หน้าที่ของจิต ๑
ผู้ฟัง ธรรมคือสิ่งที่มีจริง แยกออกเป็น ๒ คือ นามธรรม และรูปธรรม นามธรรมก็คือลักษณะที่รู้ เป็นนามธรรม รูปธรรมก็คือไม่รู้ เรียนถามว่า จิต และเจตสิกเป็นนามธรรม การรู้ของจิต และการรู้ของเจตสิกต่างกันอย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ ต้องทราบลักษณะของจิตเสียก่อน ใช้คำว่า มนะ มโนก็ได้ หทย ก็ได้ เป็นมนินทรีย์ คือเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ ถ้าจะเพิ่มอย่างที่คุณสุรีย์เติมมา โดยที่ทุกคนจะฟัง หรือจะผ่านไป ไม่ได้สังเกต คือคำว่า “อารมณ์”
ภาษาบาลีจะออกเสียงว่า “อา – รัม – มะ – นะ” หมายความถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้ เพราะว่าเมื่อมีธาตุรู้ หรือสภาพรู้ จะไม่มีสิ่งที่ถูกรู้ไม่ได้
เพราะฉะนั้นเมื่อมีจิตเกิดขึ้นรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ นี่คือความหมายของธรรม ไม่ใช่ความหมายในภาษาไทย ซึ่งเราเคยใช้มาก่อน ถ้าความหมายตรงๆ ก็คือว่า เป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้ เช่น ขณะนี้เสียงกำลังปรากฏ เสียงเป็นอารมณ์ หรืออารัมมณะของจิตได้ยิน คือ จิตรู้อะไร สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิตนั้น
แต่ในภาษาไทยเราบอกว่า วันนี้อารมณ์ดี หมายความถึงปลายเหตุ เราต้องเห็นสิ่งที่ดีๆ ได้ยินเสียงดีๆ ได้กลิ่นดีๆ ลิ้มรสดีๆ กระทบสัมผัสสิ่งดีๆ ไม่โกรธ สบาย ขณะนั้นเราก็รู้ว่า เราอารมณ์ดี เพราะว่าไม่มีอะไรที่ทำให้ขุ่นเคืองใจ แต่ปลายเหตุ ต้นเหตุจริงๆ คือสิ่งที่จิตกำลังรู้
เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ต้องทิ้งความหมายเก่าที่เราเคยเข้าใจ แล้วก็พยายามเข้าใจความหมายจริงๆ ของคำนั้น เช่น เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ จำกัดความตายตัวเลย ถ้าจิตรู้สิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต
นิพพานมีจริง ทุกคนได้ยิน ไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้ว่านิพพานเป็นอย่างไร แต่ได้ยิน ขณะที่เสียงมีปรากฏ มีคำว่า “นิพพาน” คำนั้นจิตกำลังคิดถึงคำจากเสียงที่ได้ยิน
เพราะฉะนั้นสภาพธรรมจะแยกละเอียดยิบยิ่งกว่าเสี้ยววินาที การเกิดดับของจิตเร็วจนกระทั่งไม่ปรากฏ จนกระทั่งเหมือนกับไม่ดับเลย ขณะนี้เหมือนสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏตลอดเวลา แท้ที่จริงขณะที่ได้ยินเสียง จิตได้ยินขณะนั้นไม่เห็นอะไร เพียงแต่กำลังมีเสียงเป็นอารมณ์ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก แต่ว่าสืบต่อจนกระทั่งปรากฏเหมือนกับว่า ทั้งเห็น ทั้งได้ยินพร้อมกัน แต่สำหรับคนหนึ่งๆ จะมีจิตเกิดซ้อนกัน ๒ ขณะ ๓ ขณะ ๔ ขณะไม่ได้เลย เพราะว่าถ้ากล่าวถึงโดยนัยของธาตุ คือ ความเป็นสภาพของจิต จิตเป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นธาตุรู้ มีเหตุปัจจัยก็เกิด เกิดแล้วก็รู้ ธาตุชนิดนี้เป็นปัจจัย ใช้คำว่า “ปัจจัย” หมายความว่า เป็นสิ่งที่เมื่อจิตนี้ดับลงแล้ว จะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ไม่หยุดเลยในสังสารวัฏฏ์
เราเกิดมานานเท่าไรไม่ทราบ เพราะว่าจิตเกิดดับสืบต่อมาจากขณะหนึ่งไปอีกขณะหนึ่ง โดยไม่รู้ตัวเลย ทีละ ๑ ขณะไปเรื่อยๆ นับไม่ถ้วนเลย เพราะไม่สามารถที่จะรู้ว่า ขณะนี้กี่ขณะแล้ว
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า คนหนึ่งต้องมีจิตเพียง ๑ ขณะ เพราะจิตเป็นอนันตรปัจจัยในตัวของจิตเองที่ทันทีที่จิตนี้ดับ ก็จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น แต่ถ้าจิตนี้ยังไม่ดับ จิตอื่นจะเกิดไม่ได้
เพราะฉะนั้นปัจจัยในจิต ๑ ขณะมีหลายอย่าง ที่ทรงแสดงโดยชื่อภาษาบาลี ถ้าทุกคนจะได้ยินชื่อคำว่า อนันต์ อนันตร แปลว่า ไม่มีระหว่างคั่น
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การเกิดดับสืบต่อของจิตโดยไม่มีระหว่างคั่น คือ อนันตร จิตไม่หยุดเกิด เพราะว่าทันทีที่จิตขณะหนึ่งดับ จิตที่ดับไปเป็นอนันตรปัจจัยทำให้จิตขณะต่อไปเกิด
เพราะฉะนั้นเราก็เพิ่มความรู้ความเข้าใจในภาษา ในความหมายในลักษณะของจิตว่า จิตเป็นเพียงธรรมที่เกิดแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นอารมณ์ แต่ไม่จำ ไม่รู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ไม่ได้รัก ไม่ได้ชัง เพราะว่าจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ ทำหน้าที่ คือ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ ส่วนการรัก การชัง ความโกรธ ความริษยา ความเมตตา อะไรอื่น เป็นลักษณะของเจตสิกแต่ละชนิดซึ่งเกิดกับจิต พร้อมกับจิต และก็รู้อารมณ์เดียวกับจิต ไม่ว่าจิตเห็นอะไร จำสิ่งนั้น หน้าที่ของเจตสิกหนึ่ง ที่เราสามารถจะจำได้ว่า ขณะนี้มีอะไร เป็นจิต เป็นนามธรรม เพราะรูปไม่รู้อะไร ขณะที่จำนั้นก็คือเจตสิก ไม่ใช่จิต แล้วก็เป็นนามธรรม
แม้แต่การเข้าใจคำว่า จิตหรือเจตสิก ขอให้เข้าใจจริงๆ อย่าเพิ่งผ่านไป และต่อไปเวลาที่พูดถึงเรื่องบุญ เราจะรู้ได้เลยว่า หมายความถึงจิต หรือหมายความถึงเจตสิก ต้องละเอียดที่จะเข้าใจในความไม่ใช่ตัวตน หรือไม่เป็นตัวตน
ผู้ฟัง อาจารย์หมายความว่า จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์อย่างเดียว ส่วนเจตสิกล่ะคะ เขาก็เป็นนามธรรม
ท่านอาจารย์ แต่ละอย่างจะทำหน้าที่ของตน