การรับผลของกรรม


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรามีอายุยืนยาวมากเลย ชั่วขณะจิตเดียว แล้วจิตขณะนั้นก็ดับ แล้วจิตขณะต่อไปก็เกิด จนกว่าจะถึงจิตขณะสุดท้ายซึ่งทำหน้าที่พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ จะไม่กลับมาเป็นบุคคลนี้อีกเลย แต่ว่ากรรมหนึ่งจะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดต่อจากจุติจิตทันที คือ เกิด ภาษาบาลีใช้คำว่า ปฏิสนธิ สืบต่อจากจุติ นี่คือสังสารวัฏฏ์

    ผู้ฟัง อันนี้คือเกิดขึ้นในอีกภูมิหนึ่งใช่ไหมครับ พอจิตดับปุ๊บ ก็มีการปฏิสนธิทันทีในอีกภูมิหนึ่ง ซึ่งก็สืบเนื่องจากผลกรรมที่ทำเอาไว้ บาป และบุญ จะส่งผลให้เราเกิดในภูมิไหน

    ท่านอาจารย์ ค่ะ แต่ว่ากรรม ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว เหมือนกรรมเก่าทั้งหมดที่ได้กระทำแล้วในแสนโกฏิกัปป์ สามารถจะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้ หรือเมื่อไม่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ก็ให้ผลหลังปฏิสนธิ

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เราเกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศล เราไม่ได้เกิดเป็นสัตว์ เราอ่านได้ เราเขียนได้ เราคิดได้ เราไตร่ตรองได้ เป็นมนุษย์สามารถมีปัญญาได้ อบรมได้ ก็เป็นภูมิที่ดี แต่เราก็มีผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทำให้บางวันผลของกรรมที่เรียกว่า อกุศลวิบากจิตเกิดขึ้น อาจจะเห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ได้กลิ่นที่ไม่ดี ลิ้มรสที่ไม่ดี กระทบสัมผัสที่ไม่ดี นั่นเป็นผลของกรรม ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “วิบากจิต”

    เพราะฉะนั้นถ้ากรรมมี ๒ อย่าง กุศลกรรม ดับไปแล้วจริง เป็นปัจจัยให้กุศลวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมเกิดได้ อกุศลกรรมดับไปนานแล้วก็จริง แต่ก็เป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากจิต ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรมเกิดได้

    เพราะฉะนั้นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก ก็คือทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส หลังจากเกิด เพราะว่าเกิดนี่ก็ต้องเป็นผลของกรรมแล้ว แต่ไม่ทำให้ตาย ยังให้เป็นคนนี้อยู่ แล้วเป็นคนนี้ ไม่ใช่ไม่ต้องรับผลของกรรมอะไร เราหลับไป เรายังไม่ตาย เพื่อตื่นขึ้นรับผลของกรรมต่อไปทันทีที่ลืมตา นี่ก็เป็นการรับผลของกรรม

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นเวลาเราหลับ จิตก็ไม่ได้หลับ ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ความจริงแล้ว หลับคืออะไร เห็นไหมคะ แต่ละคำๆ ที่เราใช้จะต้องกับลักษณะของจิตแต่ละชนิด ที่ทำหน้าที่แต่ละอย่าง

    เพราะฉะนั้นถ้าเรายังไม่รู้ เราก็ใช้คำว่า “หลับ” หมายความว่าขณะนั้นไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิด คือไม่ฝันด้วย นั่นคือหลับสนิท ขณะนั้น เป็นภวังคจิต

    ถ้าเคยได้ยินคำว่า “ภวังค์” หมายความว่าเป็นจิตซึ่งไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ คือไม่ฝันด้วย

    เพราะฉะนั้นต้องทราบจิตคือการสืบต่อตั้งแต่ขณะปฏิสนธิ ขณะแรกที่สุดของชาตินี้ ที่เกิดชื่อว่า ปฏิสนธิ เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นเป็นวิบากจิต ขณะนั้นไม่ได้ทำกุศลอกุศลใดๆ เลย แต่กรรมทำให้วิบากจิตประเภทหนึ่งเกิด ถ้าเป็นกุศลวิบากจิตเกิด ขณะแรกขณะเดียวแล้วดับ แต่กรรมทำให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อ ดำรงภพชาติ โดยยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน

    เพราะฉะนั้นหลับก็คือขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก แต่เป็นระยะเวลานาน เวลานี้ก็มีภวังค์คั่น แต่สั้น แต่เวลาหลับมีภวังค์ยาว จึงเรียกว่าหลับ


    หมายเลข 8632
    23 ส.ค. 2567