เป็นเรื่องของธาตุทั้งหมด
คุณนีน่า ดิฉันคิดว่าอยากจะฟังเรื่องสภาพรู้มากกว่า เพราะว่าอ่านหนังสือเข้าใจได้ แต่ยังไม่เข้าใจเรื่องการปฏิบัติ
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ทุกคนไม่มีอำนาจอะไรเลย แต่เป็นเรื่องของธาตุทั้งหมด แต่ธาตุในโลกนี้ อย่างใหญ่ๆ ก็มีรูปธาตุกับนามธาตุ อันนี้เราก็ต้องค่อยๆ พิจารณาด้วยนะคะ ไม่มีใครสักคนในห้องนี้ แต่ธาตุมี ธรรมมี เพราะฉะนั้นเราศึกษาเพื่อที่จะให้เข้าใจความจริงของ ๒ ธาตุนี้ รูปธาตุก็ปรากฏทางตา ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ ทางหูก็มีเสียง ทางจมูกก็มีกลิ่น ทางลิ้นก็มีรส ทางกายก็มีสิ่งที่กระทบสัมผัส นี่เป็นรูปธาตุ และนามธาตุทิ้งความหมายของรูปธาตุพวกนี้ไปเลย เรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว แต่เป็นธาตุชนิดหนึ่งที่มีจริงในขณะนี้ เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย แล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เราลืมว่าเคยเป็นเรา ไปที่ไหนมาเมื่อกี้นี้ รับประทานอะไรเมื่อกี้นี้ แต่เดี๋ยวนี้มีธาตุชนิดนี้เป็นนามธาตุ คือเราไม่ต้องไปย้อนถึงตอนอื่นเลย เอาเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ มีธาตุรู้ หรือสภาพรู้ในขณะที่กำลังเห็น หรือกำลังคิดนึก คือถ้าจะเข้าใจความหมายของนามธาตุ ก็คือธาตุที่รู้ คิด จำ ก็ได้ หลายอย่าง ทั้งหมดเป็นธาตุ ทั้งจิต ทั้งเจตสิกเป็นธาตุ
พอจะเข้าใจไหมว่า เป็นธาตุ หมายความว่าไม่มีเจ้าของ แต่เกิด แล้วก็ทำหน้าที่ของธาตุนั้นๆ เช่น ในขณะนี้มีธาตุชนิดหนึ่งเกิดแล้วเห็น เวลาได้ยินเสียงก็มีธาตุอีกชนิดหนึ่ง เกิดแล้วได้ยิน เวลาลิ้มรส ก็น่าอัศจรรย์ รสก็อยู่ในสิ่งอ่อน แข็ง เย็น ร้อน ธาตุชนิดนี้ยังสามารถลิ้มรสที่อยู่ในนั้นได้ ทั้งๆ ที่รสก็มองไม่เห็นอะไรเลย แต่ความสามารถของธาตุชนิดนี้เห็นไม่ได้ ได้ยินไม่ได้ เพียงแต่เป็นธาตุอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นลิ้มรส
ทางกายก็สามารถจะรู้สิ่งที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ถ้าทั่วทั้งตัวไม่มีกายปสาท ไม่มีทางเลยที่ธาตุเย็นจะปรากฏ ร้อนจะปรากฏ ตึงไหวจะปรากฏ ไม่มีเลย ถ้าไม่มีกายปสาท เพราะฉะนั้นธาตุแต่ละอย่างก็เกิดเมื่อมีปัจจัย ไม่ใช่ไปรอคอยไว้ที่ไหนเลย แต่มีการสืบต่อ อย่างเวลาที่เราเห็นไฟในป่า ก่อนนั้นไม่มีไฟ เราจะบอกว่า มีปัจจัยให้ไฟเกิดไหม ในเมื่อไฟยังไม่เกิด แต่เวลาที่ไฟเกิด ก็ต้องมีปัจจัยตรงนั้นที่จะให้ไฟนั้นเกิดขึ้นฉันใด จักขุปสาท และปัจจัยที่จะให้เกิดจักขุวิญญาณ ก็ต้องเกิดเมื่อมีปัจจัย
เพราะฉะนั้นในพระไตรปิฎกเวลาแสดงเรื่องของธาตุ ๑๘ จะแสดงวิญญาณธาตุ ๗ วิญญาณธาตุ ๗ เราก็รู้แล้ว เห็น แสดงว่าเป็นความต่างของธาตุว่าไม่ใช่ได้ยิน
เพราะฉะนั้นทรงแสดงโดยนานาประการที่จะให้เห็นความเกิด และดับอย่างเร็ว และสืบต่อของธาตุทั้งหลาย ซึ่งถ้าเราพิจารณาจริงๆ ก็เป็นอย่างนั้น ลองฟังอีกครั้งหนึ่ง ตอนที่ปฏิสนธิจิตเกิด เป็นนามธาตุ แต่ไม่มีใครรู้ เพราะว่าโลกนี้ไม่ปรากฏเลย มีอารมณ์เหมือนจุติจิตของชาติก่อน เวลาที่ดับไปแล้ว อนันตรปัจจัยของจิต และเจตสิก ทำให้จิตเจตสิกขณะต่อไปเกิดเป็นภวังค์ โดยสมันตรปัจจัยด้วย หมายความว่าทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิด ดับแล้ว จะเห็นทันทีไม่ได้ ต้องเป็นไปตามลำดับ และตอนที่เรานอนหลับสนิท ซึ่งทุกคนผ่านมาแล้ว หลับจริงๆ ไม่มีอะไรปรากฏเลย แล้วมีเสียงปรากฏ คิดดูซิคะว่าปรากฏได้อย่างไร แค่นี้คิดถึงความน่าอัศจรรย์ไหมคะ ถ้าเราไม่คิด ก็เป็นชีวิตเราธรรมดา ตื่นมาไม่รู้สักอย่างหนึ่ง ก็เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง แต่ถ้าคิดถึงธาตุชนิดนั้นจะปรากฏ คือ เสียงจะปรากฏได้ต้องมีอายตนะแล้วที่นั่น ต้องมีการกระทบ มีการประชุม ต้องมีโสตปสาท ต้องมีเสียง และต้องมีจิตซึ่งเกิดก่อน แล้วก็มีการกระทบจนกว่าจะถึงวาระที่เสียงปรากฏกับจิตได้ยิน
นี่ก็เป็นความน่าอัศจรรย์ เป็นการที่เราจะค่อยๆ เข้าใจว่า ไม่มีใครไปบังคับสักขณะเดียวในชีวิต เมื่อเกิดขึ้นเป็นปฏิสนธิจิตแล้ว ต้องเป็นปวัตติ คือเป็นไป หยุดไม่ได้เลยค่ะ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สืบต่อ แต่ละชีวิตก็ต่างกันไปตามการสะสม ซึ่งปฏิสนธิจิตก็ประมวลมาซึ่งกรรมที่จะให้ผลในชาตินั้นตามกำลังของกรรมนั้นๆ ซึ่งยังมีอีกเยอะในนามธาตุซึ่งไม่มีรูปร่างเลย แต่เก็บสะสมทุกอย่าง กรรมในแสนโกฏิกัปป์ ก็ยังเป็นกัมมปัจจัยที่จะทำให้พระผู้มีพระภาคทรงประชวร
เพราะฉะนั้นกรรมของเรา หรือเจตนา ความจงใจ ความตั้งใจแม้ในขณะนี้ที่เป็นกุศลกรรม ไม่มีตัวเรา ทีนี้ถ้าเราฟังไม่ละเอียด ก็คิดว่าเรากำลังได้บุญเยอะเลย กำลังฟังธรรม แล้วก็เข้าใจธรรมด้วย แต่ตามความจริง ไม่มีใครได้ เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับ เวลาที่มีความจงใจ ตั้งใจ กระทำกรรมนั้นสำเร็จลงไปแล้ว ดับไปแล้ว สืบต่อสะสมเป็นกัมมปัจจัย
คำว่า “ปัจจัย” หมายความว่า มีความสามารถที่จะทำให้ผลเกิดขึ้น โดยเจตนาที่เป็นกรรมที่ทำสำเร็จไปแล้วนั่นเอง ก็สะสมสืบต่อ พร้อมที่เมื่อถึงกาลสมควรเมื่อไร วิบากจิตก็เกิดขึ้นเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นทายาทของกรรม มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ แต่ถ้าไม่มีกรรมนั้นเป็นปัจจัย วิบากจิตคือขณะนี้เกิดไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ หรือภวังคจิต
เพราะฉะนั้นเวลาที่สติปัฏฐานเกิด ผู้นั้นจะรู้จัก เข้าใจเรื่องของกรรม กัมมสกตาญาณ ไม่มีอะไรเลยที่ใครจะทำได้ เขาสามารถรู้ว่า ขณะที่สติระลึกลักษณะของเห็น ก็ค่อยๆ เข้าใจในธาตุชนิดนั้น ซึ่งเป็นนามธาตุซึ่งมีจริงๆ แล้วก็ดับไป แล้วถ้าสติเขาเกิด รู้ถึงความพอใจไม่พอใจที่เกิดหลังจากที่เห็นแล้ว เขาเห็นความต่างเลย รู้ว่า นี่ไม่ใช่กรรม เหตุปัจจัย ถ้าคนนั้นสามารถจะรู้หรือเข้าใจ ก็จะรู้ได้ว่า มีโลภะเกิดแล้ว มีอวิชชาเกิดแล้ว ถ้าขณะนั้นเป็นอกุศล หรือว่ามีโทสะเกิดแล้ว มีอวิชชาเกิดแล้วที่เป็นเหตุปัจจัย แต่อันนี้เป็นเรื่องที่ค่อยๆ ตามลำดับ คือลำดับแรก ต้องรู้ในลักษณะที่เป็นนามธาตุกับรูปธาตุให้มีความมั่นคงจริงๆ ไม่ต้องคำนึงถึงกี่ทวาร แต่ว่าที่เราฟังแล้ว เข้าใจแล้ว ก็คิดว่าเข้าใจด้วย ก็จะรู้ตามความเป็นจริงว่า เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด ความคิดว่าเข้าใจแล้ว อยู่ตรงนั้นหรือเปล่า หรือต้องเริ่มสะสมอบรมที่จะให้เป็นความเข้าใจอีกระดับหนึ่ง คือ มีตัวสภาพธรรมกำลังปรากฏ ยืนยันให้มีความเห็นที่ถูกต้องในลักษณะซึ่งเป็นนามธาตุ และรูปธาตุซึ่งต่างกัน
เพราะฉะนั้นเมื่อมีความมั่นคงจริงๆ ในปัญญา ที่มีสภาพธรรมปรากฏให้รู้ และเข้าใจ ถึงกาลที่นามรูปปริจเฉทญาณจะเกิด ไม่มีใครยับยั้งได้เลย เพราะฉะนั้นถ้าใครจะมีความอยาก ความต้องการ ต้องไปที่โน่น ต้องอยู่คนเดียว ต้องอยู่ที่นั่นนานๆ แล้วก็รอนามรูปปริจเฉทญาณ รอไปเท่าไรก็ไม่เกิด เพราะว่าโลภะอยู่ตรงนั้น เราก็จะเข้าใจความหมายของ “เครื่องเนิ่นช้า” โลภะ มานะ ทิฏฐิ คือ ทุกอย่างที่มีในพระไตรปิฎก ไม่ว่าส่วนไหน ถ้ามีปัญญาที่สามารถจะรู้จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ปัญญาจะเกิดขึ้นตามลำดับ และสามารถจะรู้ความจริงว่า พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงไว้แล้ว เป็นความจริงทุกอย่าง เพราะว่าตัวของปัญญา และสติในขณะนั้นสามารถจะเข้าถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น
เพราะฉะนั้นการเรียน การรู้อย่างนี้จะไม่เป็นโมฆะ จะไม่เป็นทัพพีที่ไม่รู้รสแกง เพราะว่ามีสภาพธรรมปรากฏกับปัญญา แต่ต้องเป็นเรื่องของการอบรม แล้วก็เป็นเรื่องของการละ
เพราะฉะนั้นปัญญามีหน้าที่อย่างเดียว คือ รู้แล้วละความไม่รู้ เมื่อรู้จักโลภะก็ละความติดข้องตรงนั้น ที่ไหนที่มีปัญญา ที่นั่นจะไม่มีโลภะ แต่ที่ไหนที่ไม่มีปัญญา ที่นั่นก็ต้องโลภะได้