บุญบาป พิจารณาแต่ละขณะจิต


    ผู้ฟัง ๒ บุคคลที่ทำบุญ คนแรกเขาไปวัดทำบุญทำทาน ตักบาตร ถือศีล แต่เวลาที่เขาอยู่กับบุคคลอื่น เขาจะทำให้บุคคลอื่นไม่ค่อยสบายใจ ด้วยการกระทำหรือคำพูดของเขา แต่อีกบุคคลหนึ่งอาจจะไม่ค่อยไปวัด แต่เวลาทำงานร่วมกับคนอื่นแล้ว ทำให้คนอื่นสบายใจ ไม่เป็นทุกข์กับเขาเมื่อทำงานด้วย ถามว่า ๒ คนนี้ได้บุญแบบไหนกันบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ศึกษาธรรม ตรงมาก และละเอียดมาก คือพูดถึงจิตทีละ ๑ ขณะ ไม่ได้พูดปะปนรวมกันอย่างนี้เลย แต่ทีละ ๑ ขณะ เพราะฉะนั้นขณะใดที่จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล ขณะนั้นเท่านั้นที่เป็นบุญ

    ขณะนี้เรามีศรัทธา จะมากหรือจะน้อย ไม่มีใครสามารถรู้ได้ แต่ละคนก็แต่ละตัวเองที่ฟังพระธรรม แต่ขณะที่กำลังฟังอาจจะไม่ทราบว่า มีอกุศลจิตเกิดสลับ ไม่ใช่มีแต่กุศลจิตตลอด

    ด้วยเหตุนี้เราจึงพูดถึงธรรมตรงที่จิตแต่ละ ๑ ขณะ มีคำจำกัดความได้ว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นบุญ ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ต้องเป็นผู้ตรงด้วย คือ ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดสลับกัน ขณะที่เป็นอกุศลก็ไม่ใช่บุญ

    เพราะฉะนั้นเราจะไม่มีการคิดนึกเป็นเรื่องเป็นราว แต่เราจะพูดถึงจิตแต่ละขณะ ให้แต่ละคนมีธรรมเป็นกระจก เพราะฉะนั้นธรรมก็คือว่าไม่ใช่ไปดูคนอื่น แต่เวลาที่เข้าใจธรรมคือดูตัวเองว่า ในขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต

    เวลาอ่านหนังสือพิมพ์ หรือฟังเรื่องที่แสนโหดร้ายทารุณเหลือเกิน ขณะนั้นเห็นจิตของคนที่ทำไม่ดี ใช่ไหมคะ แต่จิตของเราที่กำลังคิดถึง มีกระจกส่องหรือยัง ลืมแล้ว ลืมกระจก ไม่ได้เอากระจกไปด้วยทุกหนทุกแห่ง แต่พระธรรมเหมือนกระจกจริงๆ ที่จะทำให้รู้ว่า ขณะนั้นกำลังเป็นจิตประเภทหนึ่งซึ่งเพียงคิด การกระทำใดๆ ของคนนั้นก็หมดไปแล้ว และจริงๆ ก็ไม่มีแต่ละคน มีแต่นามธรรมกับรูปธรรม รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เกิดแล้วก็ดับไปหมดเลย ถ้าใช้คำว่า “ดับ” หมายความว่าไม่กลับมาอีก อย่างไฟที่เกิดแล้วดับ ไฟนั้นกลับมาอีกหรือเปล่า หรือว่าอาศัยเชื้อไฟใหม่ที่จะทำให้ไฟใหม่เกิดต่างหาก ไม่ใช่ไฟเก่ากลับมา ฉันใด จิตแต่ละขณะตั้งแต่เริ่มเข้ามาอยู่ในห้องนี้จนถึงเดี๋ยวนี้ เกิดดับนับไม่ถ้วน ตามเหตุตามปัจจัย เช่น เสียงที่ได้ยินเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เสียงเมื่อกี้นี้

    เพราะฉะนั้นจิตที่ได้ยินเสียงเมื่อกี้นี้ ไม่ใช่จิตที่ได้ยินในขณะนี้ ถ้าศึกษาแล้วจะทราบว่า สภาพธรรมเร็วยิ่งกว่าใครจะประมาณได้ว่า เกิดดับเร็วสักแค่ไหน

    เพราะฉะนั้นเวลาที่จะพูดถึงกุศลจิตหรืออกุศลจิต ให้ทราบว่า พูดถึงจิตแต่ละขณะ แล้วให้ทราบว่า ถ้ามีแต่นามธรรมอย่างเดียว ไม่มีรูปเลย ไม่มีใครสามารถรู้สภาพจิต แต่เวลาที่มีการกระทำทางกายบ้างทางวาจาบ้าง ก็พอที่จะรู้ว่า เกิดจากจิตอะไร อย่างเสียงดุ เสียงด่า ขณะนั้นจิตเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เป็นอกุศล เพราะมีรูปที่เกิดจากจิต เสียงเกิดจากจิต มีจิตเป็นสมุฏฐาน เป็นธรรมที่ก่อตั้งให้เสียงนั้นเปล่งออกมาด้วยจิตอย่างนั้น ถ้าเป็นเสียงที่มีความกรุณา มีความเมตตา ใครกำลังเป็นทุกข์ เราก็พูดให้เขาสบายใจเข้าใจในเหตุในผล เสียงนั้นเกิดจากจิตที่เป็นกุศล หรือการกระทำทางกายก็เหมือนกัน การทะเลาะวิวาท การดุด่า การเฆี่ยนตีต่างๆ ขณะนั้นจิตก็เป็นอกุศล แต่ถ้าเป็นการช่วยเหลือแม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต อย่างเวลาที่รับประทานอาหาร บางทีบุคคลลืม แม้จะคิดว่า บางคนนั่งไกลอาหารมากเลย ถ้าเราส่งไปให้เขาสักหน่อยหนึ่ง เขาก็จะได้รับประทานอาหาร ไม่ใช่อยู่ตรงหน้าเรา เราก็รับประทานไปคนเดียว ขณะนั้นก็เพียงเอื้อมหยิบส่งให้ก็เป็นกุศลจิต

    เพราะฉะนั้นจิตที่ดีงาม ไม่ใช่ว่าต้องมีวัตถุ ทานเป็นแต่เพียง ๑ ใน ๑๐ ของบุญ เพราะฉะนั้นต่อไปเราจะทราบว่า บุญคือสภาพจิตที่ดีงาม ไม่ต้องถามใครต่อไปว่า เป็นบุญไหม ได้บุญมากไหม เพราะว่าเราย่อมรู้ใจของเรา คนอื่นจะรู้ได้อย่างไรว่า ใจเราคิดได้อย่างไร ขณะใดที่จิตอ่อนโยน มีความเป็นมิตร และช่วยเหลือคนอื่น ขณะนั้นก็เป็นบุญ หรือเป็นกุศลจิต หรือขณะที่จิตอ่อนโยน สละสิ่งที่มีให้เป็นประโยชน์สุขแก่คนอื่น ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต

    เพราะฉะนั้นขณะนั้นกุศลจิตไม่ใช่เพียงการให้วัตถุอย่างเดียว และบางคนอาจจะถามว่าได้ผลมากหรือน้อย จะไปคิดถึงผล แต่ถ้าเป็นธรรมจริงๆ คนที่เข้ามาสู่พระธรรมจะรู้ว่า ถ้าเป็นผู้ตรง เข้ามาด้วยความนอบน้อมต่อการศึกษาพระธรรม เพื่อที่จะประพฤติปฏิบัติตาม เมื่อมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกว่า สิ่งใดไม่ดี ก็จะละเว้นสิ่งนั้น สิ่งใดดีก็จะประพฤติสิ่งนั้นเท่าที่จะประพฤติได้ สะสมได้

    เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่ตรงต่อธรรม ไม่ได้เข้ามาโดยที่เราเรียนเก่ง เรารู้ธรรมมาก เราจะไปเป็นครูอาจารย์ หรือเราจะได้ลาภ ได้สักการะ หรือแม้แต่การชมเชย ก็ไม่ใช่เพื่อสิ่งนั้น ถ้าเพื่อสิ่งนั้นแล้ว จะไม่ได้สาระจากพระธรรม แต่จะได้ความเมาในความรู้ ในความเก่ง หรือในลาภ ในสักการะ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรมเพื่อประโยชน์จริงๆ เพราะเหตุว่าพระธรรมถ้าไม่ได้ศึกษาก็สูญ อย่างพระพุทธศาสนาไม่ได้อยู่ที่วัตถุเลย แต่อยู่ที่ความเข้าใจของชาวพุทธ ถ้าชาวพุทธไม่เข้าใจพระธรรม สูญแน่นอนค่ะ ไม่มีการดำรงสืบต่อไป มีพระไตรปิฎกจริง เปิดแล้วไม่รู้เรื่อง หรือเข้าใจผิด ขณะนั้นก็ไม่ใช่การสืบต่อพระพุทธศาสนา

    เพราะฉะนั้นเราต้องเป็นผู้ตรงจริงๆ มีความนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย แม้แต่พระธรรม นอบน้อมโดยการศึกษา ด้วยการพิจารณาด้วยความละเอียดที่จะให้ไม่บิดเบือน ไม่เข้าใจผิดในพระธรรม เพราะว่าถ้าเราเข้าใจผิด จะผิดกันไปตลอด ไม่ตรงกับที่ทรงแสดงไว้ เท่ากับว่าเราไม่ใช่ผู้ที่มีความเคารพในพระธรรม แต่ถ้ามีความเคารพในพระธรรม สิ่งใดที่ถูกคือถูก สิ่งใดที่ผิดคือผิด แล้วต้องไตร่ตรองให้รอบคอบ แล้วต้องเป็นผู้ที่พร้อมจะแก้ เพราะเราไม่ใช่ผู้รู้ในพระธรรมทั้งหมด ทั้ง ๓ ปิฎก และอรรถกถาซึ่งละเอียดมาก แต่ต้องเป็นผู้ที่ศึกษา แล้วช่วยเหลือบุคคลอื่นที่ยังไม่ได้ศึกษาให้ได้มีความเข้าใจในพระธรรมขึ้น

    นี่ก็จะต้องเป็นผู้ตั้งจิตไว้ชอบ แม้แต่ในการศึกษาพระธรรม มิฉะนั้นแล้ว ก็ไม่ได้สาระจากพระธรรมจริงๆ

    เรื่องบุญคงจบแล้วนะคะ เป็นนามธรรม เป็นจิต เจตสิกที่ดี


    หมายเลข 8592
    23 ส.ค. 2567