ทางตรงหรือทางติด


    ผู้ฟัง ที่อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ แล้วต่อๆ ไปในรูปโดยนัยของขณิก ก็ดูได้ในรูปนั้น ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ขึ้นอยู่กับว่า เรากล่าวถึงปัจจัยอะไร เพราะว่าถ้าพูดถึงปฏิจจสมุปปาท จะขาดปัจจัยไม่ได้เลย ไม่ได้แสดงโดดๆ ว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร แต่ต้องแสดงว่า โดยเป็นปัจจัยอะไร สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณโดยปัจจัยอะไร จะแทรกไว้หมดเลย

    เพราะฉะนั้นถ้าเรียนก็ต้องเรียนจริงๆ

    ผู้ฟัง ฟังดูรู้สึกว่า ปฏิจจสมุปปาทน่าเรียนรู้ ก็เลยตื่นเต้นอยากเรียน

    ท่านอาจารย์ แต่ความจริงขณะนั้นเราจะสังเกตความอยากหรือเปล่า หรือความสำคัญตนที่เราจะรู้เรื่องที่ยาก เพราะว่าจริงๆ แล้ว โลภะกับมานะเป็นสิ่งที่เห็นยากมาก และเราจะไม่รู้เลยว่า เมื่อไร แม้แต่เพียงการที่อยากจะรู้ปฏิจจสมุปปาท ซึ่งเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งมาก ขณะนั้นเป็นความต้องการ แต่ถ้าเราทราบว่า ถ้าเราเข้าใจธรรมแล้ว ธรรมทุกอันเป็นปฏิจจสมุปปาท เพียงแต่ว่า เราไม่ใช้ชื่อเท่านั้นเอง แต่เวลาที่เราเรียนธรรม เราก็ต้องรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหมดที่จะเกิดได้ ต้องมีปัจจัย ถ้าไม่มีปัจจัยก็เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้นนี่เป็นปฏิจจสมุปปาทหรือเปล่า อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ศึกษาเพื่อละคลาย ถ้าเราเกิดมีความตื่นเต้น อยากรู้ อยากเข้าใจ ผิดเล็กๆ อีกแล้ว เรารู้เลยว่า เราไปทางตรง หรือไปทางที่จะติด แต่ถ้าเราศึกษาธรรมโดยไม่สนใจคำ ปฏิจจสมุปปาท แต่เข้าใจจริงๆ ว่า จิตก็เป็นปฏิจจสมุปปาท ต้องอาศัยเจตสิกเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่ว่า เวลาที่ศึกษาธรรม เราจะศึกษาอื่นก่อนทั้งหมดในพระไตรปิฎก คัมภีร์พระอภิธรรม และคัมภีร์ปัฏฐานเป็นคัมภีร์สุดท้าย เพราะแสดงว่าเราเข้าใจสภาพธรรมหมด แล้วก็มารู้ถึงความเป็นปัจจัยของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งเราก็เคยรู้มาเล็กๆ น้อยๆ ใช่ไหมคะ อย่างจิตกับเจตสิกต้องเกิดร่วมกัน เพราะฉะนั้นก็แยกจากกันไม่ได้เลย เป็นนามธรรมเหมือนกัน เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน

    เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นปัจจัยซึ่งกัน และกันแน่ แต่เรายังไม่รู้ชื่อเท่านั้นเองว่า ปัจจัยนี้ชื่ออะไร แต่ภายหลังถ้าเราเรียนไปพร้อมกันตั้งแต่ต้น ก็คือสัมปยุตตปัจจัย มันก็ไม่ได้ตื่นเต้น ไม่ใช่มีสิ่งที่เราจะต้องเข้าใจอีกต่างหาก แต่เราเข้าใจเลยตั้งแต่ต้น มันไม่มีปัญหา

    เพราะฉะนั้นการเรียนเพื่อละ โดยการที่เรารู้แล้วค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ รู้ขึ้น ก็จะมาสู่ปฏิจจสมุปปาท โดยที่ว่าเราเข้าใจได้ทั้งหมด ทุกอัน เช่น อวิชชา เราก็รู้ว่า ถ้าพูดถึงปัจจัย หรือลักษณะของปัจจัย ก็มีที่ว่า เป็นสาธารณเหตุ

    ถ้าพูดถึงคำว่า “เหตุ” จะมี เหตุเหตุ หมายความถึงเหตุเจตสิกเท่านั้นที่เป็นเหตุได้ เจตสิกอื่นเป็นเหตุไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงเหตุเหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง ถ้าพูดถึงเหตุปัจจัย นี่คือคำที่คนไทยชิน อะไรๆ ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย แล้วแต่เหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นเหตุปัจจัยที่นี่หมายความถึงปัจจัย ๒๔ ไม่ได้จำกัดเฉพาะเหตุปัจจัย ปัจจัยเดียว และถ้าพูดถึงอุดมเหตุ จะได้แก่กรรม เพราะเหตุว่ากรรมได้กระทำสำเร็จลงไปแล้ว เพราะฉะนั้นก็เป็นเหตุที่สมบูรณ์ที่จะทำให้ผลเกิดขึ้น ไม่เหมือนกับอกุศลนิดๆ หน่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ อย่างเห็นดอกไม้สวย อย่างนี้ก็ไม่ทำให้เกิดผลอะไร นอกจากเป็นปัจจัยอีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย สภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน หรืออาศัยกัน และกันในขณะที่เกิดร่วมกันเป็นปัจจุบันกาล ในขณะที่เกิดแล้ว ดับไปแล้ว แล้วก็ทำให้ผลเกิดขึ้น อันนั้นก็เป็นผลปัจจัยโดยอดีต

    นี่ก็คือสิ่งที่เป็นปกติที่เรารู้ ถึงได้ว่า การศึกษาธรรมไม่ใช่เพื่อติด เพื่อต้องการ แต่เพื่อรู้ เพื่อเข้าใจถูก และเพื่อละ

    เพราะฉะนั้นจะสังเกตตัวเราได้ว่า เวลาที่เราฟังธรรม เราอยากรู้หรือเปล่า ถ้าเราอยากรู้ กับต้องการศึกษาเหตุผลให้เข้าใจ ความหมายผิดกันแล้ว แล้วความตื่นเต้นของเรามีไหม เพียงได้ยินคำว่า ปฏิจจสมุปปาท ถ้าตื่นเต้นก็ผิดอีก ใช่ไหมคะ เพราะทุกอย่างจะแฝงมาในรูปต่างๆ ที่จะทำให้เราหลงผิด เข้าใจผิด แท้ที่จริงแล้วก็คือความติดข้อง แต่ไม่ใช่การละ

    เพราะฉะนั้นถ้าเป็นเรื่องละจริงๆ ก็คือฟังเรื่องสภาพธรรมที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ให้เข้าใจ และความเข้าใจก็จะเพิ่มขึ้นพร้อมกับการละคลายความไม่รู้ เพราะว่าความไม่รู้ต้องมีในขณะที่ไม่เข้าใจ ในขณะที่สภาพธรรมมี และกำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นถ้าเราพูดถึงอวิชชา ทุกคนก็รู้ ถ้าไม่มีอวิชชาเลย ก็จะไม่มีการเกิดอีก แต่ที่เกิด และต้องเกิดอีกบ่อยๆ ก็เพราะเหตุว่ามีอวิชชา ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะไม่รู้ว่า อะไรเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล แต่ถ้ารู้เหตุ แม้ในขั้นการฟัง และในขั้นที่สติปัฏฐานเกิด จนกระทั่งการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็จะรู้ว่า กำลังมีเหตุที่จะดับการเกิด ไม่ให้เกิดอีกเลย

    ก็เป็นเรื่องของการละ แต่ต้องเป็นคนที่ละเอียด และระวัง แล้วก็รอบคอบที่จะรู้ว่า ขณะไหนมีโลภะ เพราะว่าโลภะเป็นสมุทัย เป็นความติดข้อง ถ้าเป็นความติดข้อง ต้องมีความอยาก ต้องมีความต้องการ ต้องมีการสร้างสรรค์ทุกสิ่งทุกอย่างให้เกิดขึ้นตามความต้องการนั้นๆ

    เพราะฉะนั้นที่จะเห็นว่า โลภะเป็นสมุทัย ก็ไม่ง่าย เพียงแต่ว่าเราเห็นโลภะอย่างหยาบๆ และรู้ว่าเป็นความติดข้องที่ต้องการมากๆ แต่เล็กๆ นี่เราไม่เห็น แม้ขณะที่ต้องการจะรู้ปฏิจจสมุปปาท

    นี่ค่ะก็เป็นหนทางที่ต้องละเอียด แล้วต้องละ แล้วต้องเข้าใจสภาพธรรมจริงๆ


    หมายเลข 8611
    23 ส.ค. 2567