กายวิญญัติ - วจีวิญญัติ
คุณศุกล ลักษณะที่ว่าเป็นกายวิญญัติรูปตอนหนึ่ง กับวจีวิญญัติรูปตอนหนึ่ง ว่าพอจะสังเกตได้อย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงกายวิญญัติ ก็หมายความถึงลักษณะของรูปที่ทำให้เข้าใจด้วยกาย ถ้าพูดโดยอรรถก็หมายความว่า รูปซึ่งเกิดเพราะจิตต้องการให้รูปนั้นมีความหมาย เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องของจิตของคนนั้น ไม่ใช่เรื่องที่คนอื่นจะเห็นหรือจะเข้าใจ แต่ว่าเป็นลักษณะของรูปซึ่งเกิดเพราะจิต ซึ่งต้องการให้รูปนั้นเองแสดงความหมาย
เพราะฉะนั้นตาของคนจะมีความหมาย เวลาที่เขาโกรธ หรือเวลาที่เขาอยากแสดงความหมาย เขาสามารถใช้อาการลักษณะสภาพของตา ซึ่งปกติไม่มีความหมายอะไรเลย เช่น ถลึงตาเวลาจะห้าม จะมีอาการที่ตานั้นจะบอกความหมาย
เพราะฉะนั้นลักษณะของรูปนั้นมีความหมายของกายที่ทำให้มีความหมายโดยจิต แต่ว่าเวลาที่คนอื่นเห็น จะเห็นเพียงสี เหมือนอย่างในขณะนี้เห็นแต่สี ไม่สามารถเห็นกายวิญญัติของคนนั้นได้เลย แต่อาศัยความจำทำให้เข้าใจในความหมายของสิ่งนั้น แต่ตัวกายวิญญัติไม่ใช่สี ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา
เพราะฉะนั้นต้องทราบว่า ทางตาจะเห็นอย่างอื่นไม่ได้เลย นอกจากสี แต่อาศัยความจำสีซึ่งจิตเป็นมนินทรีย์ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ทำให้สามารถเห็นอาการที่เปลี่ยนจากสภาพปกติของตา ของสีนั้น เป็นสีซึ่งจักขุวิญญาณเมื่อเห็นแล้ว ทางมโนทวารสามารถเข้าใจในลักษณะของสีซึ่งเปลี่ยนไป ซึ่งทำให้เข้าใจลักษณะสภาพอาการความหมายที่จิตของคนนั้นต้องการจะให้เข้าใจ
คุณศุกล ขอแทรกตรงนี้นิดหนึ่ง ลักษณะที่เป็นกายวิญญัติรูป จำกัดหรือกว้างแค่ไหน จึงจะกล่าวว่า นี้เป็นลักษณะของกายวิญญัติรูป
ท่านอาจารย์ ก็เป็นอาการพิเศษซึ่งเกิดจากจิตที่ต้องการให้รูปนั้นมีความหมาย อย่างเวลาที่เรานั่งอยู่เฉยๆ ก็ธรรมดา ไม่มีความหมายอะไรเลย ใช่ไหมคะ หรือเวลาที่เดินปกติเราก็เดินเฉยๆ ก็ไม่มีความหมายอะไร แต่ถ้าเราเดินแรงๆ อย่างนั้นก็มีความหมายว่า ทำไม ต้องโกรธแน่ๆ เพราะว่าปกติก็เดินเบาดี แต่พอแรงขึ้นมา เรารู้ได้เลยว่า ลักษณะจิตใจของคนนั้นเป็นอย่างไร เพราะคนนั้นทำไมจึงเดินแรง ต้องมีสภาพของจิตใจที่ต้องการให้รูปนั้นเคลื่อนไหวตามความหมายของเรา ถ้าเราโกรธ แต่เราไม่อยากให้เขารู้ เราจะไม่เดินแรงๆ แต่ถ้าโกรธแล้วอยากให้รู้ว่าโกรธ จะแรงขึ้นๆ ได้ ใช่ไหมคะ แรงแค่นี้ยังไม่รู้ แรงอีก ให้รู้ว่า โกรธแค่ไหน
นี่แสดงถึงระดับของการที่ต้องการให้รูปนั้นแสดงความหมาย เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับสภาพของจิตของคนนั้น ซึ่งเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กายมีอาการพิเศษ ซึ่งตามความหมายของจิตของคนที่ทำให้วิญญัติรูปต้องการ แต่ถ้าเป็นคนที่เห็นแล้วไม่ฉลาด ก็ไม่รู้หรอกว่า คนนี้เขาโกรธ ใช่ไหมคะ ก็อาจจะคิดว่า เขาป่วย เขาเป็นอะไรก็ได้ ก็แล้วแต่
เพราะฉะนั้นกายวิญญัติไม่เกี่ยวกับคนอื่นว่า จะรู้หรือไม่รู้ จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ แต่เกี่ยวกับตัวเองที่ต้องการให้คนอื่นเข้าใจในความหมายนั้น ส่วนคนอื่นทำเท่าไรแล้วเขายังไม่เข้าใจก็ช่วยไม่ได้ จะกวักมือ จะเรียกอะไร ก็ยังไม่รู้เรื่องว่า เอาอะไร อยู่ที่ไหน ต้องการให้ทำอะไร ทั้งๆ ที่คนนั้นมีความตั้งใจจริงๆ ที่จะให้คนนั้นเข้าใจตามที่ตัวเองคิด แต่อาจจะสื่อไม่พอ หรือทำไม่ดี หรือคนเห็นไม่ฉลาด ก็เลยไม่สามารถรู้ความหมายนั้นได้
คุณศุกล สรุปว่า กายวิญญัติรูปนี้เป็นรูปพิเศษ
ท่านอาจารย์ แน่นอน
คุณศุกล ซึ่งไม่ใช่เป็นอาการของรูปอย่างปกติในชีวิตประจำวัน
ท่านอาจารย์ แน่นอน
คุณศุกล แล้ววจีวิญญัติรูปล่ะครับ
ท่านอาจารย์ เหมือนกันค่ะ วจีวิญญัติรูปไม่เกี่ยวกับกาย ไม่เกี่ยวกับการที่จะให้กายมีความหมายพิเศษ แต่ว่าปกติธรรมดาเรานั่ง ไม่มีเสียงปรากฏเลย เราอาจจะคิดในใจ คิดเรื่อยเชียวค่ะว่าจะพูดกับคนนี้ว่าอย่างนั้น คนนั้นจะตอบว่าอย่างนี้ ก็คิดได้ แต่ไม่มีเสียงออกมาเลย แต่เวลาที่จะให้เสียงออกมา จะต้องมีจิตที่มีความชำนาญที่จะรู้ว่า เมื่อฐานของเสียงจะเกิด เช่น เวลาที่พูด ปากจะต้องกระทบกัน หรือลิ้นจะต้องกระทบฟัน หรืออะไรก็ตามแต่ แล้วเสียงนั้นๆ จึงจะออกมาตรงตามความต้องการ
เพราะฉะนั้นในขณะที่มีจิตที่ต้องการจะให้เกิดเสียง และเสียงนั้นก็เกิดตามจิตที่ต้องการว่าจะให้เป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือภาษาฮอลแลนด์ หรือภาษาเขมร หรืออะไรก็ตามแต่ อาการของรูปที่ทำให้เกิดเสียงที่ต้องการเป็นวจีวิญญัติ ไม่ใช่เสียง เพราะวจีวิญญัติ คือ รูปที่ทำให้เกิดเสียงตามที่ใจต้องการ
คุณศุกล เพราะฉะนั้นทุกครั้งเวลาที่เราพูด จะเป็นการทักทายก็ดี จะเป็นการสั่งงานก็ดี อันนี้เป็นลักษณะของวจี
ท่านอาจารย์ เสียงเป็นเสียง แต่รูปที่ทำให้เกิดเสียงเป็นวจีวิญญัติรูป
คุณศุกล สมมติว่านักร้องร้องเพลง
ท่านอาจารย์ เหมือนกันค่ะ ถ้าออกมาจากฐานของเสียงแล้วเป็นวจีวิญญัติรูปทั้งหมด
คุณศุกล เรื่องของวจีวิญญัติรูปกับกายวิญญัติรูปต่างกัน ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ อันหนึ่งเป็นเรื่องของกาย ไม่เกี่ยวกับเสียง อีกอันหนึ่งเป็นเรื่องของเสียง
คุณศุกล ทั้งๆ ที่กายเคลื่อนไหว ก็ไม่ใช่ลักษณะของรูปพิเศษ จึงไม่เป็นกายวิญญัติรูป
ท่านอาจารย์ เราไม่มีความมุ่งหมายให้คนอื่นเข้าใจ แต่ถ้าเรามีความมุ่งหมายจะให้คนอื่นเข้าใจ แล้วเป็นปัจจัยให้รูปนั้นเกิดขึ้น รูปนั้นถึงจะเป็นกายวิญญัติ
ถ้าเป็นเสียง ซึ่งเกิดจาก ๒ สมุฏฐาน ทีละสมุฏฐาน คือ เสียงนี้เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานก็ได้ เสียงเกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานก็ได้ อย่างเสียงคลื่น ไม่มีใครทำให้เสียงนั้นเกิดขึ้นเลย แต่อุตุทำให้เกิด แต่สำหรับขณะที่พูดจา ต้องเป็นเสียงที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน แล้วรูปที่ทำให้เกิดเสียงก็คือวจีวิญญัติรูป
คุณศุกล ทีนี้ก็เข้าใจมากขึ้นแล้วครับ
ผู้ฟัง รูปที่ทำให้เกิดเสียง มีตัวอย่างไหมครับ เช่น รูปอะไรบ้าง
ท่านอาจารย์ ถ้าคุณพรชัยไม่พูด จะมีเสียงได้ไหมคะ
ผู้ฟัง ไม่มีครับ
ท่านอาจารย์ ไม่มี เพราะฉะนั้นเวลาที่พูด เฉยๆ หรือมีรูปอะไรที่เคลื่อนไหวที่ทำให้เสียงเกิดขึ้น
ผู้ฟัง อาจจะเป็นที่คอ ที่ปาก
ท่านอาจารย์ ที่ไหนก็ได้ ซึ่งเป็นฐานให้เกิดเสียง ซึ่งเกิดจากจิต
ผู้ฟัง แต่ไม่ใช่ตัวเสียง
ท่านอาจารย์ เสียงเป็นสัททรูป ไม่ใช่วจีวิญญัติรูป