อะไรก็ตามที่มีจริงเป็นธรรม
ผู้ฟัง คือกระผมตอนที่คุยกับท่านอาจารย์ถึงได้รู้ว่า ตัวเองยังไม่เข้าใจหลักที่แท้จริงของการศึกษาธรรมเลย โดยเริ่มต้นเราต้องศึกษาตัวปรมัตถธรรมก่อน เราต้องเข้าใจก่อนว่า ธรรม คือ สิ่งที่เราจับต้องได้
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ มีจริงๆ ไม่ต้องเห็นก็ได้ อย่างเสียง นี่มองไม่เห็นใช่ไหมคะ
ผู้ฟัง ครับ
ท่านอาจารย์ แต่อะไรก็ตามที่มีจริง ความโกรธ คุณชาลิกไม่เห็น แต่มีจริง ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม เพราะว่าไม่มีใครสร้าง แต่สภาพนั้นมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแน่นอน จึงได้ปรากฏให้รู้ว่า มี
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นสมมติว่าเราเห็นคน นั่นก็คือธรรม
ท่านอาจารย์ ทุกอย่างค่ะ ที่มีจริงๆ
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นการที่เราศึกษา เราก็ต้องนำมาปฏิบัติด้วย ถูกไหมครับ ที่เราศึกษาเพื่อให้มีปัญญา ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ
ผู้ฟัง แต่ผมไม่เข้าใจว่า อย่างที่พระพุทธเจ้าสอน คือ ต้องการให้ทุกคน หลักคำสอนจริงๆ ผมไม่ทราบว่า ผมเข้าใจถูกต้องหรือเปล่า คือให้คนหลุดพ้นจากบ่วงตรงนี้
ท่านอาจารย์ แล้วบ่วงมาจากไหนคะ
ผู้ฟัง มาจากกิเลส
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องหลุดพ้นจากอะไรด้วย
ผู้ฟัง จากกิเลส
ท่านอาจารย์ และกิเลสตัวสำคัญที่เป็นต้นเหตุของกิเลสอื่นคืออะไร มันต้องมีตัวแม่ ใช่ไหมคะ พอจะจับได้ไหมว่า กิเลสอะไรที่ทำให้กิเลสอื่นเกิดขึ้น
ผู้ฟัง ความต้องการหรือครับ
ท่านอาจารย์ ความไม่รู้ อวิชชา ใช้คำว่า “อวิชชา” สภาพที่ไม่รู้ เดี๋ยวนี้ความไม่รู้อยู่ตรงไหน
ผู้ฟัง อยู่ตรงเราไม่มีปัญญา เราไม่รู้
ท่านอาจารย์ อย่างกำลังเห็น เราไม่รู้ความจริงเลยว่า เห็นคืออะไร และสิ่งที่เห็นคืออะไร นี่คือความไม่รู้ กำลังได้ยิน ได้ยินตลอดเลยเป็นเรื่องเป็นราว แต่ความไม่รู้ คือไม่รู้ว่า ได้ยินคืออะไร และเสียงที่กำลังปรากฏนี่คืออะไร
เพราะฉะนั้นความไม่รู้ของเราทั้งวัน แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีความไม่รู้แล้ว เรามีความติดข้องในสิ่งที่เราไม่รู้ความจริง เพราะฉะนั้นกิเลสก็มีมากจนกระทั่งถ้าไม่มีการฟังพระธรรมเลย ใครจะมาบอกเราถึงเรื่องความจริงอันนี้ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผู้นั้นตรัสรู้ แต่ผู้ที่บอกเราให้รู้ว่า ความจริง สภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วมี ๒ อย่างเท่านั้น คือ เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น อย่างหนึ่ง ใช้คำว่า “รูปธรรม” ส่วนสภาพธรรมอื่นที่ไม่ใช่รูปธรรมนั้น เป็นนามธรรมทั้งหมด
นี่แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน ธรรมของพระพุทธเจ้าที่ต่างจากศาสนาอื่นทั้งหมด คือ สอนเรื่องสัจธรรม ความเป็นอนัตตาของทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิด ต้องมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดแล้วดับด้วย อย่างได้ยิน ได้ยินนิดเดียวแล้วดับ เห็น ก็ต้องนิดเดียวแล้วดับด้วยเหมือนกัน
ผู้ฟัง ตรงนี้ไม่เข้าใจครับว่า เห็นนิดเดียวแล้วดับ ในเมื่อถ้าเรายังไม่หลับตา ก็เห็นตลอด
ท่านอาจารย์ ทีนี้คุณชาลิกหรือใครก็ตามนะคะ จะมีจิตพร้อมกันทีเดียว ๒ – ๓ ขณะไม่ได้ คนหนึ่งจะมีจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว เพราะว่าจิตเป็นสภาพที่รู้ เมื่อจิตเกิด จิตจะต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะเขาเกิดขึ้นรู้ เมื่อเขาเกิดขึ้นรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ จะกล่าวว่าเมื่อจิตเกิด เป็นสภาพที่รู้ แล้วไม่รู้อะไรเลย ไม่ได้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ อย่างจิตได้ยิน รู้อะไร รู้เสียง เสียงจะสูง จะต่ำ จะหวีด เมื่อกี้นี้ จิตรู้ตลอดเลย จิตรู้แม้ความละเอียดของเสียงของแต่ละคน ซึ่งไม่เหมือนกันเลย จิตก็รู้ความต่าง
นั่นก็คือความวิจิตรของจิต ซึ่งเขาเป็นใหญ่จริงๆ ในการรู้ทุกอย่างตามอารมณ์ที่ปรากฏ รู้แจ้งในอารมณ์นั้น
คำว่า “อารมณ์” คุณชาลิกอาจจะคิดถึงว่า วันนี้อารมณ์ดี คนนี้หัวเราะ ยิ้ม ตั้งแต่เช้าเลย แต่ความจริงถ้าสิ่งที่เขาเห็น ได้ยิน ไม่ดี อารมณ์ดีไม่ได้ในภาษาไทย แต่ว่าภาษาไทยเราเอาภาษาบาลีมาใช้โดยไม่สมบูรณ์ คือ เอาปลายเหตุมาใช้ แต่ต้นเหตุ คือ สิ่งใดก็ตามที่จิตกำลังรู้ สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต
คือ พระธรรมถ้าเรียนแล้วเราจะรู้ว่า มีความเพลิดเพลิน เบิกบานที่เป็นสัจธรรม ซึ่งใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แม้แต่คำที่ใช้ ใช้คำว่า “อารัมพนะ” หรือ “อารัมมณะ” ในภาษาบาลี หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ ตลอดทั้ง ๓ ปิฎก จะใช้คำนี้ซึ่งเป็นภาษาบาลี
เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ภาษามาทีหลัง สภาพธรรมมีก่อน เพราะว่าถ้าไม่มีสภาพธรรม ภาษาก็มีไม่ได้ ใช่ไหมคะ ใครจะเป็นคนเรียก ถ้าไม่มีสภาพธรรม คนก็คือธรรม ความคิดของคนก็เป็นธรรม
เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมจริงๆ ยังไม่ต้องเรียกอะไรทั้งสิ้น สิ่งนั้นก็มี แล้วใครก็เปลี่ยนแปลงลักษณะของสิ่งนั้นไม่ได้ อย่างกลิ่น เป็นสภาพธรรมที่มี เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ต้องเรียกกลิ่น แต่ลักษณะของกลิ่นก็ปรากฏโดยกระทบจมูก เสียง ไม่ต้องเรียกว่า เสียง แต่ลักษณะของเสียงก็ปรากฏโดยกระทบหู นั่นคือลักษณะของเขา
นี่คือธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้นตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าเป็นธรรมหมด แล้วก็เป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ๆ ด้วย
ท่านพระสารีบุตรซึ่งเป็นอัครสาวก ท่านกล่าวว่า ช่างน่าอัศจรรย์ที่ว่า ธรรมทั้งหมดเมื่อปรากฏแล้ว ก็ตรงตามที่ได้ทรงแสดงทุกอย่าง ไม่ผิดไปเลย แม้แต่ลักษณะของจิต ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่มีรูปร่างเลย มองก็ไม่เห็น สัมผัสกระทบก็ไม่ได้ แต่จิตมี และจิตเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นต้องเป็นธาตุรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด และจิตสามารถจะรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด ไม่มีอะไรเลยที่จิตรู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นตั้งแต่เกิดจนตายที่ว่า จะเป็นคนชื่อนั้นชื่อนี้ แท้จริงก็คือจิตเกิดขึ้นพร้อมกับรูป จิตเกิดขึ้นพร้อมกับรูปชนิดใด เราก็สมมติบัญญัติเรียกว่า เป็นคนเกิด เป็นแมวเกิด เป็นนกเกิด แล้วแต่รูปร่างที่จะทำให้เราสมมติเรียกสิ่งนั้นว่าอะไร แต่สิ่งนั้นถึงไม่เรียกก็ต้องเป็นอย่างนั้น จิตก็ต้องเป็นอย่างนั้น สภาพธรรมที่เกิดก็ต้องเป็นอย่างนั้น
นี่คือสัจธรรม พอที่จะเข้าใจธรรมไหมคะ
ผู้ฟัง เข้าใจครับ พอจะเข้าใจกว้างๆ ว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง ไม่จำเป็นต้องสัมผัสได้ ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ คือยกตัวอย่างว่า อะไรบ้าง
ผู้ฟัง อย่างเสียง
ท่านอาจารย์ เสียงเป็นธรรม เพราะ
ผู้ฟัง มีจริง
ท่านอาจารย์ ได้ยินเสียงไหมคะ รู้ว่าเสียงมี
ผู้ฟัง หรือถ้าจะเป็นสิ่งของ สัตว์ ต้นไม้ ลำธาร ภูเขา ทุกอย่างเป็นธรรมหมด แต่มีธรรมอยู่ตัวหนึ่งซึ่งไม่สามารถมองเห็น ไม่สามารถสัมผัสได้ แต่เป็นธรรมเพราะมีจริง นั่นคือจิต ตัวธรรมก็มีทั้งเหตุ ทั้งผล มีเกิด และดับ
ท่านอาจารย์ ลักษณะที่เกิด และดับ แสดงความไม่เที่ยง นั่นคือลักษณะที่มีจริงๆ
ผู้ฟัง ก็มีจิตเกิด และมีจิตดับ
ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้น และดับไป
ผู้ฟัง ถ้าเป็นอย่างนี้ สมมติว่าคนเราพอตาย
ท่านอาจารย์ ยังไม่ทันตาย จิตเกิดดับหรือเปล่า
ผู้ฟัง เกิด
ท่านอาจารย์ แล้วก็ดับ แล้วก็เกิดอีก แล้วก็เกิดอีก แล้วก็ดับอีก เพราะฉะนั้นจิตจึงมีต่างกันถึง ๘๙ ชนิด
ผู้ฟัง หมายความว่าอย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ จิตเห็น เพราะโต๊ะ เก้าอี้ไม่เห็น รูปเห็นไม่ได้ รูปรู้อะไรไม่ได้ จิตได้ยิน เวลากลิ่นกระทบ จิตรู้กลิ่น เวลาที่มีรสกระทบลิ้น จิตรู้รส นี่คือจิตทั้งนั้น แต่ว่าจิตที่เห็นไม่ใช่จิตที่รู้รส ไม่ใช่จิตที่ได้ยิน จิตที่ได้ยินก็ไม่ใช่จิตที่รู้รส
เพราะฉะนั้นก็เป็นชั่วขณะหนึ่งซึ่งแสนสั้น ซึ่งเกิดขึ้นทำหน้าที่แล้วดับ แล้วนามธรรมซึ่งเป็นจิต เขาเป็นลักษณะซึ่งเป็นปัจจัยในตัวของเขาที่ว่า ทันทีที่ดับ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ไม่มีระหว่างคั่นเลย สภาพที่เป็นปัจจัยอันนี้ คือ ใช้คำว่า “อนันตรปัจจัย” หมายความว่า ตัวจิตเองเป็นอนันตรปัจจัย คือ ทันทีที่เขาดับ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด
เพราะฉะนั้นจิตทุกดวงเป็นอนันตรปัจจัย นอกจากจุติจิตของพระอรหันต์ ดับปัจจัยทุกอย่าง เพราะถ้ายังมีปัจจัยอยู่แม้สักนิดหนึ่ง ก็เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมเกิดได้ แต่ว่าที่จะไม่มีสภาพธรรมเกิดหลังตาย ก็คือจิตขณะนั้นแหละไม่มีปัจจัยใดๆ ที่จะทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดอีก แต่ว่าสำหรับคนธรรมดา มีปัจจัยเยอะ จิตขณะหนึ่งซึ่งเกิดมีปัจจัยเยอะแยะ ที่จะทำให้ขณะต่อไปเกิดขึ้นเป็นอะไร เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ เป็นผลของกุศล อกุศลก็ได้ ซึ่งเราจะต้องทราบละเอียดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เพื่อว่ามันไม่ใช่เรา เพื่อที่จะได้เข้าใจจริงๆ ว่า ไม่ใช่เรา เพราะอย่างนั้น เพราะอย่างนั้น เพราะอย่างนั้น