เมื่อรู้แล้วจะกลับไปไม่รู้ได้มั้ย
ผู้ฟัง พูดถึงขณะที่สติปัฏฐานเกิดแต่ละครั้ง ปัญญาต้องเกิดร่วมด้วย แต่ละครั้งนั้นปัญญาก็ไม่เท่ากัน อาจจะบางครั้งมาก บางครั้งน้อย ก็เป็นอย่างนี้สลับกันไปได้ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ปัญญาที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นค่อยๆ แล้วจะลดลงไปไหม
ผู้ฟัง นี่ค่ะที่เรียนถามอาจารย์ เพราะบางครั้งเหมือนกับว่า ไม่รู้เหมือนที่เคยรู้ อะไรทำนองนั้น
ท่านอาจารย์ แต่สิ่งที่รู้แล้ว จะกลับไม่รู้ได้ไหม
ผู้ฟัง ก็คงจะไม่ได้ แต่หมายความว่าขณะที่เกิด อาจจะไม่เกิดเหมือนกับที่เคยรู้แล้ว
ท่านอาจารย์ แต่อันนั้นหายไปได้ไหม อันที่เคยเกิดแล้ว
ผู้ฟัง ไม่หายค่ะ สะสม ทีนี้ถ้าพูดเลยไปสักหน่อยถึงขั้นวิปัสสนาญาณ การรู้ลักษณะของการเกิดดับ แสดงว่าความต่างกันคือ สติปัฏฐานเกิดรู้อย่างหนึ่งอย่างใด รูปอย่าง นามอย่าง แต่ถ้าเป็นลักษณะของวิปัสสนาญาณแล้ว ก็ต้องแสดงว่า ทั้งรูปก็เกิดไปแล้ว แล้วนามเกิด ทั้ง ๒ อย่างอาจจะเป็นวาระที่ต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งต่างกับสติปัฏฐาน ซึ่งจะเกิดก็เกิดขึ้นทีละครั้ง เข้าใจถูกหรือเปล่าคะ
ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานเกิดต่อกันก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทีละครั้ง
ผู้ฟัง ต่อกันแล้วก็สลับกันก็ได้
ท่านอาจารย์ แล้วแต่ค่ะ เป็นเรื่องของอนัตตาทั้งหมด
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นสติปัฏฐานเกิดต่อ ในกรณีที่สติปัฏฐานเกิด และก็สลับกับขณะที่สติปัฏฐานไม่ได้เกิด ทีนี้พอขณะที่สติปัฏฐานเกิด และขณะที่สติปัฏฐานไม่เกิด ก็ไปรู้ลักษณะที่เคยเกิดมาแล้ว ก็จะสลับกันอย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน
ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานเกิด สภาพธรรมที่ปรากฏดับ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วสติปัฏฐานก็เกิดใหม่ แล้วก็มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็ดับ ก็หมดไป
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานเกิดต่อเนื่องกันก็ได้ หรือว่าเกิดแล้วก็ไม่เกิด สลับกันอย่างนี้
ท่านอาจารย์ อันนี้คือการที่เราจะเป็นผู้ที่มั่นคงในความเป็นอนัตตา คือไม่ต้องไปมีกฎเกณฑ์อะไร
ผู้ฟัง เพราะเป็นอนัตตาอยู่แล้ว
ท่านอาจารย์ ใช่ คำถามเรื่องอัตตาจะไม่เข้ามาเลย ถ้ามีความมั่นคงเรื่องอนัตตา แต่คำถามเรื่องอัตตาจะเข้ามาเรื่อยๆ ถ้าไม่มั่นคงในความเป็นอนัตตา ถ้าเราจะถามเพื่อกฎเกณฑ์ให้บอกมาว่า ให้ทำหรือไม่ให้ทำ เป็นอัตตา หรืออนัตตา
ผู้ฟัง อีกเรื่องหนึ่งเวลาสนทนาธรรมกันในเรื่องอย่างนี้ แล้วถ้าใครพูดว่า “กำหนดรู้” ตัวนั้น ดิฉันคิดว่ายังเข้าใจผิดมากใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ คำพูดต้องให้กระจ่าง “กำหนด” คืออะไร ถ้าเราไม่กระจ่าง เราก็พูดตามเขาไป เขาให้เรากำหนด เราก็กำหนด แล้วเราก็ไปบอกคนอื่นให้กำหนด ก็กำหนดกันไปหมด แต่ไม่รู้ว่า กำหนดคืออะไร
ผู้ฟัง พี่บงเกิดบ่อยไหมว่า สติปัฏฐานเกิดบ่อย แล้วก็รู้มาก คราวหลังก็มารู้น้อย แล้วคราวหลังก็อาจจะรู้มากอีก เป็นอย่างนี้บ่อยไหมครับ
ท่านอาจารย์ คำถามทั้งหมดเหมือนกับต้องการให้รู้มาก แล้วก็เร็วๆ ด้วย ใช่ไหมคะ แต่จริงๆ แต่ละคนเป็นเรื่องอบรมค่ะ จะเข้าใจความหมายของภาวนาตั้งแต่ขั้นการฟัง ฟังเรายังต้องฟังมากแค่ไหน คิดดูซิคะ ไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ อยากให้เกิดก็ไม่ได้
เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องอยาก และไม่ใช่เรื่องกั้นไม่ให้เกิด แต่เป็นเรื่องที่ขณะนี้เป็นเครื่องทดสอบปัญญา ทุกๆ ครั้งไม่ว่าเราจะอ่านมามาก ฟังมามาก สติระลึกบ้าง ไม่ระลึกบ้าง สภาพธรรมเป็นเครื่องสอบตลอดเวลาว่า สามารถเข้าใจลักษณะแท้จริงของสภาพธรรมที่ฟัง ที่ศึกษา ที่สติระลึกได้แค่ไหน ก็เป็นผู้ตรง เช่นในขณะที่กำลังเห็น ทุกคนมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง แน่นอน กำลังปรากฏ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่เรียกชื่อก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเรียกเลยก็ได้ แต่มีจริงๆ และสิ่งนั้นก็คือสิ่งที่เพียงสามารถปรากฏเมื่อกระทบจักขุปสาท แล้วทำไมจะไปมีคน มีวัตถุสิ่งต่างๆ ในสิ่งที่ปรากฏ แต่เมื่อมีความรู้สึกหรือความเข้าใจในสมมติบัญญัติว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร ก็เพราะความทรงจำ
เพราะฉะนั้นถ้าขณะนั้นที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นจริงๆ ว่า ลักษณะนี้ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น
นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการจะคลาย ไม่ว่าจะเห็นเมื่อไร ก็รู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏจริงๆ คือต้องตรงกับปริยัติ และต้องเป็นการอบรมด้วยสติที่ระลึก ไม่ใช่เรื่องราว แต่ว่ากำลังเข้าใจถูกต้องว่า สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งคนตาบอดไม่เห็น ใครจะตาบอดเดี๋ยวนี้ สิ่งนั้นไม่ปรากฏ
เพราะฉะนั้นก็เป็นเพียงสิ่งนั้น จะเป็นคน เป็นสัตว์ ก็ต่อเมื่อทรงจำไว้ในสีสันวัณณะต่างๆ เพราะฉะนั้นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จึงต้องรู้จักลักษณะของสัญญา ขันธ์ ๕ หมดเลย จะไม่ขาดขันธ์หนึ่งขันธ์ใดเลย มิฉะนั้นก็จะคลายความเป็นสัตว์ บุคคลในสิ่งที่ปรากฏได้อย่างไร ในเมื่อไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพราะความทรงจำ ซึ่งเป็นขณะที่รู้ว่าอะไร หรือเพียงแต่การจะคิด เราจะคิดเรื่องอะไร ก็ตาม จะคิดคำว่า “พาราณสี” ถ้าไม่มีความจำเสียง เราจะเกิดความคิดอย่างนี้ได้ไหม
เพราะฉะนั้นทุกอย่างก็มีสัญญาเจตสิกเป็นส่วนประกอบที่ใหญ่มาก ที่จะทำให้เราเป็นเรื่องเป็นราวทุกอย่าง เพราะความทรงจำที่ยึดมั่นว่าสิ่งนั้นมีจริงๆ แต่ความจริงไม่ใช่ สิ่งมีจริงคือสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดแล้วดับอยู่ทุกขณะ แม้ในขณะนี้เองที่กำลังพูดเรื่องสัญญา สัญญากับจิตขณะก่อนก็ดับ เพราะจริงๆ แล้วต้องมีการตรึกคือคิดถึงคำ แล้วเสียงก็เปล่งออกไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องมีใครไปทำว่า นึกก่อนนะ แล้วเดี๋ยวจะเปิดปาก อ้าปากให้ลิ้นกระทบฟันที่จะให้เสียงปรากฏ แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องของสภาพธรรมทั้งนั้น ที่จิตเป็นปัจจัยให้รูปชนิดใดเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นแม้ในขณะนั้น ที่รู้ก็รู้ว่า เพียงนึก ตรึก เสียงออกมาแล้ว เร็วมาก ก็จะมีการเข้าใจในเรื่องของนามธรรม และรูปธรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ละ แม้แต่ว่าความคิดก็คือความจำ ความทรงจำขณะนั้นมีอยู่ แล้ววิตกเจตสิกก็ไม่ใช่ความจำ แต่เป็นความคิด คือ ตรึกถึงเรื่องที่จำได้ ก็จะเข้าใจสภาพธรรม ตัวธรรมจริงๆ เราไปเรียนลักขณาทิจตุกะของวิตกเจตสิกบ้าง ของสัญญาเจตสิกบ้าง แต่เวลาที่กำลังเห็น สัญญาเจตสิกหรือเปล่าที่จำ
ค่อยๆ เข้าใจในเรื่องของการที่จะรู้บัญญัติ รู้คำ รู้ความหมายว่า เป็นเรื่องของสัญญา เพราะฉะนั้นสัญญาก็จำสิ่งที่มีจริงๆ ด้วย แล้วก็จำเรื่องราวบัญญัติต่างๆ ด้วย แต่ชีวิตก็หมุนไปเร็วมาก ถ้าไม่มีพระธรรมที่ทรงแสดงละเอียดยิบ ก็ไม่มีทางที่จะละความเป็นตัวตนได้ เพราะว่ามันเร็วเกินกว่าที่จะไปเห็นความจริงของแม้แต่ขันธ์ ๕ ซึ่งเกิดดับ อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น และก็ดับอย่างเร็ว
ประโยชน์แท้จริงก็คือเรียน แล้วก็เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งขณะใดที่สภาพนี้กำลังปรากฏ แล้วค่อยๆ เข้าใจ นั่นคือสติปัฏฐาน
ใช้คำเพื่อให้รู้ว่า ขณะนั้นต่างกับขณะที่ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ขณะนี้มีสภาพธรรมปรากฏ แล้วค่อยๆ เข้าใจ แม้แต่ทางตาก็ธรรมดาๆ ไม่ใช่ไปทำอื่นเลย แต่การระลึกของเราเริ่มจะมีบ้างว่า ขณะนี้ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ถ้าพระอาทิตย์แตก โลกมืด ขณะนี้มีจักขุปสาท แต่เห็นมืด ไม่ใช่เห็นสิ่งที่ปรากฏ
อันนี้เราก็จะเข้าใจปัจจัยเพิ่มขึ้นว่า แสงสว่างก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้มีความทรงจำในสีสันวัณณะที่ปรากฏ
ธรรมทั้งหมดที่เรียนจะกระจ่างเมื่ออบรมเจริญสติปัฏฐานด้วย