ความจริงปรากฎเมื่อสติปัฏฐานเกิด


    ผู้ฟัง แต่ท่านอาจารย์แสดงว่า ความเป็นตัวตนนั้นไม่ได้เป็นทุกขณะ แต่สำหรับกุศลจิต วิบากจิต ไม่มีการยึดถือความเป็นตัวตน โทสะ โมหะ ก็ไม่มีการยึดถือความเป็นตัวตน ถ้าอย่างนั้นที่บอกว่าเป็นตัวตนตลอดนี่ หมายถึงโลภะเกิดตลอดหรือครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้หมายความอย่างนั้น คือ การฟังกับการศึกษา เราทราบแล้วว่า ตลอดไม่ได้ ใช่ไหมคะ เหมือนอย่างเห็นขณะนี้ เราบอกว่าเห็นตลอด เราพูดได้ สำหรับคนที่ศึกษาก็รู้ว่าเว้นขณะไหน เว้นขณะที่หูได้ยิน เว้นขณะทางมโนทวารที่คิดนึก

    เพราะฉะนั้นผู้ที่มีความเข้าใจแล้ว ก็เว้นกันไปเอง ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นความมีตัวตน เรารู้แล้วว่า ต้องเกิดขณะที่เป็นโลภมูลจิต แต่ปกติชีวิตประจำวัน อย่างวันนี้ เราก็มีโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ เราไม่มีโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ แต่พอเวลาที่สติปัฏฐานเกิด เราจะมีการเห็นทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดซึ่งต้องละ ไม่อย่างนั้นเราจะไปละเมื่อไร

    เพราะฉะนั้นเวลาที่สติปัฏฐานไม่เกิด เราก็มีโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เรามีโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ เห็นดอกไม้ เห็นส้มโอ เห็นโทรทัศน์ ใช่ไหมคะ พวกนี้คือโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด พอใช้คำนี้ จะเห็น หมายความว่าต้องมี ความเห็นผิดเริ่มปรากฏให้รู้ว่า เรามีตรงไหน แค่ไหน ไม่อย่างนั้นเราละไม่ได้

    ผู้ฟัง แต่ปกติที่สติปัฏฐานไม่เกิด ทิฏฐิคตวิปปยุตต์จะมีไหมครับ

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ เกิดเมื่อไรก็เมื่อนั้น ไม่เกิดก็ไม่เกิด เพราะว่าสภาพธรรมเป็นจริงอย่างนั้น เวลานั้นเขาไม่มีปัจจัยที่จะให้เห็น เพราะเขาไม่เกิด แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด เริ่มมีความเข้าใจขณะที่มีสติกับขณะที่หลงลืมสติ

    เพราะฉะนั้นขณะต่อไปจะสงสัย จะต้องการรู้ โลภะมาแล้ว ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐานที่ระลึก เพราะฉะนั้นความรู้ไม่ได้เกิดเพราะความอยากรู้ หรือเพราะสงสัย

    สภาพธรรมทุกอย่างที่มีจริงๆ เวลาสติปัฏฐานไม่เกิด เขาจะข้ามไปหมดเลย อย่างเมื่อกี้นี้ปรมัตถธรรมอะไรก็ไม่รู้ บัญญัติก็เกือบจะไม่รู้ เพราะว่ามันผ่านไปหมด แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด ทุกอย่างที่ปรากฏ สติระลึกจึงรู้ลักษณะนั้น

    เพราะฉะนั้นถ้าขณะนั้นมีปัจจัยที่ความเห็นผิดจะมี จะเกิดขึ้น ให้รู้ว่า เป็นการยึดถือสภาพธรรมตรงนั้น ขณะนั้น ก็จะเห็นว่า มีการยึดถือ แต่ถ้าความเห็นผิดไม่เกิด แต่ความไม่รู้ไม่มี โดยขั้นปริยัติก็รู้ได้ว่า เวลาที่ความรู้ไม่เกิดก็คือยังมีความเป็นตัวตน แต่แม้ขณะนั้นทิฏฐิไม่เกิด แต่จากการศึกษาทราบว่า เมื่อปัญญายังไม่ถึงระดับที่จะดับความเห็นผิด ก็มีปัจจัยที่ความเห็นผิดจะเกิด

    ผู้ฟัง ขณะที่สติปัฏฐานเกิด การที่จะรู้ว่า การยึดถือความเป็นตัวตนมีในขณะนั้น จะเป็นการรู้โดยความเข้าใจที่ติดตามมา หรือเป็นการรู้ลักษณะในขณะนั้นเลย หรือถ้ารู้ลักษณะของนามธรรมที่เป็นโทสะ ขณะนั้นไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ สัจญาณ ๓ รอบ ถูกไหมคะ เพราะฉะนั้นเวลาที่สติปัฏฐานเกิด จึงรู้ว่า เมื่อหลงลืมสติต่างกัน เพราะฉะนั้นก็รู้เลยว่า ชีวิตที่หลงลืมสติ ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้นปัญญาทุกขั้นก็จะตามไป ไม่ว่าขณะใดที่สติเกิด แล้วก็หลงลืมสติ เพราะเขาจะมีความรู้จากการฟังเกื้อกูลได้ในขณะนั้น

    ผู้ฟัง การที่จะรู้ความต่างกันของการมีสติกับหลงลืมสติ ก็คือสติต้องเกิด แต่การที่จะรู้ว่า ขณะใดมีการยึดถือความเป็นตัวตน หมายความว่าขณะนั้นจะต้องเห็นการไม่มีตัวตน

    ท่านอาจารย์ ๒ อย่าง คือ ๑. เมื่อทิฏฐิเกิด สัมมาสติระลึกลักษณะของสัมมาทิฏฐิ นั่นคือเห็นตัวจริงขั้นปฏิบัติ แต่เวลาที่สัมมาสติเกิด มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏแล้วดับ ความรู้ความเข้าใจปริยัติ ก็รู้ว่า ขณะที่หลงลืมสติต่างกับขณะที่มีสติ อันนี้คือสัจญาณที่จะตามเกื้อกูลไปตลอด เพราะว่ามี ๓ รอบ ของอริยสัจ ๔ สัจญาณ กิจญาณ กตญาณ

    ปริยัติที่ว่ายาก แต่เราจะรู้เลยว่า ปฏิบัติย่อมยากกว่าแน่นอน เพราะว่าเป็นเรื่องละ อย่างปริยัติ เรายังอยากเรียน เพราะอยากรู้ แล้วหยิบหนังสือมาอ่านได้ แต่ปฏิบัติเป็นเรื่องละ

    เพราะฉะนั้นเรื่องอยากจะรู้กับเรื่องละ อันไหนจะยากกว่ากัน แต่ลองคิดถึงประโยชน์มหาศาล สิ่งที่มีทั้งหมด โลภะ ไม่ว่าจะอย่างมากมาย รุนแรง อย่างกลาง อย่างละเอียดสักเท่าไร สามารถดับได้ไม่เกิดอีกเลยจากการอบรม

    เพราะฉะนั้นเราก็เริ่มเห็นประโยชน์ที่เราก็ไม่เร่งร้อนว่า ไม่พัก ไม่เพียร จะเมื่อไรก็เมื่อนั้น เพราะว่าหนทางนี้ไม่ใช่หนทางที่ใครจะไปเร่งได้ แต่เป็นหนทางที่ต้องอบรมจนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์


    หมายเลข 8616
    23 ส.ค. 2567