เราโดยลักษณะ ๓
คุณศุกล เรื่องที่อยากเรียนถามท่านอาจารย์ คำว่า “เรา” โดยลักษณะ ๓ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ปกติแล้วจากที่เคยฟังก็พอเข้าใจว่า ที่เป็นทิฏฐิจะน้อยมากในชีวิตประจำวันที่จะมีความเห็นดิ่งหรือปักลงไป แต่ว่าโดยปกติแล้วจะเป็นไปในเรื่องตัณหาเสียมากกว่า
ท่านอาจารย์ แน่นอน
คุณศุกล ทีนี้ตัณหาที่เป็นไปอยู่ เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า โทษของสิ่งนี้มันมากน้อยอย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ถึงอกุศลกรรมบถก็เป็นการสะสมอุปนิสัย
คุณศุกล ถ้าเป็นกรรมบถ จะนำไปสู่การกระทำอะไรครับ
ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่คุณศุกลรักตัวแค่ไหน พอใครเขาเงื้อมมีดมาจะฆ่า จะทำอะไรเขาล่ะ ตัวเรากำลังจะตาย เพราะความรักตัวเราหรือเปล่า เพราะกำลังมีตัวเรา ที่เป็นตัวเราขณะนั้นพอใจในความเป็นเราหรือเปล่า
คุณศุกล ครับ พอถึงมานะล่ะครับ
ท่านอาจารย์ มานะ ความสำคัญตน นี่อันตรายนะคะ เพราะพระอรหันต์ถึงจะละได้
คุณศุกล นั่นซิครับ ผมถึงอยากฟังความละเอียดจากท่านอาจารย์สักนิดครับ
ท่านอาจารย์ มานะเกิดขึ้นแทบจะไม่รู้ตัว ถ้าเราไม่ศึกษาโดยละเอียด ถ้าสมมติเราจะวิจารณ์ใครสักคน รู้ไหมว่า เราต้องดีกว่าเขา เราถึงจะพูดอย่างนั้นได้ เห็นไหมว่า ล้อมรอบตัวเลย โดยที่คนไม่รู้เลย ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ มันจะมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง หรือจะมีความรู้สึกว่า เขาทำไมแต่งตัวอย่างนี้ ใส่ตุ้มหู เจาะตุ้มหู ก็เขาเป็นเด็ก วัยของเขา ทำไมเราต้องเดือดร้อนหรืออะไร มันเป็นเรื่องที่ว่ามีเรา มีเขา เราต้องดี เด็กสมัยนี้ไม่ดี ผู้ใหญ่สมัยล้านปีดีกว่า อะไรอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะมองเห็นได้เลยว่า ทั้งหมดนี้เพราะไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่มีเรา มีแต่ความคิด ถ้าศึกษาธรรมแล้ว ความคิดเหมือนกระจกเงา พอจะคิดถึงเรื่องคนอื่นปุ๊บ สะท้อนมาที่จิตเลยว่า ขณะนั้นเป็นจิตอะไรที่คิด ไม่มีคนนั้น แต่มีอกุศลจิตของเราปรุงแต่งเป็นคนนั้นขึ้นมาในทางที่เดี๋ยวโลภะ เดี๋ยวมานะ เดี๋ยวอะไรต่างๆ
ผู้ฟัง ถ้าเราเจริญเมตตาบ่อยๆ เรื่อยๆ มานะก็จะค่อยๆ ลดลงใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ดิฉันไม่เคยหวังว่า อะไรมันจะลด คือ ไม่ต้องไปคิดว่า ทำอย่างนั้นสิ่งนั้นจะลด หรือทำอย่างนี้สิ่งนี้จะลด เหมือนกับเราหวังอยู่ตลอดเวลา ทำดีที่สุดแล้ว ทุกอย่างก็เป็นสังขารขันธ์ไป จะต้องมาลดนั่นลดนี่ทำไม แต่เราจะรู้ได้ว่า สติของเราจะเกิดระลึกได้เร็วขึ้น เพราะว่าบางทีดิฉันอาจจะพูดไม่ค่อยดี พูดตรง และก็เร็วด้วย คือไม่รีรอ นั่นก็เป็นจุดหนึ่งที่อาจทำให้คนอื่นไม่สบายใจ อันนี้ต้องมีแน่ๆ แต่ไม่สบายใจน้อยหรือมาก ใช่ไหมคะ คือไม่ใช่ใช้วาจาดุร้าย สามหาว หยาบคาย แต่คำพูดที่ตรงบางทีก็อาจจะทำให้คนไม่คิด เขาก็ไม่คิด เขาก็ผ่านไปเลย แต่ถ้าเขาคิด เขาก็คงคิดว่า ทำไมพูดอย่างนี้ พูดอีกอย่างก็ได้
เพราะฉะนั้นทำให้ดิฉันรู้ว่า อย่างที่ท่านพระสารีบุตรท่านกล่าวไว้ บางคนกายดี วาจาไม่ดี ใจดี ใช่ไหมคะ มีสารพัดอย่าง ซึ่งเราไม่เข้าข้างตัวเราเอง เราต้องรู้ว่า ตรงไหนที่เราไม่ดี เพราะฉะนั้นมีทางที่เราไม่หวัง แต่เขาเกิดระลึกได้ ดิฉันไม่ใช่คนที่ดีพร้อมค่ะ บางทีวาจาก็แย่
คุณศุกล ทีนี้ถ้าหากว่า เรามีการระมัดระวัง โดยที่เห็นว่า สิ่งใดเป็นคุณ สิ่งใดเป็นโทษ
ท่านอาจารย์ อันนี้สำคัญ ตัวนี้คือโยนิโสมนสิการ
คุณศุกล แต่จะหลงลืม หรือระลึกได้แค่ไหน อย่างไร ก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจ
ท่านอาจารย์ แต่ถ้าเราคิดให้ซึ้งจริงๆ แล้ว ไม่มีประโยชน์ที่จะเกลียดใคร
คุณศุกล คิดให้ซึ้ง คิดให้ถูก มันคิดยากนะครับ
ท่านอาจารย์ เป็นจริงไหมคะ ไม่มีเขา มีความคิด มีตัวคิด และจิตที่คิดเป็นอกุศล และก็เพิ่ม แล้วเน่า แล้วก็ดำ แล้วก็ล้างออกยาก แล้วไม่ได้อยู่ที่อื่น แล้วไปฝากใครเขาไว้ก็ไม่ได้ ใครเขาก็ไม่เอา ใช่ไหมคะ
คุณศุกล และที่ว่า จิตของเรากับความไม่มีตัวไม่มีตน
ท่านอาจารย์ ตราบใดที่ยังไม่ใช่ธาตุรู้ ขณะนั้นก็เป็นของเรา ถ้าปัญญายังไม่รู้จริงๆ ว่า มันเป็นแต่เพียงธาตุรู้ที่เกิดแล้วดับ
คุณศุกล ถึงรู้ เวลาที่เป็นอกุศล ก็สะสมไว้สำหรับโอกาสที่มีเหตุมีปัจจัย
ท่านอาจารย์ แค่นี้ไม่เรียกว่า”รู้” แค่นี้เรียกว่า “ฟังเข้าใจ“
คุณศุกล ถ้ารู้ล่ะครับ แค่ไหน
ท่านอาจารย์ รู้ ก็ต้องประจักษ์แจ้งในความเป็นธาตุรู้
คุณศุกล ถ้าถึงขั้นประจักษ์แล้ว ทุกอย่างคงจะเบาบางลงไปมากเลย
ท่านอาจารย์ อย่าเพิ่งหวัง เพราะว่าวิปัสสนาญาณมีหลายขั้น พระอริยบุคคลมีหลายขั้น แสดงให้เห็นถึงความหนา เหนียว ลึกของกิเลส ฟังทุกวัน ก็ยังเป็นเรา เห็นไหมคะแค่ฟัง แสดงให้เห็นว่า ต้องอบรมเจริญต่อไปอีก อย่างไรๆ เราเกิดมาในยุคที่มีหนทาง ก็เรียกว่าดีแล้ว ไม่ต้องไปคิด ไปหวังอะไรทั้งหมด นอกจากไม่ทิ้งพระธรรม ถ้าทิ้งเมื่อไร ก็เรียกว่า จบเมื่อนั้น
คุณศุกล ทีนี้พระธรรมส่วนอื่นค่อนข้างต้องใช้ความอดทน และมีความอยาก
ท่านอาจารย์ ด้วยกันทั้งหมด
คุณศุกล ทีนี้ธรรมที่เป็นส่วนพื้นฐานก็ยังไม่ค่อยมีกำลังเท่าไร
ท่านอาจารย์ ด้วยกันทั้งหมด ค่อยๆ ไปด้วยด้วยกันทั้งหมด
คุณศุกล กุศลอื่นที่อาจจะเป็นไปอย่างปกติ ผมก็ยังไม่ยกย่องเท่ากับปัญญาเลย เพราะแม้แต่ความคิด ถ้าหากว่ามีปัญญา ก็ไม่คิดให้ตัวเองเดือดร้อน และในขณะเดียวกันก็นำไปสู่ความสงบทุกอย่างหมดเลย คิดก็คิดถูก พูดก็พูดดี และอะไรๆ ก็ดีไปหมดเลย เพราะปัญญาแท้ๆ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องอบรมให้มากขึ้น เพราะเราเห็นคุณค่าแล้วไงคะ