ต้องรู้ว่า บุญคืออะไร


    ผู้ฟัง ขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์แทนเพื่อนๆ ใหม่ๆ มักจะเข้าใจว่า เวลามาฟังธรรมแล้วไปปฏิบัติอย่างที่คุณจุ๋มพูดเมื่อกี้นี้ แล้วก็บอกว่าได้บุญ ได้กุศลนะ สะสมบารมีนะ แต่แค่มาฟังวันนี้ ก็คงจะพูดกันแค่นี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วได้บุญตรงไหน ได้กุศลตรงไหน จะละกิเลสได้ตรงไหน

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า บุญคืออะไร คือทุกอย่างต้องคืออะไร ก่อนที่เราจะพูดก้าวไกลไปมาก ต้องรู้ว่าคืออะไรแล้วถึงจะพูดได้

    อย่างธรรมคืออะไร เราต้องพูดก่อน แล้วเราถึงจะบอกได้ว่า ธรรมมี ๒ อย่าง คือ นามธรรม และรูปธรรม แต่ถ้าไม่พูดให้เข้าใจว่า ธรรมคืออะไร แล้วไปพูดเรื่องนามธรรม และรูปธรรมเลย พูดเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องธรรมอื่นๆ ก็ไม่สามารถเข้าใจได้ แต่ถ้าเข้าใจตั้งแต่ต้นตามลำดับ คือ ธรรมคืออะไร

    เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงปัญหานี้ก็ต้องตั้งต้นด้วยบุญคืออะไร ถ้ายังไม่รู้จักบุญ แล้วจะเอาอะไรคะ อยากจะได้อะไร บุญอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ก็เป็นเรื่องไม่รู้ไปตลอด จะต้องมีความเข้าใจตั้งแต่ต้นที่ถูกต้องในเรื่องของธรรม

    ถ้ายังไม่มีความเข้าใจละเอียด สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นเพียงผิวเผิน อย่างคำว่า “ปฏิปัตติ” จะใช้คำแปลว่าอะไร จะไม่ต้องไปที่ไหนอย่างไร ก็แล้วแต่ ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ ก็คือขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคำสอนที่จะให้ผู้ฟังได้ไตร่ตรอง ได้พิจารณาจนเป็นปัญญา แม้เพียงเล็กน้อย แต่ก็เป็นปัญญา คือเป็นความเห็นที่ถูกต้อง ซึ่งจะต้องเป็นไปตามลำดับ

    เพราะฉะนั้นถ้าเรายังไม่เข้าใจเรื่องธรรม เราก็ไม่เข้าใจทั้งหมดเลย แต่เมื่อเราเข้าใจธรรมหน่อยหนึ่ง แล้วก็รู้ว่า ธรรมมี ๒ อย่าง คือ นามธรรม และรูปธรรม เราสามารถพิจารณาสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังว่า ปัญญาของเราที่จะรู้จริงๆ เข้าใจจริงๆ เพิ่มขึ้นคืออย่างไร

    เพราะฉะนั้นก็จะถาม เพราะดิฉันเป็นคนที่ชอบถาม ถามให้คิด แล้วให้ตอบตามความคิดของตัวเอง บุญเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ใครก็ได้ที่อยากจะตอบ เรามี ๒ คำ จากคำว่า ธรรม เราก็มาแยกออกเป็นลักษณะที่ต่างกันของธรรม ต้องเข้าใจ ๒ อย่างนี้กระจ่างชัด ไม่ปะปน ไม่ใช่คิดว่า ชื่ออย่างนี้ เข้าใจแล้ว ได้ยินว่า ความหมายคืออย่างนี้เข้าใจแล้ว ไม่ใช่ค่ะ แต่ต้องเข้าใจจริงๆ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจจริงๆ เพราะเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก

    เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่า “บุญ” เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าเป็นนามธรรมค่ะ

    ท่านอาจารย์ ถ้ารูปสวยๆ เป็นบุญหรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง ถ้าจะพูดในความหมายว่า เป็นสิ่งที่เป็นบุญเก่ามาจากเดิมก็น่าจะได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ คำถามว่า รูปสวยๆ เป็นบุญหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เสียงเพราะๆ เป็นบุญหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นบุญไม่ใช่รูปธรรม รูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ทำดีทำชั่วไม่ได้ คิดไม่ได้ อะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องของรูปหรือวัตถุ จะไม่ใช่บุญ แต่บุญต้องหมายความถึงสภาพของนามธรรม ซึ่งนามธรรมแยกไปอีกว่า มี ๒ อย่าง เมื่อกี้เราเรียนเรื่องธรรม แล้วธรรมมี ๒ อย่าง คือ นามธรรม และรูปธรรม แล้วเราทราบแล้วว่า รูปนี่มองเห็นหรือมองไม่เห็นก็ตาม ถ้าสิ่งนั้นเกิด แต่ไม่สามารถรู้อะไรได้ ก็เป็นรูปธรรมทั้งหมด ซึ่งเรายกตัวอย่าง เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หรือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ก็เพียงกระทบตาแล้วปรากฏให้เห็นลักษณะที่กำลังเป็นอย่างนี้ ในขณะนี้ เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะทุกคนกำลังเห็นสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้มีจริง ก็เป็นแต่เพียงสภาพของธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นรูปธรรม

    แต่นามธรรมมี ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก บางคนซึ่งยังไม่เคยได้ยินเลย จะได้เข้าใจหรือคิดว่าเข้าใจเฉพาะคำว่า “จิต” จะอ่านหนังสือเล่มไหนก็ตาม จะเป็นจิตวิทยา นักปรัชญา หรืออะไรก็ตามแต่ ก็จะมีแต่คำว่า จิต เขาจะใช้คำว่า จิตใต้สำนึก หรืออะไรๆ ก็แล้วแต่ เยอะแยะ แต่ไม่มีคำว่า “เจตสิก” เพราะว่าคนนั้นไม่สามารถจะรู้ว่า นามธรรมหรือนามธาตุยังต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ จิตมีจริงๆ ทุกคนรู้จัก แล้วทุกคนก็รู้จักลักษณะที่โกรธ ลักษณะที่ชัง ลักษณะที่ชอบ ลักษณะที่เมตตา ลักษณะที่กรุณา เพราะเป็นชีวิตประจำวันที่มีจริงๆ ทุกคนมี แต่นั่นไม่ใช่จิตค่ะ เป็นเจตสิก

    เพราะฉะนั้นเจตสิกคืออะไร เจตสิกก็คือนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม เจตสิกเป็นนามธรรมที่ต้องเกิดกับจิต ไม่มีเจตสิกใดเลยที่แยกเกิดตามลำพัง โดยไม่เกิดกับจิต แล้วทุกครั้งที่จิตเกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย คำว่า “เจ – ตะ – สิ – กะ” ตามภาษาบาลีต้องออกเสียงทุกตัว ขอให้เป็นคำใหม่วันนี้คำหนึ่ง คือ คำว่า “เจตสิก” หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่เกิดกับจิต เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต ไม่แยกกันเลย และจิตเป็นสภาพรู้ หรือเป็นธาตุรู้ ซึ่งต่างกับรูปธรรม

    เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตเกิดขึ้น ไม่รู้ไม่ได้ ขณะนี้เห็นไหม เห็น คือจิตเห็น ขณะนี้ได้ยินไหม ได้ยิน ได้ยินต้องเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิด ก็ไม่มีการได้ยิน

    เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่มีที่ปรากฏเพราะเกิดขึ้น แล้วคนที่ไม่รู้ความจริงก็ไม่สามารถบอกได้ว่า สิ่งนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ว่า สภาพธรรมใดก็ตามที่จะเกิดขึ้นอย่างเดียวตามลำพังไม่ได้ ต้องมีปัจจัย สภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วยปรุงแต่งให้เป็นต่างๆ อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นจิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ และเจตสิกจะเกิดโดยไม่มีจิตไม่ได้ เช่น ถ้าเราชอบดอกไม้สวยๆ เพราะจิตเห็น จิตเป็นธาตุที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ คือ ทางตากำลังเห็นเป็นจิต แต่ชอบไม่ใช่จิตแล้วค่ะ เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต ชอบอะไร ชอบสิ่งที่จิตเห็น จะเป็นดอกไม้ จะเป็นเสื้อผ้า จะเป็นอะไรก็ตามแต่

    เพราะฉะนั้นความชอบ ความชัง ทั้งหมด ความดี ความชั่ว อย่างที่กล่าวถึงเมื่อกี้นี้ว่า บาป บุญ ก็คือเจตสิก ไม่ใช่จิต

    นี่ค่ะ คือถ้าเราจะพูดเรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องอะไร แต่ถ้าเราไม่พูดถึงเรื่องสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งมีประเภทใหญ่ๆ คือ ๑. เป็นธรรม ๒. ธรรมก็คือนามธรรม และรูปธรรม แต่สำหรับนามธรรมยังแยกเป็น ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก

    เรากำลังศึกษาธรรมที่อยู่ในอภิธรรมปิฎก คือ เป็นธรรมล้วนๆ ไม่มีชื่อว่า เป็นท่านพระสารีบุตร หรือท่านพระโมคคัลลานะ ไม่มีชื่อสมมติเรียกธรรมนั้น แต่ตัวธรรมนั้นมีจริง

    เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรม แล้วก็ทรงบัญญัติคำให้เราเข้าใจว่า หมายความถึงธรรมอะไร

    เพราะฉะนั้นเวลานี้ความรู้ของเราเพิ่มขึ้นว่า ธรรมที่มีจริงๆ เป็นปรมัตถธรรม ซึ่งใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของธรรมนั้นได้เลย ปรมัตถธรรมซึ่งเกิดอยู่เป็นปกติในชีวิตประจำวันก็มี ๓ คือ รูปธรรมเกิด เพราะปัจจัยปรุงแต่ง แล้วก็ดับ แล้วก็ไม่รู้อะไรเลย แต่สำหรับขณะที่กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด กำลังชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้นเป็นนามธรรมทั้งหมด เป็นสภาพธรรมที่เกิด แต่ว่าต่างกันคือจิต เป็นสภาพที่เพียงเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ ในการเห็น ในการได้ยิน ในการคิดนึกก็แล้วแต่ คือ มีสิ่งที่ปรากฏให้จิตรู้ จิตก็รู้ จิตมีหน้าที่รู้อย่างเดียว คือ รู้ว่าสิ่งนั้นมีลักษณะอย่างไร เสียงขณะนี้ที่กำลังปรากฏ กำลังได้ยินเสียง กำลังได้ยิน เสียงนั้นมีลักษณะอย่างไร นั่นเป็นหน้าที่ของจิต แต่ว่านอกจากนั้นทั้งหมดคือเจตสิก

    ซึ่งถ้าจะเพิ่มเติม โดยคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ไม่น่าจะเบื่อ เพราะว่าเป็นจริงในชีวิตประจำวันของเรา ก็จะได้ทราบว่า เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ชนิด เป็นเจตสิกที่เป็นกลางๆ จะเกิดกับจิตที่ดีก็ได้ เกิดกับจิตที่ไม่ดีก็ได้ ส่วนเจตสิกอีกพวกหนึ่ง เป็นเจตสิกไม่ดี เมื่อเกิดขึ้นขณะใด จิตขณะนั้นจะดีไม่ได้เลย จะต้องไม่ดีประการหนึ่งประการใด คือ เป็นโลภะ หรือเป็นโทสะ หรือเป็นโมหะ เป็นอิสสา เป็นมานะ เป็นความสำคัญตน และก็เป็นฝ่ายอกุศลทั้งหมด แล้วทางฝ่ายกุศลก็มี ที่เป็นโสภณเจตสิก เราใช้คำว่า “โสภณ” หมายความถึงเจตสิกที่ดีงาม จะเกิดกับจิตที่เป็นกุศล หรือจิตที่ดีงามทั้งหมด

    แค่นี้ก็คงจะไม่ยากเกินไป และน่าสนใจที่จะเข้าใจตัวเองว่า แท้ที่จริงแล้วก็คือธรรม หลงคิดว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา แต่ความจริงก็คือธรรม ได้แก่ จิต เจตสิก และรูปซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยในวันหนึ่งๆ จนกว่าปัญญาของเราจะเห็นจริงว่า เป็นธรรมจริงๆ ธรรมแต่ละอย่าง ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ เกิดแล้วดับทุกขณะ ไม่ใช่ไปเกิดตอนเกิด แล้วไปหมดตอนตาย แต่แม้ในขณะนี้เอง สภาพธรรมที่เกิดก็ดับ แล้วก็มีปัจจัยทำให้เกิดอีกแล้วก็ดับ แล้วก็เกิดอีก แล้วก็ดับ สืบต่อตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้ ย้อนไปก็ได้ จากขณะนี้ถึงขณะเมื่อกี้นี้ ถึงขณะเมื่อเช้านี้ ถึงขณะเมื่อคืนนี้ ก็คือจิตเกิดดับสืบต่อ เป็นจิตนานาประเภท ไม่ใช่จิตเดียวกัน เหมือนกับแสงเทียน เวลาที่เราจุดเทียนมีแสงเทียนเกิดขึ้นจากไส้เทียน ไม่ใช่อันเดียวกัน ไส้ไหนที่ทำให้เกิดความสว่างนั้น ไฟอันนั้นก็คืออันนั้นแล้วก็ดับ แล้วก็มีไส้ต่อไป ที่ทำให้เกิดความสว่างต่อไปทีละ ๑ ขณะ จนกว่าจะหมดไส้ หรือหมดเหตุปัจจัย หรือถ้าจะอุปมาก็เหมือนตะเกียงที่หมดน้ำมัน หมดไส้ ก็ไม่มีการเกิดอีก แต่ก็ต้องทราบว่า ธรรมนั้นละเอียดยิ่งกว่านี้อีก จำแนกออกเป็นมากมายหลายอย่าง จิตมีถึง ๘๙ ชนิดโดยประเภทใหญ่ๆ และเจตสิก ๕๒ ประเภท ส่วนรูปทั้งหมดมี ๒๘ แล้วแยกละเอียดออกไปอีก เป็นสภาวรูป อสภาวรูป


    หมายเลข 8602
    23 ส.ค. 2567