การศึกษาพระพุทธศาสนา ก็ต้องมีจุดประสงค์
สนทนาธรรมกับเด็ก
ท่านอาจารย์ อยากจะพูดถึงจุดประสงค์ของการศึกษาพระพุทธศาสนา เพราะว่าชีวิตของเรา ไม่ว่าเราจะทำอะไร ก็ต้องมีจุดประสงค์ ไม่ใช่ทำไปโดยที่ไม่รู้ว่า เราทำทำไม อย่างเราเกิดมา เราก็เห็น ได้ยิน โตขึ้นก็ต้องเข้าโรงเรียน เราก็ต้องรู้ว่า เรียนทำไม เรียนเพื่อจะรู้สิ่งที่เราไม่เคยรู้เลย ซึ่งจะต้องช่วยในการมีชีวิตอยู่ต่อไป เพราะว่าถ้าเราไม่มีความรู้ แล้วเราจะไปทำอย่างไรให้ชีวิตของเราดำรงต่อไปได้
เพราะฉะนั้นการที่เราจะศึกษา ไม่ว่าวิชาอะไรทั้งนั้นก็เพื่อที่ว่าเราจะได้มีความรู้ แต่ทีนี้เราก็เข้าโรงเรียน และอีกไม่นานก็จบ แล้วมีอาชีพ มีการงาน มีครอบครัว มีบ้าน แล้วก็ตายแน่ๆ ไม่มีใครสักคนหนึ่งซึ่งจะไม่ตาย เพราะฉะนั้นเราก็ลองเปรียบเทียบดูว่า ตลอดชีวิตที่เราเกิดมา แล้วก็เห็น แล้วได้ยิน แล้วก็มีชีวิตแต่ละวัน สนุกบ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ทำงานบ้าง มีเพื่อนบ้าง แต่ในที่สุดก็ต้องจากทุกคน มีใครบ้างคะที่ไม่ตาย มีไหมคะ ไม่มีเลย ต้องตายทุกคน
เพราะฉะนั้นถ้าให้เราคิดว่า ระหว่างที่เรายังไม่ตาย เราควรจะเป็นอย่างไร เพราะเรามองเห็นว่าแต่ละคนต่างกัน บางคนก็เป็นคนดี บางคนก็เป็นคนไม่ดีเลย และถ้าเป็นคนที่รู้ว่าระหว่างดีกับไม่ดี สำหรับตัวเราควรจะเป็นชนิดไหน มีใครบ้างไหมคะที่อยากเป็นคนไม่ดี เคนอยากเป็นคนดีหรือเปล่าคะ มีใครในที่นี่ที่ไม่อยากเป็นคนดีบ้าง ต้องไม่มี ใช่ไหมคะ แต่ถ้าเราไม่รู้ว่า อะไรไม่ดี บางทีเราก็บอกไม่ได้ว่า สิ่งที่เราคิดว่าดีนั้นดีหรือเปล่า อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็ได้
เพราะฉะนั้นในการที่เราศึกษา เราต้องทราบว่า สำหรับวิชาทางโลกก็ให้ความรู้เพียงแค่เรามีชีวิตไปวันหนึ่งๆ แล้วก็มีเพื่อน แล้วก็มีงาน มีอะไร แต่ว่าเราจะเอาสิ่งต่างๆ เหล่านั้นไปกับเราไม่ได้เลย เราเกิดมา เรามาตัวเปล่าๆ มีใครเอาอะไรติดมาบ้างคะ ตอนเกิด เคนเอาอะไรติดมาบ้าง ตอนเกิด ไม่ทราบ เพราะว่าตอนนั้นเล็กมาก แต่ว่าจริงๆ แล้วไม่มีใครเอาอะไรติดมาได้เลย แต่สิ่งที่ติดมาแล้ว ก็คืออุปนิสัยที่เคยสะสมมา ทำให้แม้แต่เด็กตัวเล็กๆ พอเกิดมาแล้วมองดูก็เหมือนๆ กันทั้งนั้น แต่พอโตขึ้นค่อยๆ เปลี่ยนเป็นไม่เหมือนกันเลยตามการสะสมของแต่ละคน ถึงแม้ว่าจะมีพี่น้อง ๒ คน ๓ คน ๔ คน แต่ละคนก็มีอัธยาศัย อุปนิสัยต่างๆ กัน เหมือนกันไม่ได้
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ติดตามไป จากการที่เรามีสมบัติ มีบ้าน มีพี่มีน้อง มีญาติ เราไม่สามารถเอาสิ่งต่างๆ เหล่านี้ตามไปได้ แต่การสะสมของเราในเรื่องความรู้สึก ในเรื่องความคิดนึกพวกนี้จะติดตามไป อย่างบางคนก็เป็นคนที่โกรธง่าย แล้วไม่ยอมอภัยให้คนอื่นเลย ดีไหมคะอย่างนั้น ไม่ดี แต่ทำได้หรือเปล่า บางคนเขาบอกว่า รู้ว่าไม่ดี แต่ทำไม่ได้ ถ้าไม่หัด ไม่เริ่ม ไม่สะสม ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย แต่ถ้าวันนี้เราเปลี่ยนความคิด แล้วรู้ว่า ถ้าเราจะไม่โกรธใครเลย ก็จะสบายกว่าเยอะ ไม่ต้องไปนั่งคิดถึงคนนั้นด้วยความขุ่นเคือง นอนไม่หลับกระสับกระส่าย ทำไมเขาทำอย่างนั้นไม่ดี ทำอย่างนี้ไม่ดี แต่ถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ขณะนั้นใครกำลังไม่ดีที่คิดอย่างนั้น ลืมตัวเอง ใช่ไหมคะว่า แท้ที่จริงเวลาที่คิดอย่างนั้นเป็นทุกข์ของเราเอง
เพราะฉะนั้นเราไม่ค่อยจะเห็นตัวเอง แล้วก็เห็นคนอื่น แล้วก็มองคนอื่นว่า คนนั้นไม่ดีตรงนี้ คนนี้ไม่ดีตรงนั้น หรือว่าคนนี้ดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ตัวเราเองเราลืม แต่พระธรรมที่เราศึกษาเมื่อเดือนก่อน ก็เป็นเรื่องสัจธรรม ความจริง ที่ทำให้เรารู้จักตัวเราเอง ถ้าเรารู้จักตัวเราเอง เราจะรู้จักคนอื่นไหม เหมือนกันไหมคะ เขากับเรา ความโกรธเกิดขึ้น ของใครก็เหมือนกันทั้งนั้น ความโลภ ความติดข้องของใครก็เหมือนกันทั้งนั้น ความที่มีจิตใจดีงาม ก็ดีงามหมด ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนกับใคร ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง
เพราะฉะนั้นเวลาที่ทุกคนมาที่นี่ วัยนี้ มีใครเอากระจกมาบ้างหรือเปล่าคะ ในกระเป๋ามีกระจกไหมคะ มีนะคะ กระจกโดยมากเราจะไว้ส่องตัวเราว่าเป็นอย่างไร แต่เราเห็นเพียงรูป แต่พระธรรมคือกระจกอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้อง เราจะส่องใจของเราเอง เราจะเห็นใจของเราเองได้ เพราะว่าใจของคนอื่น เราเพียงแต่นึกว่า เขาเป็นอย่างนั้น นึกว่าเขาเป็นอย่างนี้ แต่เห็นไม่ได้ ไม่เหมือนใจของเราเอง
เพราะฉะนั้นใจของเราเอง พระธรรมจะทำให้เห็นชัดเจนว่า ขณะที่เรากำลังคิดโกรธใคร แท้ที่จริงแล้วขณะนั้นลักษณะโกรธกำลังเป็นของเราเอง เพราะว่าเราไม่ชอบคนที่เรากำลังโกรธนี่แน่ๆ เลย เพราะฉะนั้นขณะใดที่ไม่ชอบคนนั้น หรือกำลังโกรธคนนั้นคนนี้เพราะความไม่ดีของเขา แท้ที่จริงขณะนั้นเรามีความโกรธของเรา พระธรรมจะส่องถึงสภาพธรรมชัดเจน
เพราะฉะนั้นเราต้องทราบจุดประสงค์ให้ชัดว่า เราเรียนธรรมทำไม บางคนอาจจะคิดว่า เรียนเหมือนวิชาทางโลกวิชาหนึ่ง บางแห่งเขาอาจจะมีการสอบ แล้วก็มีประกาศนียบัตร บางแห่งก็อาจเป็นถึงเป็นมหาวิทยาลัยก็ได้ ต่างประเทศก็มี ศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์
เพราะฉะนั้นการที่เราจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เราจะต้องตั้งจิตไว้ชอบ นี่ใช้สำนวนภาษาพระสูตร แต่หมายความถึงพิจารณาสิ่งที่เราจะทำ จนกระทั่งเป็นสิ่งที่เราเห็นประโยชน์จริงๆ เราถึงจะทำ แต่ถ้าเราไม่พิจารณาแล้วเราทำไป สิ่งนั้นจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ เราก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์เลย จากการที่เรารู้มากๆ ถ้าศึกษาต่อไปก็เป็นจิตกี่ชนิด เจตสิกมีเท่าไร รูปมีอะไรบ้าง เราก็แค่รู้ แต่ไม่เป็นประโยชน์กับเรา
เพราะฉะนั้นการที่เราจะทำสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการศึกษาธรรม ซึ่งต่างกับการศึกษาวิชาอื่น วิชาอื่นเอาไปไม่ได้แน่ ทรัพย์สมบัติที่เป็นวิชาอื่น แต่ธรรมที่เป็นความเข้าใจของเรา ก็เป็นอุปนิสัยที่สะสม ทำให้เราเวลาที่มีการฟังธรรมอีก เราเข้าใจได้เร็ว อย่างครั้งก่อนที่เราพูดเรื่องปรมัตถธรรม คนที่ฟังครั้งแรกใหม่มาก จะไม่รู้เลยว่า หมายความถึงอะไร แต่ถ้าฟังวันก่อนแล้ว วันนี้รู้ไหมคะว่า ปรมัตถธรรมคืออะไร ธรรมคืออะไร
นี่คือสิ่งที่อยู่ในใจ ซึ่งใครก็เอาไปไม่ได้ ถ้าเป็นความรู้ที่เพิ่มขึ้น ก็จะเป็นสมบัติที่ติดตัวเราจริงๆ ที่เราสามารถมีสมบัติอันนี้ทุกชาติๆ ได้ เวลาที่ได้ยินได้ฟังอะไร ก็เหมือนเวลาที่เราไปโรงเรียน วันแรกที่เราเข้าโรงเรียน เราก็ไม่รู้ แต่กว่าเราจะโต กว่าเราจะออกจากโรงเรียน เราก็รู้ไปหมด ตั้งแต่ชั้นประถม ๑ ประถม ๒ เราก็ไม่ลืม เราก็เข้าใจได้ แต่พระธรรมมีประโยชน์ที่ต่างจากวิชาอื่นที่ติดตามเราไปได้ ในขณะที่ทรัพย์สมบัติ พ่อแม่ พี่น้อง ญาติเพื่อนฝูงที่เราเคยรัก เคยชอบทั้งหมด ตามเราไปไม่ได้สักคนเดียว เราเกิดมาคนเดียว ตาย เราก็ตายคนเดียว ใช่ไหมคะ ไม่มีใครไปตายด้วย
ขณะที่กำลังเห็น แต่ละคนที่เห็น เห็นคนเดียว หรือคนอื่นมาร่วมกับเห็นของเราด้วย เห็นคนเดียว เวลาเราคิดนึก ต่างคนต่างคิด ไม่ใช่เราคิดอย่างนี้ ขณะที่คิดเป็นคนอื่นที่มาร่วมคิดด้วย ก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นให้ทราบความจริง ความจริงซึ่งเป็นสัจธรรม ความจริงแท้ๆ ที่พิสูจน์ได้ว่า แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง เหมือนเป็น ๒ ได้ไหมคะ จะโคลนนิ่งออกมาแบบลูกแกะ แบบลูกวัวได้ไหม ก็ได้แต่เพียงรูปร่าง อย่างหน้าตา ก็รู้สึกว่า คนนี้คล้ายๆ คนนั้น หรือคนที่เราเคยรู้จัก แต่สภาพจิตไม่มีวันที่จะเหมือนกัน แต่ละขณะ เพราะว่าจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะดับไป เป็นปัจจัยให้ขณะต่อไปเกิด ถ้าขณะก่อนๆ เป็นคนที่ชอบไปหมดทุกอย่าง อยากได้ไปเสียทุกอย่าง เราจะเห็นคนที่โลภมากกว่าคนอื่น หรือบางคนก็โกรธ เรื่องที่คนอื่นไม่โกรธ เขาก็โกรธ นิดหนึ่งก็โกรธ หน่อยหนึ่งก็โกรธ เพราะว่าเขาสะสมความโกรธทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งเป็นสภาพจิตของแต่ละคนซึ่งต่างกันไปมาก
ในขณะนี้จะมีคนที่นี่มากสักเท่าไร ไม่เหมือนกันเลย คนหนึ่งเห็น อีกคนหนึ่งกำลังคิด อีกคนกำลังเจ็บหรือคันตรงไหนก็ได้ แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม คือ ศึกษาสิ่งที่มีจริงที่เราสามารถจะพิสูจน์ได้ที่ตัวของเรา เมื่อเข้าใจแล้วก็เข้าใจทั้งหมดเลย