รูปนามมีอยู่ที่ตัว
ท่านอาจารย์ ตั้งต้นด้วยคำว่า “ธรรม” ก็ยังไม่พอ ใช่ไหมคะ เพียงแค่เริ่มรู้ว่า หมายความถึงสิ่งที่มีจริง แต่ว่าธรรม ๔๕ พรรษาที่ทรงแสดงในเรื่องของสิ่งที่มีจริงทั้งหมด เพราะฉะนั้นจะละเอียดสักแค่ไหน และถึง ๓ ปิฎก ตามที่ทราบกันอยู่ คือ ปิฎกที่ ๑ พระวินัยปิฎก ปิฎกที่ ๒ พระสุตตันตปิฎก ปิฎกที่ ๓ คือ พระอภิธรรมปิฎก
พระวินัยปิฎกก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติของบรรพชิตเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีสาระอื่นเลย มีแม้แต่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้ว และทรงแสดงธรรมกับใครที่ไหน เช่น โปรดชฎิล หรืออนัตตลักขณสูตร ก็อยู่ในพระวินัยปิฎก เพราะว่าพระวินัยโดยศัพท์ที่ผู้บาลี อย่างผู้ที่รู้บาลี วินัย แปลว่า กำจัด การกำจัดกิเลส กิเลสนี่มีมากเหลือเกิน กิเลสที่เกิดแล้วมีทางออก คือ ทางกายหรือทางวาจา เพราะเหตุว่าถ้าอกุศลจิตเกิด ยังไม่มีการประพฤติทางกาย ทางวาจา ก็ไม่มีผู้อื่นจะสามารถรู้ได้ แต่ถ้าถึงกับมีกายที่เคลื่อนไหวไป หรือมีวาจาแสดงให้เห็นแล้วว่า ขณะนั้นจิตเป็นอะไร เพราะว่าจิตซึ่งทุกคนมี เราก็กำลังจะไปถึงธรรมด้วยว่า ตั้งต้นด้วยคำว่า “ธรรม” แต่แจกธรรมออกเป็น ๒ ลักษณะที่ต่างกัน คือ นามธรรมกับรูปธรรม
ก่อนที่จะไปถึงธรรมอื่นซึ่งดีก็มี ไม่ดีก็มี ไม่ดีไม่ชั่วก็มี มีทุกอย่างในตัวของเรา ในโลก แต่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลย ต่อเมื่อใดที่เริ่มศึกษา เมื่อนั้นก็จะเริ่มเข้าใจขึ้นว่า ธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา คือขณะนี้ และเมื่อมีความเข้าใจละเอียดขึ้น คือสามารถเห็นว่าเป็นธรรมจริงๆ เพิ่มขึ้น การที่จะยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนก็น้อยลง
แต่ถ้าเพียงรู้จักคำว่า “ธรรม” แต่ยังไม่รู้จักว่า ธรรมมีอะไรบ้าง ก็ไม่พอ ก็จะได้ทราบว่า ธรรมมี ๒ อย่างที่ต่างกันโดยเด็ดขาด ก็คือสภาพธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้นก็จริง แต่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ทางภาษาธรรมใช้คำว่า “รูปธรรม”
เพราะฉะนั้นเวลาที่ศึกษาธรรม ทิ้งความหมายเดิมในภาษาไทย และให้เข้าใจความหมายในภาษาบาลีที่ทรงแสดงไว้ ถ้าได้ยินคำว่า “รูปธรรม” ก็หมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดขึ้นแต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้
เพราะฉะนั้นการฟังธรรม เราต้องไตร่ตรอง เสียงเป็นธรรม เป็นรูปธรรม เดิมเราเข้าใจว่า รูปนี่เราต้องมองเห็นด้วยตา ถ้าเราเปลี่ยนความคิดใหม่ จะมองเห็นหรือมองไม่เห็นก็ตาม สภาพธรรมใดก็ตามแม้มีจริง แต่สภาพธรรมนั้นไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่หิว ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่คิด ไม่จำ ลักษณะนั้นมี แต่เป็นรูปธรรม เพราะว่าไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ พอจะยกตัวอย่างได้ไหมคะ ผู้ฟังใหม่ที่สุด และได้ฟังแค่นี้ พอจะยกตัวอย่างอีกได้ไหมคะว่า อะไรบ้างเป็นรูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย สิ่งที่มีจริง ไม่จำเป็นว่าเราต้องมองเห็น อย่างเสียงนี่เรามองไม่เห็นก็มีจริง แต่เสียงไม่สามารถจะรู้ เสียงไม่เห็น เสียงไม่คิด เสียงไม่จำ เสียงไม่หิว เสียงไม่โกรธ เสียงไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เพียงปรากฏเมื่อมีของแข็งกระทบกัน สภาพธรรมอย่างหนึ่งคือเสียงก็เกิดขึ้น และปรากฏเมื่อคนนั้นมีโสตปสาท คือมีหู จึงสามารถรู้ได้ว่าเสียงมี
เพราะฉะนั้นนอกจากรูปคือเสียงแล้ว อะไรอีกที่เป็นรูป สิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นธรรม และสิ่งที่มีจริงมี ๒ อย่าง คือ สภาพอย่างหนึ่งเป็นนามธรรม สภาพอย่างหนึ่งเป็นรูปธรรม ก็ขอยกตัวอย่างรูปธรรมก่อนว่า หมายความถึงสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ได้คิดฝัน มีลักษณะปรากฏให้รู้ว่ามีจริงๆ แต่ไม่ใช่สภาพรู้ คือไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ไม่คิด ไม่จำ ไม่เห็น ไม่โกรธ ไม่รัก แต่ว่าเกิดขึ้น มีลักษณะเฉพาะคือเสียง ต้องเป็นสิ่งที่ปรากฏทางหูเท่านั้น ไม่ปรากฏทางตาเพราะมองไม่เห็นเสียง อะไรอีกคะ นอกจากเสียงที่เป็นรูป ไม่ใช่มีแต่รูปอย่างเดียวที่เป็นเสียง ลองคิดค่ะ
เพียงแค่ฟังแค่นี้แล้วคิด จะตอบได้ว่า อะไรอีกที่มีจริงแต่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรม เพราะเหตุว่าไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ลองคิดอีกซิคะว่า มีอะไรบ้าง แข็งมีจริงๆ ไหมคะ
ผู้ฟัง มีค่ะ
ท่านอาจารย์ เห็นแข็งได้ไหมคะ
ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ
ท่านอาจารย์ แต่รู้แข็งได้ไหมคะ เมื่อกระทบกับกายเท่านั้น ถ้าสิ่งใดก็ตามไม่กระทบกาย แม้เราจะจำว่าร้อนอย่างไฟ อย่างเวลาไฟไหม้ เรารู้เลยว่าไฟร้อน แต่ร้อนไม่ปรากฏที่กาย เพราะเหตุว่าไม่ได้กระทบกาย แต่เมื่อรูปนั้นกระทบกาย จะมีลักษณะของรูปที่ปรากฏ คือ เย็น ร้อน ขณะที่เย็น เราบอกได้ว่า ต้องกระทบกาย จับน้ำแข็ง ถ้าน้ำแข็งอยู่บนโต๊ะ ก็ไม่รู้สึกว่าเย็นอย่างไร แต่พอกระทบกาย จะมีลักษณะที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวปรากฏ นี่เป็นรูปทั้งหมดเลย เพราะเป็นสิ่งที่มีจริงๆ และไม่ใช่สภาพรู้ อะไรก็ตามที่ไม่ใช่สภาพรู้ก็ต้องเป็นนามธรรม
มีอีกไหมคะ นอกจากเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เสียง อะไรอีกที่เป็นรูป เป็นสิ่งที่มีจริง
ผู้ฟัง ร้อน เย็น
ท่านอาจารย์ เย็นหรือร้อนก็รู้ได้ทางกาย อ่อนหรือแข็ง รู้ได้เมื่อกระทบกาย ตึงหรือไหวรู้ได้เมื่อกระทบกาย เสียงรู้ได้เมื่อกระทบกับโสตปสาทหรือหู อะไรอีกที่เป็นรูป ที่ไม่สามารถจะรู้อะไร แต่มีจริงๆ ในวันหนึ่งๆ ธรรมคือชีวิตประจำวัน ทรงตรัสรู้ความจริงในชีวิตประจำวัน เพราะว่าถ้าขณะนี้ไม่จริง ขณะไหนจะจริง
ผู้ฟัง รักกับโกรธ
ท่านอาจารย์ เป็นความรู้สึก ไม่ใช่รูปธรรมค่ะ ความรู้สึกไม่ใช่รูปธรรม
อ.นิภัทร ทางจมูกมีไหม ทางลิ้นมีไหม
ท่านอาจารย์ โกรธนี่เป็นความรู้สึก คนตายมีแต่รูป แต่ไม่โกรธ เพราะฉะนั้นความโกรธเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม
ผู้ฟัง เค็มกับหวาน
ท่านอาจารย์ ใช่ค่ะ ถูกต้อง เค็มกับหวาน แน่นอนเป็นรูป รู้ได้ทางลิ้นค่ะ ขนมหวานๆ อยู่บนโต๊ะ ไม่มีทางรู้ กระทบลิ้น สัมผัสลิ้นเมื่อไร จะมีสภาพนามธรรมที่ลิ้มรส คือสามารถจะรู้ว่า รสหวานนั้นแค่ไหน หวานอย่างไร ต้องเป็นนามธรรมที่รู้
เพราะฉะนั้นสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดจนตายกี่ภพกี่ชาติ จะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเทวดา เป็นพรหม ก็มีสภาพธรรม ๒ อย่างซึ่งต่างกัน คือ นามธรรม และรูปธรรม รูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่นามธรรมสามารถรู้ได้ทุกอย่าง เห็นก็ได้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นอย่างนี้ๆ กำลังปรากฏ ได้ยินก็ได้ เสียงกำลังเป็นอย่างนี้ๆ นะ เพราะมีสภาพที่กำลังได้ยิน หรือรู้เสียงที่กำลังปรากฏในขณะนั้น
เพราะฉะนั้นก่อนอื่นเมื่อฟังคำว่า “ธรรม” ก็ต้องเข้าใจคำนี้จริงๆ ได้ยินได้ฟังอะไร ขอให้เข้าใจจริงๆ อย่าเปลี่ยนแปลง อย่าไปคิดว่า ก็เรามองไม่เห็น จะเป็นรูปได้อย่างไร นั่นคือเราไม่เข้าใจความหมายว่า รูปเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ไม่ใช่สภาพรู้ คือไม่สามารถจะรู้อะไรได้
เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าเราจะมองไม่เห็น อย่างหวาน เรามองไม่เห็น เค็มเราก็มองไม่เห็น ลองคิดดูถึงรสที่เรารับประทาน จะเป็นกล้วย มีเปลือกอยู่ข้างนอก ต้องปอกออกมา และรสที่อยู่ในเนื้อกล้วย จิตหรือสภาพรู้ยังสามารถลิ้มได้ว่า รสนั้นมีลักษณะอย่างไร รสทุเรียน จิตก็สามารถจะลิ้มได้ ขอให้มากระทบสัมผัสลิ้น จิตที่เป็นธาตุรู้หรือสภาพรู้ สามารถจะรู้สิ่งนั้นได้
เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ใจร้อนเกินไป หรือเราอาจจะขอความหมายของคำว่า นามธรรม และรูปธรรมก็ได้ คือ รูปธรรม หมายความถึงสิ่งที่มีจริง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ส่วนนามธรรมก็เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่มีรูปร่างใดๆ ทั้งสิ้น ใครจะไปเอาตามอง พยายามแสวงหา เอาเครื่องมือวิทยาศาสตร์ไปจับให้รู้ลักษณะของนามธรรม เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่านามธรรมหรือนามธาตุเป็นสิ่งที่มีจริง แน่นอน เป็นธาตุ แต่ธาตุชนิดนี้เกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นธาตุรู้ จะไม่รู้ไม่ได้ ถ้าไม่รู้คือรูปธาตุ แต่ถ้ารู้คือนามธาตุ และการรู้ที่นี่ ไม่ใช่รู้อย่างปัญญาว่า สิ่งนี้คืออะไร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อะไร ธาตุรู้นี้เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏให้รู้ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง แต่มากกว่านั้นก็ทั้งทางใจด้วย แต่เราจะพูดถึงเพียงให้เราสามารถจะเห็นความต่างของลักษณะที่เป็นนามธรรมกับลักษณะที่เป็นรูปธรรม
พอจะแยกได้ใช่ไหมคะ รสไม่ใช่สภาพที่กำลังรู้รส รสไม่รู้อะไรเลย รสในขนม รสในผลไม้ รสก็คือรส ซึ่งไม่รู้อะไร แต่มีสภาพที่ลิ้มรสทันทีที่กระทบลิ้น ขณะนั้นก็เป็นธาตุชนิดหนึ่งเกิดขึ้นรู้รสนั้น แล้วก็ดับ ขณะที่เห็นไม่ได้ลิ้มรสอะไรเลย ขณะที่ได้ยินก็ไม่ได้ลิ้มรสอะไรเลย ขณะที่เห็นก็คือรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นทางตา โดยอาศัยตาขณะนี้ มีลักษณะอย่างนี้ๆ คือ รู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏให้รู้ทางหนึ่งทางใด พอจะแยกลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ได้ไหมคะ
นี่คือขั้นต้นที่สุด นี่คือพื้นฐาน ไม่ได้อยู่ในหนังสือเลย ใช่ไหมคะ อ่อนหรือแข็งไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่อยู่ที่ตัว เวลาที่กระทบสัมผัส มีจริงๆ