วิปัสสนาญาณไม่ใช่สติปัฏฐาน


    หมอเพิ่มสมบัติ สรุปว่าอย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์ สรุปว่า เราจะต้องพิจารณาแม้แต่คำของอรรถกถาว่า ที่อรรถกถาพูดอย่างนี้มีความหมายอย่างไร เพราะว่าการที่เราจะรับฟังอะไรมาก็ตาม ไม่ว่าเป็นตัวหนังสือหรือคำพูดใดๆ ก็ตาม เราจะต้องพิจารณาแล้วเราจะต้องรู้ความหมาย แล้วเราต้องเป็นผู้รู้จริงว่า คำนั้นมีความหมายอย่างไร ถ้าความหมายเป็นอย่างนั้นจะค้านกันแล้ว หมายความว่าวิปัสสนาญาณที่ ๑ ไม่มีแล้ว ถ้าใช้คำอย่างนั้นจริงๆ แล้วหมอเข้าใจอย่างนั้นจริงๆ ตามคำ แต่ความจริงแล้ว ท่านใช้คำว่า “ตรุณวิปัสสนา” คำนี้มีแน่นอนในพระไตรปิฎก หมายความว่าวิปัสสนาญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ยังอ่อนมาก เพราะเหตุว่ายังไม่ประจักษ์ไตรลักษณ์ แต่หมายความว่าวิปัสสนาญาณยังไม่ใช่สติปัฏฐานแน่นอน เพราะว่าถ้าเป็นการเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เอาตอนไหนล่ะที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ จะมีอะไรเป็นเครื่องวัด ใช่ไหมคะ ถ้าไม่มีวิปัสสนาญาณที่ ๑ เป็นเครื่องวัด ไม่มีทางจะวัดได้เลยว่า ผลของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน สภาพธรรมปรากฏกับปัญญาที่สมบูรณ์ถึงขั้นที่จะรู้จริงๆ โดยการประจักษ์ ไม่ใช่โดยการค่อยๆ อบรมไป ค่อยๆ เข้าใจไป ค่อยๆ รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไป ใช่ไหมคะ แต่หมายความว่าต้องเป็นวิปัสสนาญาณแน่นอน ความต่างกันของสติปัฏฐานกับวิปัสสนาญาณต้องมี คือ สติปัฏฐานคือขณะใดก็ตามที่สติเกิดแล้วระลึกลักษณะของสภาพธรรม และความเข้าใจค่อยๆ เพิ่มขึ้น ความเข้าใจที่เป็นสติปัฏฐาน แม้หลังวิปัสสนาญาณแล้ว ก็ต้องเป็นความเข้าใจเรื่องนามธรรมและรูปธรรมนั่นเอง จะเปลี่ยนไม่ได้ค่ะ แต่ทีนี้อะไรที่มาแทรกคั่นที่จะรู้ว่า อันนี้คือวิปัสสนาญาณ ถ้าไม่มี วิปัสสนาญาณที่ ๔ มีไม่ได้แน่ อุทยัพพยญาณนี่มีไม่ได้ แล้วจะไม่มีใครรู้ด้วยว่า วิปัสสนาญาณต่างกับสติปัฏฐานอย่างไร เพราะว่าสติปัฏฐานที่กำลังระลึก ระลึกไปเรื่อยๆ จะเป็นวิปัสสนาญาณไม่ได้

    เพราะฉะนั้นที่ใช้คำว่า “ตรุณวิปัสสนา” จะใช้คู่กับ “พลววิปัสสนา” เพราะฉะนั้นที่อาจารย์ว่าจริง หมายถึงว่า เป็นวิปัสสนาที่มีกำลัง แต่ไม่ได้หมายความว่า นามรูปปริจเฉทญาณจนถึงสัมสนญาณนั้นไม่ใช่วิปัสสนาญาณ อย่างนี้ไม่ได้แน่นอน และตามตำราบางแห่งท่านจะยกอุทยัพพยญาณ แล้วแต่ท่านจะนับ ๙, ๑๐ อะไรก็เป็นเรื่องของท่านไป แต่หมายความว่าที่นับอย่างนั้นหมายความถึงเฉพาะพลววิปัสสนา แต่จะบอกว่า นามรูปปริจเฉทญาณไม่ใช่วิปัสสนาญาณไม่ได้

    หมอเพิ่มสมบัติ แล้วยังสงสัยต่อไป บางทีญาณที่ ๑ ถึงญาณที่ ๓ เป็นจินตาญาณ

    ท่านอาจารย์ จินตาญาณ เพราะเหตุว่าไม่ใช่มาคิดเอาเอง แต่หมายความว่าแม้ขณะที่สภาพธรรมปรากฏ กำลังประจักษ์ในลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม สภาพคิดซึ่งเป็นนามธรรมล้วนๆ ในขณะนั้น ยังคิดถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้

    ยังมีสภาพนามธรรมที่คิดในขณะนั้นที่เกิดสลับกับ..

    หมอเพิ่มสมบัติ ต่างกับญาณที่ ๔

    ท่านอาจารย์ ความแจ่มแจ้งจะต้องต่างกันมาก ไม่เช่นนั้นวิปัสสนาญาณจะไม่คมขึ้น และไม่สามารถดับกิเลสเป็นสมุจเฉทด้วย เพียงแค่ ๑ ๒ ๓ นี่ไม่มีทาง ๔ ๕ ๖ ก็ยังไม่มีทางเลย ถึงแม้ประจักษ์การเกิดดับเดี๋ยวนี้ ก็ยังไม่ถึง เพราะว่าจะต้องคมขึ้น ชัดเจนขึ้น

    เพราะฉะนั้นต้องทราบว่า วิปัสสนาญาณไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่ใช่กำลังเจริญๆ ไป แล้วพอไปแยกเป็นนามเป็นรูป นั่นคือนามรูปปริจเฉทญาณ ไม่ได้เด็ดขาด


    หมายเลข 8665
    25 ก.ย. 2566