มรรคจิตทำกิจครบทั้ง ๔


    ผู้ฟัง ขณะนี้กำลังรู้นิพพานเป็นอารมณ์ก็รู้ทุกข์ด้วย แต่นิพพานไม่ใช่ทุกข์ ผมถามว่า กำหนดทุกข์อย่างไรที่กำลังมีนิพพานเป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้หมายความว่า ขณะนั้นทำกิจรู้ทุกข์นะคะ แต่ทำกิจแจ้งนิพพาน เพราะว่าก่อนนั้นรู้ทุกข์ แล้วก็รู้เหตุของทุกข์ แล้วละเหตุของทุกข์ ใช่ไหมคะ แล้วกำลังเจริญมรรค ยังไม่สมบูรณ์ แต่สมบูรณ์เฉพาะเมื่อโลกุตตรจิตหรือมรรคจิตเกิด เพราะว่าขณะนั้นแจ้งนิพพาน ทำกิจครบ ๔ แต่ไม่ได้หมายความว่าทำพร้อมทั้ง ๔ ในขณะนั้น แต่หมายความว่าก่อนนั้นทำแล้ว เห็นทุกข์แล้ว แล้วก็รู้เหตุของทุกข์ แล้วก็ละเหตุของทุกข์ด้วย แต่ยังไม่ครบ ขาดอีก ๑ กิจ จนกว่าจะถึงโลกุตตรจิตเมื่อไร มรรคจิตเกิดเมื่อไร เมื่อนั้นก็ครบ ครบที่ได้ทำแล้ว

    ผู้ฟัง นิพพานเป็นเหตุผลของการกำหนดรู้

    ท่านอาจารย์ เป็นอารมณ์ของโลกุตตรจิต คือ ธรรมดาจิตอื่นไม่สามารถมีนิพพานเป็นอารมณ์ได้เลย เฉพาะโลกุตตรจิตเท่านั้นที่จะมีนิพพานเป็นอารมณ์ได้ กว่าจะถึงนิพพานเป็นอารมณ์ก็ต้องทำกิจอื่นๆ ซึ่งกำหนดรู้ทุกข์โดยปริญญา และวิปัสสนาขั้นอื่น แล้วก็มีการละเหตุของทุกข์โดยปริญญา และวิปัสสนาขั้นอื่น และมรรคก็ได้เจริญ แต่ยังไม่สมบูรณ์ จนกว่าจะมีนิพพานเป็นอารมณ์ ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน นิพพานไม่ได้เกิดเป็นผล แต่ผลคือมรรคจิตถึงนิพพานหลังจากที่ได้อบรมเจริญแล้ว มิฉะนั้นก็จะไม่แยกเป็นโลกุตตรกุศลกับโลกุตตรวิบาก เพราะว่าโคตรภูจิตก็มีนิพพานเป็นอารมณ์ ใช่ไหมคะ ก็จะมีคำแย้งว่า โคตรภูจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ไม่ใช่โลกุตตรจิต เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์

    ทีนี้เมื่อโคตรภูจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่เป็นเพียงมหากุศลญาณสัมปยุตต์ เพราะอะไร เพราะเหตุว่าไม่ได้ทำกิจดับกิเลสเป็นสมุจเฉทก็ตรงมรรคจิตซึ่งประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานเต็มที่ทำกิจนั้นจึงได้เป็นการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท และเมื่อโลกุตตรจิตที่เป็นโลกุตตรกุศลดับแล้ว ผลจิตที่เป็นวิบากเกิดมีนิพพานเป็นอารมณ์ต่อ

    เพราะฉะนั้นคำจำกัดความของโลกุตตรจิตก็ต้องเพิ่มเติมว่า คือ จิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์โดยดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ได้แก่ มรรคจิต และโดยมีนิพพานเป็นอารมณ์โดยดับกิเลสแล้ว ซึ่งได้แก่ ผลจิต แต่โคตรภูจิตจะไม่อยู่ใน ๒ ข้อนี้เลย

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นขณะที่โลกุตตรจิตก็ต้องครบทั้ง ๗

    ท่านอาจารย์ ต้องมีครบ เพราะว่าถึงที่ ๗ จึงชื่อว่าครบ แต่ยังไม่ถึงที่ ๗ ยังเหลืออีก ๑ ก็ยังชื่อว่าครบไม่ได้ ถึง ๖ ไม่ถึง ๗ ก็ครบไม่ได้ ในพระไตรปิฎกจะต้องสอดคล้องกัน ทั้งพระวินัยบ้าง พระสูตรบ้าง พระอภิธรรมบ้าง


    หมายเลข 8642
    23 ส.ค. 2567