อวิชชาเป็นปัจจัยให้ทำบุญทำบาป
ผู้ฟัง เวลาที่เราศึกษาธรรม ไม่ว่าจะเป็นขันธ์ จะเป็นอายตนะ จะเป็นธาตุ ๑๘ หรือจะเป็นปฏิจจสมุปปาท จุดประสงค์ของการศึกษาก็คือศึกษาเพื่อให้รู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ ตามความเป็นจริง
ท่านอาจารย์ เพราะว่าถ้าไม่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมเดี๋ยวนี้ ปฏิจจสมุปปาทก็ไม่มีความหมายอะไรเลย แต่ถ้ารู้ว่า ลักษณะนี้เป็นนามธรรม ลักษณะนั้นเป็นรูปธรรม ความเป็นปฏิจจสมุปปาทจะค่อยๆ ปรากฏ เมื่อรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมก่อน คือธรรมก็มีนามธรรมกับรูปธรรม แต่ส่วนคำขยายต่างๆ ที่จะให้เห็นความเป็นอนัตตา เช่นเป็นอายตนะบ้าง เป็นธาตุบ้าง เป็นปฏิจจสมุปปาทบ้าง ก็มาจากความรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมนั่นเอง แต่ต้องตั้งต้นที่ปัญญาที่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม ที่เป็นรูปธรรม ในลักษณะที่สติกำลังระลึก
อันนี้ยาก เพราะอะไรคะ เพราะต้องถึงความสมบูรณ์ที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ไม่อย่างนั้นนามรูปปริจเฉทญาณก็ไม่มีความหมายอะไรเลย มันอยู่ตรงไหน ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่ขณะใดที่สัมมาสติเกิดระลึก เป็นตรงที่ปัญญาจะค่อยๆ เกิด ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพนั้น ซึ่งไม่ใช่เร็ว ไม่มีใครสามารถรู้ว่า เมื่อไร แต่หมายความว่าต้องเป็นปัญญาของคนนั้นเอง ซึ่งเพิ่มความเข้าใจในลักษณะขึ้น จากการที่สติเกิด และสติเกิด และสติเกิด จะมากจะน้อยอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ให้รู้ว่า ปัญญาเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่งซึ่งไม่ใช่ขั้นที่เกิดจากการฟัง แต่เป็นขั้นที่กำลังใส่ใจศึกษาพิจารณาเข้าใจในสภาพนั้นว่า สภาพนั้นไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น ไม่เจือปนด้วยรูปใดๆ
ลองเอารูปทั้งหมดออกจากโลกนี้ สีเอาออกให้หมด สิ่งที่ปรากฏทางตาเอาออก เสียงเอาออก กลิ่นเอาออก รสเอาออก เย็นร้อนอ่อนแข็งเอาออก เหลืออะไร ยังมีธาตุรู้หรือสภาพรู้ล้วนๆ ซึ่งไม่ใช่พวกนี้เลย และการประจักษ์ คือ ขณะนั้นต้องไม่มีอย่างอื่น ต้องเป็นธาตุรู้เท่านั้นที่กำลังปรากฏให้รู้ว่า นี่คือลักษณะของสภาพรู้หรือธาตุรู้ จึงจะกล่าวได้ว่า ไม่เจือปนกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่มีอะไรๆ เจือปนอยู่ตรงนั้นเลย
ถ้าเราจะย้อนกลับ การกระทำทั้งหมดของคนในโลกนี้ที่ไม่มีปัญญา ไม่รู้หนทางที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ เขาก็จะทำบุญบ้าง ทำบาปบ้าง ซึ่งเป็นเจตนาที่เป็นตัวกรรม เป็นอภิสังขาร เพราะว่าเราศึกษาเรื่องของสังขารธรรม สภาพธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นทั้งหมดเป็นสังขารธรรม ศึกษาเรื่องสังขารขันธ์ว่า สังขารขันธ์ ได้แก่เจตสิก ๕๐ แต่พอมาถึงอภิสังขาร เราก็ยกมาเฉพาะส่วนที่เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดผล คือ วิญญาณ หรือวิบากของสิ่งนั้นก็คือกรรมนั่นเอง เจตนาที่ถึงความเป็นกรรมบถ ก็จะเป็นอภิสังขารซึ่งมีปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งให้เกิดเป็นบุญ ที่เป็นกามาวจรกับรูปาวจร แต่อปุญญาภิสังขาร ก็ขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นก็เป็นเจตนาที่ปรุงแต่งทำให้เกิดกรรมที่เป็นอกุศล อเนญชาภิสังขาร ก็ได้แก่อรูปฌาน ๔
เพราะฉะนั้นเวลาที่ศึกษา ไม่ว่าจะศึกษาอะไร ก็ต้องทราบว่า ได้แก่ปรมัตถ์อะไร ไม่อย่างนั้นจะเฝือ แล้วเราก็จะพูดถึงได้ แล้วเราก็ไม่รู้ตัวจริงๆ ว่า ได้แก่ปรมัตถ์อะไร
เพราะฉะนั้นอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำที่เป็นทั้งปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร เหมือนกับพื้นดินเป็นที่อาศัยเกิดขึ้นของพืชที่ทั้งดี และไม่ดี ไม่ใช่จะอาศัยแต่เฉพาะพืชที่ไม่ดีเกิด หรือพืชที่ดีเกิดก็ต้องอาศัย
เพราะฉะนั้นกรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดผล คือปฏิสนธิจิต และวิญญาณทั้งหลายที่เป็นผล ต้องมีอวิชชาเป็นเหตุ ถ้าดับอวิชชาแล้ว อภิสังขารก็ไม่มี ผลของอภิสังขาร คือ ปฏิสนธิจิต และวิบากจิตก็มีไม่ได้