ค่อยๆเข้าถึงลักษณะจริงๆของธรรม
ผู้ฟัง ต้องเป็นลำดับขั้นหรือเปล่าครับ
ท่านอาจารย์ หมายความว่าอย่างไรคะ ลำดับขั้น
ผู้ฟัง หมายความว่าก็ต้องฟังไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีความเข้าใจในการฟังมากขึ้นเรื่อยๆ
ท่านอาจารย์ เวลาที่มีการฟังเข้าใจ สติยังไม่เกิดเลยก็ได้ เพราะว่ายังไม่มีปัจจัยพร้อมที่จะให้สติเกิดระลึกว่า มีตัวจริงๆ มีธรรมจริงๆ ไม่ใช่มีแต่เรื่องราว อย่างเห็นเดี๋ยวนี้เห็นจริงๆ ถ้ามีปัญญาที่จะรู้ว่า ขณะนี้มีเห็นจริงๆ สติก็ระลึกได้ว่า นี่ตัวจริง ไม่ใช่เรื่องเห็น ตัวจริงกำลังเห็น และตัวจริงกำลังได้ยิน
นี่คือตัวจริงของธรรม เพราะฉะนั้นสติก็จะค่อยๆ ระลึกเพื่อจะได้รู้ให้ตรงกับที่เรียนว่า รู้คืออย่างนี้ ลักษณะที่รู้คืออย่างนี้ สภาพที่รู้คืออย่างนี้ มันมีจริงๆ ให้เข้าใจว่ามีจริงๆ ลักษณะนั้นก็มีจริงๆ อย่างนั้น ไม่ใช่ให้เป็นอย่างอื่น ไม่ใช่ไปคอยสติ หรือหวังให้สติเกิด หรืออะไรอย่างนั้น แต่เพื่อเข้าใจตัวจริงของธรรม นั่นคือสติระลึก
ผู้ฟัง แล้วที่คุณหมอเคยพูดให้ผมฟังว่า ปกติชอบเดินออกกำลังกาย แล้วเดินไปก็เจริญสติไป หมายความว่าอย่างไรครับ หมายความว่าสติเกิด แล้วเมื่อกี้บอกว่า เข้าใจไม่พอแล้วไม่ระลึก เลยจะขอถามหน่อย
ผู้ฟัง ผู้ฟังก็อาจจะรู้สึกว่า พูดกลับไปกลับมา แต่ความจริงในขณะที่เกิดระลึกลักษณะ ก็มีแบบที่ระลึกตรงลักษณะเลยกับเราคิดนึกช่วยบ้างเป็นบางครั้ง ก็มีความรู้สึกว่า มีความรู้เพิ่มขึ้นๆ ในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางแข็ง ก็รู้สึกว่าเรามีความเข้าใจหรือความรู้เพิ่มขึ้น
ท่านอาจารย์ อีกหน่อยหมอจะใช้คำว่า ขณะที่ออกกำลัง บางทีสติก็เกิด บางทีสติก็ไม่เกิด แต่ก่อนเราใช้คำว่า “เจริญสติ” แต่ต่อไปเราจะรู้ว่า บางครั้งสติเกิด บางครั้งสติไม่เกิด แทนที่เราจะใช้คำว่า “เจริญสติ” เพราะว่าส่วนใหญ่คนจะใช้คำว่า “ปฏิบัติ” แล้วจะบอกว่า “เจริญสติ” แต่จริงๆ แล้วไม่มีตัวเราหรือใครที่จะเจริญเลย
ผู้ฟัง ใช้ตามที่อาจารย์เคยพูด คิดว่าคำนี้เป็นคำที่รัดกุมที่สุดแล้ว
ท่านอาจารย์ เจริญสตินี่คือสติเจริญ แล้วแต่สติจะเกิดหรือไม่เกิด
ผู้ฟัง ที่อาจารย์ว่า สติเกิดกับหลงลืมสติก็ดีครับ
ท่านอาจารย์ เพราะว่าอย่างไรก็ตาม ตอนแรกทุกคนต้องมีความเป็นเราอย่างมากมายเหลือเกิน เพราะฉะนั้นยากเหลือเกินที่จะไม่คิดว่า เจริญสติหรือจะเจริญสติ แม้แต่คำว่า จะเจริญสติ พอนึกขึ้นมาได้เหมือน “จะ” แล้ว นี่แสดงให้เห็นว่า ความเป็นตัวตนยังมีอยู่มาก แล้วภายหลังจะค่อยๆ ชิน จะค่อยๆ รู้ แล้วค่อยๆ ละ จนกระทั่งสติจะเกิดหรือไม่เกิดก็เป็นเรื่องของสติจริงๆ
เพราะฉะนั้นจึงเห็นความต่างกันของขณะที่สติเกิดกับหลงลืมสติ นี่ตอนหนึ่ง แต่เมื่อสติเกิดแล้ว ปัญญามีแค่ไหน
คุณศุกล ถ้าสติเกิด จะเป็นเรื่องเป็นราว หรือเป็นเพียงขณะนิดเดียวครับ
ท่านอาจารย์ ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรมซึ่งเราเรียนมา แล้วมีการระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ นั่นคือสติเกิด แล้วแต่ปัญญารู้แค่ไหน จะมากหรือจะน้อย จะนานหรือจะช้า นั่นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แต่สติต้องดับแน่นอน
คุณศุกล ครับ สติเกิดก็ดับ
ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ซิคะว่า สติจะเกิดต่อหรือไม่ต่อ หรือจะห่างไป หรือคิดนึกแทรกเข้ามาอีกตั้งเยอะแยะ แล้วสติก็เกิดอีกก็ได้ ไม่มีกฎเกณฑ์ โดยความเป็นอนัตตา
คุณศุกล มันเป็นความสงสัยที่ว่า สติกับความคิดมันใกล้กันมาก เหมือนกับเมตตากับโลภะ จนกว่าจะรู้ว่า ขณะไหนสติเกิด จึงจะรู้ว่า ต่างกับขณะที่หลงลืมสติ ต่างกับขณะที่คิด อย่าลืมว่า ศึกษาธรรมจะขาดการย้อนกลับมาหาปรมัตถธรรมไม่ได้ มิฉะนั้นแล้วแสดงว่าเราไม่เข้าใจ อย่างบอกว่า กำลังเริ่มเข้าใจแล้ว ก็ต้องรู้ว่าเป็นปรมัตถธรรมอะไร
ผู้ฟัง คิดว่าเป็นจิตครับ
ท่านอาจารย์ จิตไม่ใช่สติค่ะ จิตรู้เฉยๆ จิตที่ดีก็มี จิตที่ไม่ดีก็มี เพราะฉะนั้นจิตไม่ใช่สติ สติเป็นสภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศล อย่างวันหนึ่งๆ เราไม่เคยระลึกเป็นไปในทานเลย แต่พอเกิดนึกที่จะให้นก ขณะไม่ใช่คุณชาลิก ต้องเป็นปรมัตถธรรม มีจิตแน่นอนตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ทีนี้เจตสิกที่เกิดกับจิตต่างชนิดว่า เจตสิกชนิดไหนจะเกิดกับจิตขณะไหน
เพราะฉะนั้นขณะที่สติเกิด เขาจะระลึกเป็นไปในกุศลทั้งหมด ทุกประเภท นั่นคือสติ ไม่เหมือนสติภาษาไทยเรา สติเป็นเจตสิก เป็นสภาพที่มีจริง เป็นสภาพที่ระลึกในกุศล อย่างคนที่เขาจะฆ่านก แล้วเขาหยุดไม่ฆ่า สงสารเกิดขึ้นมา ขณะนั้นไม่ใช่เขา แต่เป็นสติที่ระลึก ที่จะเว้นการทุจริต เพราะขณะที่คนทำทุจริต ขณะนั้นสติไม่เกิด แต่พอสติเกิดจะเว้นทุจริตทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ นั่นคือสติเกิด
เพราะฉะนั้นสติเป็นปรมัตถธรรมอะไร
ผู้ฟัง เป็นเจตสิก ซึ่งเป็นโสภณเจตสิก หมายความว่าเจตสิกฝ่ายดี ใช้คำว่า “โสภณ” เพราะไม่ใช่กุศลอย่างเดียว เป็นวิบากก็ได้ เป็นผลของกุศลก็ได้ ทำให้เรามีพื้นจิตใจตอนปฏิสนธิต่างกัน ถ้าจิตใจในขณะนั้นไม่ประกอบด้วยสติก็เป็นจิตชั้นเลว เกิดมาเป็นคนพิการ หรือไม่มีสติปัญญา ปัญญาอ่อน แต่ถ้ามีสติครบถ้วนบริบูรณ์ และมีความรู้ความเข้าใจธรรมได้ เพราะว่ามีพื้นจิตซึ่งมีสติซึ่งเป็นวิบากเกิดร่วมกับจิตที่เป็นวิบากซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม ทำให้ปฏิสนธิจิตเป็นกุศลวิบากจิต
เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจ ถ้าเราพูดกัน ๕ คน แล้วคุณชาลิกคนเดียวไม่รู้ว่า สติคืออะไร เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องรู้ว่า สติคืออะไร กำลังฟังมีสติหรือเปล่าคะ
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ เพราะอะไรคะ ทำไมว่ามี
ผู้ฟัง เพราะมีการระลึก
ท่านอาจารย์ ระลึกอย่างไร เพราะกุศลจิตเกิด ระลึกเป็นไปในเสียง ในความเข้าใจ ในเหตุในผล เขาไม่ได้ระลึกผิด เพราะมีการฟังต่อมา ฟังเรื่องเห็น เรื่องได้ยิน เรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป และขณะนี้จิต เจตสิก รูปกำลังเกิดดับ โดยที่สติไม่ได้ระลึก นี่ตอนหนึ่ง ใช่ไหมคะ แต่เวลาที่มีการระลึก คือสติเกิด สิ่งที่ปรากฏไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลยทั้งสิ้น ไม่ต้องไปทำอะไรเลย เพียงแต่ค่อยๆ รู้ขึ้นว่า ขณะนี้เป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏทางตา แค่นี้ค่ะ ไม่ต้องไปนั่งกั้นว่า ยังไม่คิด หรือคิดอะไร ไม่ต้องสนใจเลย แต่เริ่มเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา
นี่คือค่อยๆ จะชินกับลักษณะของธาตุชนิดหนึ่งซึ่งกำลังปรากฏทางตา ตรงตามที่ได้ยินได้ฟังทุกอย่าง คือ ค่อยๆ เข้าใจในขณะนี้ที่กำลังเห็น
ผู้ฟัง ค่อยๆ เข้าใจก็ปัจจัตตัง ไม่มีใครมาทราบเรา
ท่านอาจารย์ ไม่มีใครทราบ แต่หมายความว่าเราไม่เคยรู้ ฟังมาก็เยอะ แต่ว่าขณะใดที่กำลังรู้ว่า เป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้น นี่คือสติปัฏฐานที่กำลังค่อยๆ เกิด ค่อยๆ เข้าใจขึ้น และต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วย ขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏ ค่อยๆ เข้าถึงลักษณะจริงๆ ของธรรม