อยากดีเกินความจริงที่ตัวเองเป็น
ผู้ฟัง ขณะที่สติปัฏฐานเกิดที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นอย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ ขณะที่สติปัฏฐานเกิด มีสภาพธรรมกำลังปรากฏในขณะนี้ ปกติธรรมดาหลงลืมสติคือปกติ แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด หมายความว่ามีการระลึกที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะขณะนี้เป็นธรรม
การระลึกได้อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีสัมมาสังกัปปะด้วย มีวิตกเจตสิกด้วย
ผู้ฟัง อย่างเช่นโลภะเกิดก็รู้ได้ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ รู้อย่างไรล่ะคะ ถ้าถามคุณทศพลว่า กาแฟอร่อยไหม คุณทศพลตอบได้ ใช่ไหมคะว่าอร่อย ขณะนั้นเป็นสติหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ใช่ครับ
ท่านอาจารย์ แล้วขณะไหนเป็นสติ
ผู้ฟัง ขณะที่ระลึกรู้
ท่านอาจารย์ ระลึกรู้อะไร
ผู้ฟัง ขณะที่รู้รส
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นรู้รสว่าอย่างไร
ผู้ฟัง รู้ว่าเป็นนามธรรม
ท่านอาจารย์ ขณะที่ตอบว่ารู้รส เห็นไหมคะ อันนี้ก็ต้องแยกว่า ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะที่สภาพที่ลิ้มรส สภาพที่รู้รสว่าเป็นลักษณะรู้ นั่นถึงจะเป็นสัมมาสติที่จะระลึกที่ลักษณะรู้ แต่ยังต้องอาศัยสัมมาสังกัปปะด้วย ขาดไม่ได้เลย
ผู้ฟัง มันต่างกันที่โมหะ ไม่รู้ครับ
ท่านอาจารย์ โมหะก็ไม่รู้เลย เวลานี้หลังจากเห็นแล้วเป็นโมหะก็ไม่รู้ หลังจากได้ยินแล้วเป็นโมหะก็ไม่รู้ หลังจากลิ้มรสแล้วเป็นโมหะ ก็คือไม่รู้ ไม่รู้ คือ ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม ขณะที่มีโมหะก็ไม่รู้ว่าเป็นโมหะ อย่างเราเห็น หลังจากเห็นแล้วเป็นโมหะ ก็ไม่รู้ว่า เป็นโมหะ นั่นคือโมหะที่ไม่รู้
แต่ถ้าเกิดดีใจเกินกว่านั้นอีกไปนิดหนึ่งว่า มันสามารถจะผ่องแผ้วได้ หรืออะไรอย่างนี้ ก็ต้องมีความละเอียดว่า มีเราแทรกอยู่หรือเปล่าว่า เป็นเราที่สามารถมีความผ่องแผ้วได้ หรืออีกลักษณะหนึ่งก็คือว่า ความผ่องแผ้วเป็นของเรา
เพราะฉะนั้นลักษณะของความเป็นตัวตนจะมี ๓ อย่าง คือ ความยึดมั่นด้วยตัณหา ๑ ด้วยความเป็นของเรา และความยึดมั่นด้วยความเป็นตัวเรา ด้วยทิฏฐิ ๑ และด้วยความยึดมั่นว่าเป็นเรา ตัวใหญ่ๆ คือ ด้วยมานะอีก ๑ ซึ่งมันมีลักษณะ ๓ อย่าง แต่ถ้าเป็นฝ่ายกุศลจริงๆ จะสะอาดจริงๆ ขณะนั้นสามารถจะเห็นความผ่องแผ้วของจิต สภาพที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ แต่ต้องเป็นปัญญาที่สามารถแยกความต่างกันของความผ่องแผ้วหรือความปีติออกไปว่า ขณะนี้มีความแฝงไว้ด้วยเรา หรือของเรา หรือว่าตัวตนหรือเปล่า
อีกอย่างหนึ่งที่รู้สึกว่าเป็นปัญหามากๆ และก็เป็นปัญหาตลอดเลย ระหว่างคนที่ศึกษาธรรมแล้ว ก็มีความ คล้ายๆ กับว่า อยากให้ตัวเองดีกว่าความเป็นจริง ฟังดูเหมือนไม่มีใครเป็นอย่างนี้เลย ใช่ไหมคะ แต่ถ้าสังเกตจากคำถาม เมื่อไรจะเป็นอย่างนี้ ทำไมฉันมีอกุศลมาก แล้วเมื่อไรกุศลของฉันจึงจะเป็นอย่างนี้ได้ หรืออะไรๆ อย่างนี้ แสดงให้เห็นว่า ทำไมเราไม่คิดถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เรามีทั้งกุศล และอกุศล ตามความเป็นจริง คือกุศลก็เป็นกุศล อกุศลก็เป็นอกุศล และไม่ต้องไปคิดว่า เมื่อไรเราจึงจะไม่มีอกุศลอันนี้ หรือเมื่อไรกุศลอันนี้จึงจะเพิ่มขึ้น เช่น เมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิดบ่อยๆ ลืมคำนี้เลย เพราะเหตุว่าถ้าเป็นอย่างนี้แปลว่า เราไม่ได้รู้จักตัวเราเองตามความเป็นจริง เราอยากจะดีเกินกว่าความจริงที่เราเป็นอยู่ ใช่ไหมคะ คือเราอยากจะมีสติมากๆ ถ้าคนไหนอยากมีสติมากๆ คือต้องการดีเกินความเป็นจริงที่ตัวเองเป็น ในเมื่อตัวเองไม่มีเหตุพอที่จะให้สติปัฏฐานเกิดมากๆ แต่ใจคิดว่า เมื่อไรนะ สติปัฏฐานจะเกิดมากๆ นี่ก็คือหวังจะดีเกินความเป็นจริงแล้ว
เพราะฉะนั้นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นผู้ตรงที่สุด อกุศลทั้งหมดยังมีตราบใด ก็เป็นผู้ที่ตรงตามความเป็นจริงว่า ยังมีตราบนั้น ยังมีความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมก็คือสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม ยังไม่มีปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิด ก็ไม่มีปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิด ไม่ต้องคร่ำครวญว่า วันนี้สติเกิดน้อย หรือเมื่อนั่นเมื่อนี้ นั่นแสดงว่าเราต้องการดีเกินความเป็นจริงตามที่เราเป็น
ถ้าทราบว่าสติปัฏฐานคือขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็ไม่สนใจเลยว่า จะรู้มากรู้น้อย รู้อะไรแค่ไหน จะไปรู้โลกสว่าง โลกมืด ก็ไม่ต้องสนใจอีก แต่ปริยัติเป็นอย่างไร ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติแล้ว รู้จริงตามนั้น ไม่ผิดกัน