จิต - เจตสิก
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น อย่างเราใช้คำตัวแทนว่า “เรา” ก็คือสภาพธรรมทั้งหมด ที่แบ่งออกเป็น ๖ อย่าง ใช่หรือเปล่าครับ
ท่านอาจารย์ เป็นจิต เจตสิก รูป
ผู้ฟัง อันนี้ไม่เข้าใจครับ
ท่านอาจารย์ เมื่อกี้ถามคุณกัลยาณีว่า ปรมัตถธรรมมีเท่าไร คือ ปรมัตถธรรมหมายถึงธรรมที่มีจริงๆ ใครจะเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้เลย และสภาพธรรมที่มีจริงๆ ต่างออกเป็น ๔ อย่าง หมายความว่า ๔ อย่างนี้ปะปนกันไม่ได้เลย คือ ๑. จิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นใหญ่เป็นประธานจริงๆ เขาสามารถรู้ทุกอย่างได้ คนที่มีความชำนาญ เขาจะเห็นเพชรแท้กับเพชรเทียม หรือหยกกับหิน เขาสามารถจะบอกได้ โดยจิตสามารถจะรู้แจ้งในความต่างอย่างละเอียด หรือฟ้ากับน้ำทะเล เราก็บอกได้ เพราะว่ามีลักษณะที่ต่าง แม้ว่าสีจะคล้ายคลึงกัน แต่จิตสามารถจะรู้แจ้งในสิ่งที่ปรากฏ
นี่คือลักษณะของจิต แต่จิตเขาจะไม่ทำอะไรเลยสักอย่างเดียว เป็นใหญ่จริงๆ ในการเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏเท่านั้น แต่จิตจะเกิดเองตามลำพังไม่ได้ ทุกอย่างที่เกิดต้องมีเหตุปัจจัย หรือมีสภาพธรรมอื่นทำให้เกิดขึ้น อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นเวลาจิตจะเกิด ต้องอาศัยเจตสิก เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งเกิดกับจิต จะไม่เกิดกับอย่างอื่นเลย จะไม่เกิดกับรูป จะไม่เกิดกับโต๊ะ จะไม่เกิดกับเก้าอี้ จะไม่เกิดกับอะไร แต่จะเกิดกับจิตเท่านั้น
ตัวอย่างที่เราเห็นชัดๆ คือ ความรู้สึก บางครั้งมีความรู้สึกดีใจเกิดกับจิต เสียใจเกิดกับจิต นี่เป็นเจตสิกทั้งหมด เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดกับจิต ชื่อว่า เจตสิก แต่มีหน้าที่คนละอย่างกับจิต เพราะฉะนั้นสภาพของเจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ชนิด มีลักษณะหน้าที่ต่างกับจิตโดยสิ้นเชิง และเจตสิกแต่ละชนิดเขาก็มีลักษณะหน้าที่ของเขา แต่ละอย่าง แต่ละอย่าง แต่ละอย่าง
นอกจากความรู้สึกดีใจ เสียใจแล้ว คุณชาลิกลองยกตัวอย่างเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่เกิดกับจิตว่ามีอะไรบ้าง ที่เป็นเจตสิก คือสภาพที่ไม่ใช่จิต แต่เกิดกับจิต
ผู้ฟัง ตัวอย่างเช่น เราง่วงนอน
ท่านอาจารย์ ค่ะ จิตเขาต้องรู้อารมณ์อย่างเดียว ง่วงไม่ได้ จิตเกิดขึ้นแล้วต้องรู้เท่านั้น ทำอะไรไม่ได้เลย รู้เฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏ ลักษณะสภาพของจิตเป็นใหญ่จริงๆ ไม่มีรูปหนึ่งรูปใดเกี่ยวข้องเลย ไม่มีว่าเราต้องไปคิดถึงหทยวัตถุ หรือที่เกิดของจิต หรืออะไรเลย เพราะว่าถ้าลักษณะนั้นปรากฏ โดยสภาพที่เป็นจิต จะต้องเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งในลักษณะของอารมณ์ เป็นใหญ่ ซึ่งเป็นธาตุรู้ ซึ่งใช้คำว่า “มนินทรีย์” เพราะอินทรีย์ สภาพที่เป็นใหญ่มีหลายอย่าง แต่เราค่อยๆ เรียนไปตามลำดับ
ทีนี้ความง่วง โต๊ะ เก้าอี้ มันง่วงไม่ได้ แต่ลักษณะที่ง่วงนี่มี เพราะฉะนั้นลักษณะที่ง่วง เกิดกับจิต เพราะฉะนั้นจึงเป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง ใน ๕๒ ประเภท
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น เราหิว เราโกรธ พวกนี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเจตสิกทั้งนั้น แต่จริงๆ แล้ว จิตคือเป็นธรรม
ท่านอาจารย์ เขาเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ แต่เขาไม่จำ ไม่คิด ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่อะไรทั้งหมดเลย พวกนั้นเป็นเจตสิกซึ่งเกิดกับเขา เพราะฉะนั้นจิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ แล้วเจตสิกจะเกิดโดยไม่มีจิตไม่ได้
เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงจิต หมายรวมเจตสิกด้วย
ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าเราง่วงนอน เราไปนอน สภาพของจิตหรือเปล่าครับ
ท่านอาจารย์ คุณชาลิกตั้งแต่เกิดจนตาย หรือใครก็ตาม จิตเจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน คือ จิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกอะไรที่เกิดกับจิต ต้องดับพร้อมจิต เจตสิกทุกดวงที่เกิดกับจิตนั้นต้องดับพร้อมจิตนั้น จะไปแยกดับทีหลังไม่ได้ แล้วต้องรู้อารมณ์เดียวกันด้วย อย่างพอจิตรู้แจ้งสีของดอกกุหลาบ เจตสิกจำ และโลภะติดข้อง เขาทำหน้าที่ในสิ่งที่จิตกำลังรู้แจ้ง โดยที่เจตสิกไม่ใช่จิต เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จะเกิดที่เดียวกันด้วย เพราะว่าจิตไม่เกิดนอกรูป ต่อไปเราจะรู้ว่า จิตประเภทไหนเกิดที่รูปไหน ชั่วขณะนิดเดียวแล้วก็ดับ นี่คือชีวิตที่แสนสั้นของทุกคน
เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรามีอายุยืนยาวมาก ชั่วขณะจิตเดียว แล้วจิตขณะนั้นก็ดับ แล้วจิตขณะต่อไปก็เกิด จนกว่าจะถึงจิตขณะสุดท้าย ซึ่งทำหน้าที่พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ จะไม่กลับมาเป็นบุคคลนี้อีกเลย แต่ว่ากรรมหนึ่งจะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดต่อจุติจิตทันที คือ เกิด ภาษาบาลีใช้คำว่า “ปฏิสนธิ” สืบต่อจากจุติ
นี่คือสังสารวัฏฏ์