จิต เจตสิก รูป
ท่านอาจารย์ ทรงแสดงลักษณะจริงๆ แม้แต่จิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ ก็เขามีลักษณะอย่างเดียว คือ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้น จำไม่ได้ รู้สึกไม่ได้ เป็นความขยันไม่ได้ เป็นสติไม่ได้ เป็นปัญญาไม่ได้
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ถ้าสมมติว่าเราแยกสภาพของสิ่งที่มีจริงในโลกนี้ออกเป็น ๒ อย่าง จะมีรูปธรรมอย่างหนึ่ง
นี่กันเอาไว้เลยว่า เราต้องมีความมั่นใจจริงๆ ว่า ที่ใช้คำว่า “รูปธรรม” หมายความถึงสิ่งที่มี แต่สิ่งนั้นไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่ทีนี้ถ้าเรายังไม่เข้าใจรูปชัดเจน เรายังไม่เข้าใจนามธรรม หรือว่าจิต ยังไม่ได้
เพราะฉะนั้นก็ขอถามนิดหนึ่งว่า เสียงนี้เป็นอะไร ในจิต เจตสิก รูป นิพพาน เสียงเป็นอะไร
ผู้ฟัง เป็นจิตค่ะ
ท่านอาจารย์ อันนี้แสดงว่า เราต้องเข้าใจใหม่ เสียงไม่รู้อะไรเลย เสียงเกิดขึ้นเพราะมีของแข็งกระทบกันเมื่อไร เมื่อนั้นเสียงก็เกิด อย่างคำพูดก็ต้องมีฐานที่ตั้งของเสียง ลิ้นกระทบกับเพดาน หรือกระทบส่วนหนึ่งส่วนใด ทำให้มีเสียงเกิดขึ้น อะไรก็ตามซึ่งเป็นของแข็งกระทบกันเป็นปัจจัยให้เสียงเกิดขึ้น ใครจะได้ยินหรือไม่ได้ยินก็ตามแต่ แต่เสียงไม่สามารถได้ยิน เสียงไม่สามารถจะรู้อะไรเลย
เพราะฉะนั้นรูปธรรมไม่ได้หมายความเฉพาะสิ่งที่เรามองเห็น อะไรๆ ก็ตามทั้งหมดที่ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น สิ่งนั้นเป็นรูป ต้องแยกนามกับรูป หรือจิตกับรูปออกก่อน ตกลงเสียงเป็นอะไรคะ เป็นรูป ไม่ใช่จิต เพราะเสียงไม่รู้อะไร
กลิ่นล่ะคะ เป็นอะไร
ผู้ฟัง เป็นรูป
ท่านอาจารย์ รสเป็นอะไรคะ
ผู้ฟัง เป็นรูป
ท่านอาจารย์ เย็น นี่เห็นไหมคะ ไตร่ตรองพิจารณาเพื่อเข้าใจ การฟัง ถ้าฟังแล้วผ่าน เราจะไม่รู้เรื่อง ตามๆ เขาไป เขาบอกว่ารูปก็รูป เขาบอกว่านามก็นาม แต่นั่นจะไม่ได้ประโยชน์ ประโยชน์คือฟังแล้วเราคิดของเราเอง แล้วเราถูกถามจะทำให้เราเข้าใจขึ้น อย่างเย็นอย่างนี้ เป็นอะไรคะ เมื่อกี้นี้เสียงเป็นรูป ไม่รู้อะไรเลย เสียงไม่ได้ยิน กลิ่นก็เป็นรูป เพราะกลิ่นไม่ได้รู้อะไรเลย ไม่ได้รู้อะไรหมด เป็นตัวกลิ่น ทีนี้เย็นเป็นอะไรคะ
ผู้ฟัง เป็นรูปเหมือนกันครับ
ท่านอาจารย์ เพราะอะไรคะ
ผู้ฟัง เพราะไม่รู้อะไรเลย
ท่านอาจารย์ สภาพเย็นมีจริงๆ แต่ความรู้สึกว่าเย็นนี่อีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจับน้ำแข็ง ตัวน้ำแข็งนี่เย็น แต่เรารู้สึกเย็น เพราะเราจับน้ำแข็ง เวลาที่เราจับน้ำแข็ง เราถึงรู้สึกเย็น ถ้าเราไม่จับน้ำแข็ง เราจะรู้สึกเย็นไม่ได้ ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเราไปรู้ลักษณะที่เย็น สภาพที่รู้ ลักษณะที่รู้ คือ จิต แต่ตัวสภาพเย็น เขาไม่รู้อะไรเลย
เพราะฉะนั้นมันใกล้เคียงกันอยู่ตลอดเวลา คือ เวลาที่มีจิต จะต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้ ทางภาษาบาลีใช้คำว่า “อารัมมณะ” หรือ “อารมณ์” อันนี้ก็ต่างจากภาษาไทยเรา เพราะภาษาไทยเรา “อารมณ์” เราไปใช้ปลายเหตุ วันนี้อารมณ์ดี แต่หมายถึงเราต้องเห็นสิ่งดีๆ ได้ยินเสียงดีๆ ได้กลิ่นดีๆ อารมณ์ถึงจะดี แต่ว่าอารมณ์จริงๆ หมายถึงอะไรก็ตามที่จิตรู้ เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่พระพุทธเจ้าตรัส และทรงแสดงจะไม่เปลี่ยน แม้แต่คำว่า “อารัมพนะ” หรือ “อารัมมณะ” ใช้ได้ ๒ อย่าง หมายถึงสิ่งที่ถูกจิตรู้ เมื่อมีจิต จะไม่มีอารมณ์ได้ไหมคะ
ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ จิตเกิดขึ้นเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เวลาที่มีอารมณ์ จะไม่มีจิตรู้ได้ไหมคะ
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้เหมือนกัน เสียงที่ไม่มีใครได้ยิน เป็นอารมณ์หรือเปล่าคะ
ผู้ฟัง ไม่เป็น
ท่านอาจารย์ ไม่เป็น แต่เสียงที่กำลังถูกจิตได้ยิน เสียงนั้นเป็นอารมณ์ของจิต เพราะว่าจิตรู้ได้ทุกอย่าง ไม่มีอะไรเลยซึ่งจิตจะรู้ไม่ได้ แม้แต่นิพพาน จิตก็รู้ได้ ถ้าจิตไม่รู้นิพพาน ดับกิเลสไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้นที่เราใช้คำว่า “พระอริยเจ้า” “พระอริยบุคคล” “พระโสดาบัน” “พระอรหันต์” พวกนี้ หมายความถึงจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ที่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน แล้วดับกิเลส ถ้าไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานแล้วดับกิเลสไม่ได้
เพราะฉะนั้นถ้าจิตรู้นิพพานไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็รู้นิพพานไม่ได้ ทรงแสดงไม่ได้ว่ามีนิพพาน แต่เพราะเหตุว่านิพพานเป็นสิ่งที่มีจริง แล้วใครจะรู้สิ่งที่มีจริง ก็ต้องจิตที่รู้ เพราะฉะนั้นจิตสามารถรู้จิตก็ได้ จิตสามารถรู้เจตสิกก็ได้ จิตสามารถรู้รูปก็ได้ จิตสามารถรู้นิพพานก็ได้ จิตสามารถรู้ชื่อ รู้คำ รู้เรื่องราว รู้ความหมายก็ได้
เพราะฉะนั้นตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มีคุณเยาว์ มีจิต ซึ่งรู้ทุกอย่างจนกระทั่งขณะนี้ ทุกภพทุกชาติ นี่คือจิต และมีอารมณ์ซึ่งถูกจิตรู้
ถ้าเกิดคัน เป็นคุณเยาว์หรือเปล่าคะ ไม่เป็น เพราะใครก็คันได้ทั้งหมด เวลาลักษณะคันเกิดขึ้นก็ต้องมีลักษณะอย่างนั้น ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นคันก็คือคัน เจ็บก็คือเจ็บ เป็นทุกขทุกข เป็นทุกข์กายชนิดหนึ่ง ซึ่งพิจารณาจริงๆ แล้วก็คือว่า ต้องมีเหตุปัจจัยทำให้สภาพคันก็ดี เจ็บก็ดี เมื่อยก็ดี ปวดก็ดี เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ซึ่งไม่เป็นของใครเลย เกิดกับสุนัข สุนัขก็ปวดได้ เจ็บได้ คันได้ เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นลักษณะที่คันนั้นก็คือปรมัตถธรรม เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมคะ คัน ปวด เจ็บ เป็นนามธรรม เป็นจิตหรือเป็นเจตสิก
ผู้ฟัง เจตสิกครับ
ท่านอาจารย์ เพราะว่าจิตเขาเป็นใหญ่ เป็นประธานเฉพาะเห็น เฉพาะได้ยิน เขาไม่เจ็บ ไม่คัน ไม่จำ ไม่อะไรเลยสักอย่างเดียว นี่คือลักษณะที่ต่างกันของจิตกับเจตสิก
เพราะฉะนั้นเราจะทราบว่า ต้องแยกจริงๆ ว่า จิตไม่ใช่เจตสิก มิฉะนั้นแล้วจะไม่ทรงแสดงว่า มีสภาพนามธรรม ๒ อย่าง คือ จิต เจตสิก เพราะใครเลยจะรู้ว่า จิตขณะหนึ่งที่เกิดขึ้น บางประเภทมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ อย่าง บางประเภทมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๐ อย่าง บางประเภทมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๑ อย่าง ๑๓ อย่าง ๒๐ กว่าอย่าง ๓๐ กว่าอย่าง ตามประเภทของจิตนั้นๆ
แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราศึกษาโดยละเอียด พิจารณาถ่องแท้ ยิ่งเข้าใจในความไม่ใช่เรา เพราะว่าแต่ละขณะก็มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามต้องทราบปรมัตถธรรม ๔ และต้องรู้ความต่างกันของจิต เจตสิก รูป นิพพาน แต่นิพพานยังไม่ต้องกล่าวถึง เอาเฉพาะแค่จิต เจตสิก รูป เพราะอะไรยังไม่กล่าวถึง เพราะว่าเรามีจิต เจตสิก รูปตลอดเวลา ซึ่งเราควรจะรู้ และเข้าใจก่อน ถ้าเรายังไม่เข้าใจจิต เจตสิก รูป ปัญญาขั้นนี้ไม่มี แล้วปัญญาที่จะไปรู้แจ้งนิพพาน มีไม่ได้เลย
ง่วง เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม
ผู้ฟัง เป็นนามธรรม
ท่านอาจารย์ เป็นจิตหรือเจตสิก
ผู้ฟัง เจตสิก
ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิกค่ะ คือถ้าไม่ใช่สภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้เฉพาะ ลักษณะอื่นทั้งหมดที่เราบอกว่า เราง่วง เราขยัน เราท้อแท้ เรามีเมตตา กรุณา เราโกรธ คือเจตสิกหมดเลย ซึ่งเจตสิกเขาจะเกิดกับจิตเท่านั้น เขาจะไม่เกิดกับสภาพธรรมอื่นเลย เกิดกับรูปไม่ได้เลย รูปไม่มีทั้งจิต เจตสิก
เพราะฉะนั้นจิต เจตสิก เกิดพร้อมกัน แยกกันไม่ได้ เพราะว่าไม่มีสภาพธรรมสักอย่างหนึ่งซึ่งเกิดตามลำพัง โดยไม่มีการปรุงแต่ง
เพราะฉะนั้นจิตต้องอาศัยเจตสิกเกิดขึ้น เจตสิกก็อาศัยจิตเกิดขึ้น ต้องเกิดพร้อมกันทุกครั้งเลย ถ้ามีคนถามคุณเยาว์ว่า จิตนี้มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร คุณเยาว์ตอบได้ว่า ยังไม่ทราบค่ะ แต่ต้องมี คือ เรายังไม่ทราบก็จริง เพราะเรายังไม่ได้เรียน แต่ต้องมี คือสิ่งใดที่เราทราบ เราต้องมีความมั่นใจ เข้าใจมั่นคงอย่างถูกต้องว่า ต่อไปนี้เรารู้แล้วว่า ถ้าที่ใดมีจิต ที่นั่นต้องมีเจตสิก ที่ใดมีเจตสิก ที่นั่นก็ต้องมีจิต และจิตไม่ใช่เจตสิก
วันนี้ก็ได้ปรมัตถธรรม ๔ แต่ต้องมีตัวอย่าง แล้วต้องคิด ต้องทบทวน ไม่อย่างนั้นแล้วเหมือนเข้าใจ แต่เหมือนเข้าใจแล้วพอจริงๆ เข้าใจแค่ไหน มันจะต้องมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นอีก