เป็นนักจำเรื่องราว หรือเข้าใจ
ผู้ฟัง เพราะความไม่รู้ก็เลยไปทำกรรมดีกับกรรมไม่ดี ใช่ไหมคะ พอทำกรรมดีก็เลยต้องไปรับผล
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอุปมาเหมือนพื้นดินไงคะ เป็นที่ปลูกทั้งพืชขม และพืชหวาน ทั้งกุศล และอกุศล เพราะว่ามีโมหะหรืออวิชชาเป็นพื้น แต่ว่าขณะที่เกิดกับอกุศล เป็นสหชาตปัจจัย เกิดพร้อมกัน เป็นสัมปยุตตปัจจัย เพราะเป็นนามธรรมด้วยกัน แต่เวลาที่เป็นปัจจัยให้เกิดกุศล เป็นสหชาตปัจจัยไม่ได้ เป็นสัมปยุตตปัจจัยไม่ได้ แต่เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยได้
เพราะฉะนั้นการศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปปาท จึงต้องมีความเข้าใจเรื่องปัจจัยตรงนั้นด้วย เพราะว่าเราจะไม่พูดลอยๆ อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขารเฉยๆ แต่เป็นอย่างไร ปัจจัยอะไร ก็จะสามารถเข้าใจได้ว่า เป็นแน่นอน แต่ไม่ใช่เกิดพร้อมกัน เกิดพร้อมกันไม่ได้ จะพร้อมกันได้เมื่อเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นก็เป็นสหชาตปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย สำหรับอกุศลจิต แต่ไม่เป็นสหชาตปัจจัย ไม่เป็นสัมปยุตตปัจจัยแก่กุศลจิต เพราะว่าสำหรับสติปัฏฐานเป็นทางที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ไม่ใช่เพียงตัวหนังสือ แต่ถ้าเราไม่มีความรู้เรื่องธรรมเลย สติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้แน่นอน ใช่ไหมคะ ทีนี้ถ้าเรามีความเข้าใจเรื่องสติปัฏฐานแล้ว แล้วเราไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ การเรียนธรรมของเราจะไม่มีประโยชน์ เพราะว่าไม่รู้จักตัวจริงๆ ในเมื่อตัวจริงๆ มีอยู่ตลอดเวลา แล้วเราไม่เคยรู้ แต่เวลาที่เราศึกษาแล้วเรารู้ ก็เผชิญหน้ากับสิ่งที่มีจริงๆ ด้วยความเข้าใจขึ้น ตามที่เราเรียน ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะว่าไม่อย่างนั้นถ้าเราเรียนมากๆ เยอะๆ สมมติว่าเราตายเดี๋ยวนี้ หรือเย็นนี้ หรือพรุ่งนี้ เราจะไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าเราอาจจะไปสนใจเป็นนักจำเรื่องราว แต่ถ้าเราไม่เคยได้ยินธรรมมาก่อนเลย แล้วพอเราได้ยินธรรม เราก็รู้ว่า เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด ที่เราสามารถเข้าใจสิ่งที่อยู่เฉพาะหน้าได้ ซึ่งคนอื่นไม่สามารถให้ความรู้ความเข้าใจอย่างนี้ได้เลย นอกจากพระธรรมที่ตรัสรู้ ทรงแสดงในพระไตรปิฎก
ถ้าเรารู้อย่างนี้ ชีวิตของเรา เราก็ไม่ทิ้งธรรมเลย เพราะว่ามีอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่รู้ แต่ไม่ใช่เพื่อสอบ ไม่ใช่เพื่อรู้มากกว่าคนอื่น ไม่ใช่เพื่อเก่ง ไม่ใช่เพื่อคำชม ไม่ใช่เพื่อสรรเสริญ ไม่ใช่เพื่ออะไรทั้งหมด แต่เพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ให้ถูกต้องว่า ใครจะมาบอกเรา ถ้าเราไม่มีโอกาสพบพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย แล้วกี่ชาติที่เราจะได้พบ แล้วจะได้พบต่อไปอีกกี่ชาติ
เพราะฉะนั้นถ้าเทียบกับทุกอย่าง ก็มีค่าที่สุด แต่ไม่ใช่เพื่อให้เราไปจำ หรือว่าไปท่อง หรือว่าไปเรียนเพื่อจะสอบ เพราะฉะนั้นอันนี้หมดปัญหา คือเราก็ไม่ทำอย่างนั้นกัน เราไม่มีการสอบ และไปท่องจนกระทั่งต้องตอบตามนั้น ถ้าตอบได้หมด เขาให้ ๑๐๐% แต่ถ้าตกไปสักคำ สองคำ เขาก็ลดเปอร์เซ็นต์ไป แต่คนที่ทำอย่างนั้นเขาไม่เข้าใจเลย เวลาที่ไปสัมผัสเขา
เพราะฉะนั้นการเรียนเข้าใจว่า เมื่อเราได้ยินได้ฟังคำอะไร เราอย่าเผิน แล้วเราอย่าคิดว่า เราเข้าใจแล้ว เพราะว่านั่นเป็นเพียงเรื่องราว แต่ถ้าเราสามารถรู้จริงๆ ว่า ทุกคำที่เราได้ยิน คือ คำอธิบายให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ มากขึ้น ลึกขึ้น จนกระทั่งเราสามารถถึงสภาพธรรมนั้นด้วยสติสัมปชัญญะที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นว่า เป็นธรรมจริงๆ แต่ละอย่าง ค่อยๆ เพิ่มขึ้น
อันนี้เราจะได้ประโยชน์จากการศึกษา เพราะฉะนั้นการศึกษาของเรา ถ้าเป็นไปในลักษณะนี้ก็จะละความไม่รู้ แล้วก็ละโลภะ ความติดข้อง ซึ่งเราก็ไม่จำเป็นต้องไปพอใจในความรู้ หรือความคิดว่าเข้าใจแล้ว เพราะจริงๆ แล้ว ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมก็คือยังไม่เข้าใจ เข้าใจแต่ชื่อ หรือว่าเรื่อง แล้วก็ตอบได้ จำนวนของเจตสิกเกิดกับจิตเท่าไร แต่ว่าไม่ใช่ขณะที่รู้จริงๆ ว่า เป็นธรรมเดี๋ยวนี้
เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ทุกคนก็คงอธิบายให้คุณแจ๊คเข้าใจคนละคำพูด ใช่ไหมคะ แต่จุดของเขาคืออันนี้ และอีกอย่างหนึ่งพระไตรปิฎก ทุกคนก็ทราบว่า เป็นการแสดงพระธรรมตามการตรัสรู้ และเราลองคิดถึงพระปัญญามากมายมหาศาลขนาดไหน ใครจะเทียบ
เพราะฉะนั้นความสามารถของเราที่จะเข้าถึงพระไตรปิฎก เราเข้าถึงส่วนไหน ขณะที่เราฟัง เราเข้าใจเรื่องราว แต่ว่าตัวจริงๆ ของธรรมมากมายถึง ๓ ปิฎก อย่างในพระสูตร ก็แสดงถึงความวิจิตรของการสะสมของจิตประเภทต่างๆ ซึ่งพระอภิธรรมแสดงไว้ ๘๙ หรือ ๑๒๑ แต่ว่าความวิจิตร ความละเอียด จนกระทั่งประมวลไปให้เหลือเพียงโลภมูลจิต ๘ แต่ความหลากหลายของโลภมูลจิต ๘ อยู่ในพระสูตรหมดเลย ในชีวิตของแต่ละคน ในชาดกบ้าง ในเรื่องในสมัยพุทธกาลบ้าง
เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเข้าใจแม้แต่ในพระสูตร ก็คือชีวิตของเราเดี๋ยวนี้ แล้วเราจะไม่เคยอยู่ในพระสูตรบ้างหรือคะ ใช่ไหมคะ มีใครในที่นี้ไม่เคยอยู่ในพระสูตรบ้าง ก็อาจจะมี แต่เราไม่รู้ เหตุการณ์ผ่านมาแล้ว จนกระทั่งมาถึงเดี๋ยวนี้ เราถึงสามารถที่จะรู้ได้ว่า ที่เราสะสมมาคือความจริงเดี๋ยวนี้
อันนี้ก็เป็นสิ่งซึ่งเรารู้ว่า ถ้าศึกษาธรรมจริงๆ ก็คือเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ลึก ละเอียด ถูกต้อง ถี่ถ้วน เพื่อที่จะละความเป็นเรา แต่สิ่งใดก็ตามที่เกินความสามารถของเรา ซึ่งก็ต้องถามว่า มีไหมในพระไตรปิฎก สิ่งที่เกินความสามารถของเราต้องมี
เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่เกินความสามารถของเรา เรายังไม่ไปถึงตรงนั้น เราอยู่ตรงนี้ ใช่ไหมคะ กว่าจะไปถึงตรงโน้นได้ เราจะถึงได้อย่างไร แต่ไม่ใช่ให้เราละเลย แต่ขณะที่ฟัง ขณะที่ศึกษา ก็คือให้เข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ได้เรียน ให้ฟังด้วยการพิจารณาไตร่ตรอง และเข้าใจด้วย ไม่อย่างนั้นแล้วก็จะไม่ได้ประโยชน์ อย่างบางคนที่ไปฟังสอนปัจจัย เขาไม่เข้าใจจริงๆ แต่เขาฟัง มีศรัทธาที่จะฟังมากเลยนะคะ แต่ก็ไม่เข้าใจ แล้วเขาก็บอกว่า ถ้าไปฟังอย่างนั้น ก็ดีกว่าไม่ฟัง หมายความว่าดีกว่าไปฟังอย่างอื่น ไปนั่งเล่น หรือไปอะไรๆ ใช่ไหมคะ
ดิฉันก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า ที่เขาทำคือเขาสะสมความไม่เข้าใจ โดยที่เขาไม่รู้เลย ถ้าเขาจะฟัง แล้วก็พิจารณาจนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจขึ้น นั่นเป็นประโยชน์ แต่ถ้าเขาจะฟังไป แล้วเขาก็ไม่เข้าใจ แล้วก็เขาก็ไปฟัง แล้วเขาก็ไม่เข้าใจ เขาก็สะสมความไม่เข้าใจ ก็เสียโอกาส เสียประโยชน์ ใช่ไหมคะ แต่แทนที่จะเป็นความไม่เข้าใจ ฟัง แล้วค่อยๆ ฟัง แล้วค่อยๆ เข้าใจ เท่าที่สามารถจะเข้าใจได้ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีความสามารถจำกัด ไม่ใช่ว่าจะมีความสามารถเท่าๆ กัน อย่างพระอรหันต์ท่านก็มีเอตทัคคะในทางต่างๆ บางท่านก็มีปฏิสัมภิทา บางท่านก็มีอภิญญา วิชชา ระลึกชาติได้ บางท่านก็จักขุทิพย์ ท่านก็ยังต่างกันไป
เพราะฉะนั้นเรายุคนี้เป็นใคร เราก็รู้จักตัวของเราตามความเป็นจริงว่า เราศึกษาธรรมแล้ว ประโยชน์สูงสุดของเรา คือ เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่เหมือนทัพพี ไม่รู้จักรสแกง ก็ตักแกงทุกวัน แต่ไม่สามารถจะลิ้มรสของแกงเลยก็ได้ เราก็คงจะไม่เป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นถ้ารู้น้อย แต่เข้าใจมาก แล้วก็ลึก แล้วก็เห็นความเป็นอนัตตา อันนั้นจะถูกต้อง แต่ถ้ารู้มากแล้วเข้าใจน้อย ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะว่ารู้เท่าไร แต่ไม่เข้าใจ ก็ต้องลืม
ประโยชน์สูงสุด คือ ถ้าได้ฟังพระธรรม ในชาติไหนก็ตาม สามารถเข้าใจได้ว่า คือธรรมขณะนี้ นั่นคือการสะสมที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าเราศึกษาทั้งหมดก็เพื่อจะเข้าใจสภาพธรรมขณะนี้