอาใหม่ รูปธรรมหมายความถึงสิ่งที่มีจริง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย นี่คือคำจำกัดความตลอดพระไตรปิฎก นามธรรมที่เกิดขึ้นเป็นธาตุหรือธรรมซึ่งไม่มีรูปร่างลักษณะเลย แต่สามารถหรือต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ เช่นเห็นขณะนี้ ตาเฉยๆ ไม่สามารถจะเห็นอะไรได้เลย แต่ตาสามารถกระทบสี แล้วนามธรรมเกิดเห็น เพราะการกระทบกันของสีกับตา นามธรรมกำลังรู้ว่า ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นอย่างนี้ เช่นเดียวกับทางหู เสียงมีเยอะหลายเสียง แต่นามธรรมก็คือขณะที่กำลังได้ยิน รู้ว่าเสียงนั้นที่กำลังปรากฏมีลักษณะอย่างนั้นๆ เสียงน้ำไหลในก๊อกกับเสียงคนพูด เห็นไหมคะ นี่คือนามธรรมที่สามารถจะรู้ความต่างของสิ่งที่ปรากฏให้รู้ คือ รู้แจ้ง รู้จริงในสิ่งที่ปรากฏให้รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏนั้นมีลักษณะต่างๆ กันอย่างนั้นๆ กลิ่นก็มีต่างๆ เพราะนามธรรมจึงสามารถรู้กลิ่น เวลาที่กลิ่นปรากฏก็รู้ลักษณะของกลิ่นต่างๆ เวลาที่ลิ้มรส เราก็รู้สึกว่าหวาน เค็ม แต่ความจริงต้องมีสภาพที่รู้ความหวาน รู้ความเค็ม รู้ความเปรี้ยว ในขณะที่กระทบลิ้น

    เพราะฉะนั้นนามธรรมไม่มีรูปร่างเลย แต่เป็นธาตุหรือสภาพธรรมที่ต้องเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ทางตาคือเห็น ทางหูคือได้ยิน ทางจมูกคือได้กลิ่น ทางลิ้นคือลิ้มรส ทางกายก็รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจแม้ว่าไม่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ก็คิดนึก

    ที่เราใช้คำว่า “จิต” เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ทุกคนมีจิตไหมคะ ใครบ้างที่ไม่มีจิต ไม่มีใช่ไหมคะ ที่นี่มีใครไม่มีจิตบ้าง มีหมดนะคะ จิตเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าเป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นนามธรรม เพราะว่าจิตนั่นเองเป็นสภาพที่เห็น เพราะว่าเวลาที่เราพูดถึงจิต โดยที่ยังไม่ได้ฟังธรรม เหมือนเราเข้าใจ จิตใจนี่เข้าใจ แต่ถามว่าจิตอยู่ที่ไหน ตอบได้ไหมคะ ไม่ได้เลย จิตคืออะไร ตอบได้ไหมคะ ก็ไม่ได้อีก แต่พอศึกษาแล้ว พระพุทธศาสนามีคำตอบทั้งหมดว่า จิตคือสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นสภาพธรรมที่สามารถรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏทางหนึ่งทางใด

    เพราะฉะนั้นขณะเห็นก็คือจิตนั่นเองที่เห็น ขณะได้ยินก็คือจิตได้ยิน ขณะได้กลิ่นก็เป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง ขณะที่ลิ้มรสก็เป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายก็เป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง ขณะที่คิดนึกก็เป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นมีจิตมากมายหลายประเภท ไม่ใช่มีจิตอย่างเดียว เราคิดว่าเรามีจิตเดียว แล้วเดี๋ยวรู้นั่นรู้นี่ แต่ความจริงไม่ใช่ เป็นจิตแต่ละชนิดซึ่งเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ แล้วก็ทำหน้าที่เฉพาะอย่างๆ ของจิตนั้น

    จิตเป็นนามธรรมแล้วใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงนามธรรมที่เกิดขึ้น ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน เราหมายความถึงจิต แต่จริงๆ แล้ว นามธรรมมี ๒ ประเภท นามธรรมที่เกิดมี ๒ ประเภท คือ จิต ๑ แล้วก็เจตสิกอีก ๑ คงไม่เคยได้ยินคำว่า เจตสิก แน่ๆ

    ทีนี้นามธรรมมี ๒ อย่าง เมื่อกี้นี้ธรรมอย่างเดียวแยกเป็นนามธรรมกับรูปธรรม ทีนี้นามธรรมต่างกันเป็น ๒ อย่าง นามธรรมที่เกิดขึ้นเป็นจิตชนิดหนึ่ง แล้วเป็นเจตสิกอีกชนิดหนึ่ง คำว่า”เจตสิก” โดยคำแปลก็หมายถึงสภาพธรรมที่เกิดกับจิต หรือว่าเกิดในจิต โดยรูปศัพท์ “เจ – ตะ – สิก- กะ” เกิดในจิตหรือเกิดกับจิต เวลาที่เห็นแล้วต้องมีความรู้สึก ชอบหรือชัง ดีใจหรือเสียใจ ดีใจหรือเสียใจไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิก

    เวลาที่เห็น ทุกคนเห็นเหมือนกัน แต่คนนี้ชอบ อีกคนหนึ่งโกรธ เพราะฉะนั้นเห็นเป็นจิต แต่ชอบหรือไม่ชอบเป็นเจตสิก ความเมตตาเป็นจิตหรือเจตสิก เป็นเจตสิก หมายความถึงชีวิตประจำวันเราทั้งหมด ส่วนใหญ่ที่เราบอกว่า ขยัน เกียจคร้าน ดี ชั่ว พวกนี้เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตบางครั้งบางคราว แต่ว่าจิตต้องเกิดขึ้นเป็นประจำ เป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้

    เพราะฉะนั้นตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ขาดจิตเลย ต้องมีจิตเกิดดับๆ สืบต่อ ตั้งแต่ขณะแรกที่เกิดจนถึงขณะสุดท้ายคือตาย หลังจากที่จิตขณะสุดท้ายดับไปก็คือตาย แต่ว่าระหว่างนั้นก็จะมีสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม แต่ไม่ใช่จิต แต่นามธรรมชนิดนี้ต้องเกิดกับจิต ดับพร้อมกับจิต เร็วเท่ากันเลย แล้วจิตรู้อะไร เห็นอะไร เจตสิกนั้นก็รู้สิ่งนั้น แล้วก็มีความรัก ความชอบ ความชัง ความโกรธ ความขยัน ความเพียร

    เจตสิกก็แบ่งเป็นประเภท เจตสิกที่เป็นฝ่ายกลางๆ เกิดได้ทั้งจิตที่ไม่ดี และจิตที่ดี ส่วนเจตสิกอีกชนิดหนึ่งเป็นอกุศลเจตสิก ฝ่ายไม่ดี ต้องเกิดกับจิตใด จิตนั้นเป็นจิตที่ไม่ดีเท่านั้น แล้วก็เจตสิกฝ่ายดี เกิดกับจิตฝ่ายดี

    นี่ก็ค่อยๆ ไปทีละเล็กทีละน้อย แต่ให้ทราบว่าเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่ศึกษาธรรม คือ สิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ว่า เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงปรมัตถธรรมจะมี ๔ คือ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ นิพพาน ๑ เอาแค่นี้เลยวันนี้ ให้ทราบว่ามี ๔ อย่าง ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้จักนิพพานเลยก็ตามแต่ แต่รู้ว่า นิพพานเป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป จิตเป็นเจตสิกหรือเปล่าคะ ไม่ใช่ จิตเป็นรูปหรือเปล่าคะ ไม่ใช่ จิตเป็นนิพพานหรือเปล่าคะ ไม่ใช่

    เพราะฉะนั้นความจริงแท้ที่เป็นปรมัตถธรรมจะมี ๔ อะไรบ้างคะ คุณนุช

    ผู้ฟัง ก็จิต เจตสิก รูป นิพพาน

    ท่านอาจารย์ แต่จริงๆ แล้ว คนที่อยากได้ อยากได้เพราะไม่รู้ ถ้ารู้แล้วบางคนไม่อยากได้ มีใครจำ ๔ อย่างนี้ไม่ได้บ้างคะ


    หมายเลข 8574
    23 ส.ค. 2567