สติกั้นอกุศลได้ทุกทวาร
คุณหญิงณพรัตน์ แล้วถ้าเราเพียงแค่คิด ไม่ถึงกับกุศลหรืออกุศล
ท่านอาจารย์ ที่คิดต้องเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตที่คิด ชวนจิตคือจิตที่ทำกิจแล่นไปในอารมณ์ โดยเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าทางปัญจทวาร เขากำลังมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ ไม่ต้องไปเตรียมกั้นหรืออะไรเลย เสร็จสรรพเรียบร้อยไปแล้ว กุศล อกุศล เกิดไปแล้วเรียบร้อย พอไปถึงทางใจ หลังจากที่มาคิดนึกเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราถึงจะมารู้ว่า นี่เป็นอกุศลเพราะคิดนึก แต่ก่อนที่จะคิดนึก เพียงแค่เห็น กุศลอกุศลเกิด จบไปแล้ว โดยความเป็นอนัตตา โดยความเป็นสังขารขันธ์ที่เขาจะปรุงแต่ง
ทีนี้ถ้าคนที่จุดประสงค์สม่ำเสมอเป็นประจำ พอสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แทนที่จะเป็นอกุศล เขาสามารถที่จะรู้ ขณะนั้นสติปัฏฐานเกิดรู้ได้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้นสติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง เพราะว่ากั้นอกุศลได้ทุกทวาร แม้แต่ทางตาที่ว่าเร็วแสนเร็ว สติปัฏฐานก็สามารถเกิดได้ รู้ได้ ที่เคยมีอกุศลมากๆ แต่ละทวารทั้ง ๖ ทวาร สติปัฏฐานเกิดแทนได้
คุณหญิงณพรัตน์ พอเห็นก็เป็นอกุศล
ท่านอาจารย์ หรือกุศลแล้ว เรียบร้อยไปแล้ว
คุณหญิงณพรัตน์ เรายังไม่รู้สึกตัว
ท่านอาจารย์ ไม่รู้เลย นั่นแหละค่ะ ตกใจแล้ว เสียใจแล้ว ดีใจแล้ว ชอบแล้ว ไม่ชอบแล้ว เร็วมาก
เพราะฉะนั้นถ้าไม่ใช่สติปัฏฐาน เราไม่มีการรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ขณะที่เป็นทางตา ไม่ใช่กุศลนะคะ เป็นวิบาก ก็ไม่รู้ เพราะไปปนกับความชอบไม่ชอบเสียแล้ว ไปปนกับความคิดนึกเรื่องราวเสียแล้ว
เพราะฉะนั้นกว่าสติปัฏฐานจะค่อยๆ แยกสภาพธรรมออกตามความเป็นจริงว่า ทางตาสั้นแสนสั้นเพียงชั่วปรากฏ ทางหูก็สั้นแสนสั้นเพียงชั่วปรากฏ นอกจากนั้นโลกของความนึกคิดทั้งหมด สิ่งต่างๆ ปรากฏสั้นนิดเดียว เพื่อให้คิดนึก อย่างเมื่อตอนกลางวันก็บอกคุณจารุพรรณว่าให้คิดอะไรก็ได้ คิดเยอะๆ แล้วก็หลับตา แล้วก็ลืมตามานิดหนึ่ง แล้วก็คิดต่อไปเยอะๆ แล้วก็ลืมตาขึ้นมาหน่อยหนึ่ง แสดงความนึกคิดของเรามาก แล้วสิ่งที่ปรากฏทางตานิดเดียวเท่านั้นเอง เพราะว่าไม่เห็นเราก็คิดได้ ถึงแม้ว่าเห็นนิดหนึ่ง เราก็คิดได้ แต่ทีนี้เห็นปรากฏเหมือนไม่ดับเลย
เพราะฉะนั้นความคิดของเราในสิ่งที่เห็น จึงได้มากมาย จนปรากฏสืบต่อเหมือนกับสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ดับ เพราะความคิดของเราในเรื่องสิ่งที่ปรากฏสืบต่อไว้
คุณหญิงณพรัตน์ แล้วขณะที่เห็นเท่านั้น ทำไมถึงมีอกุศล
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่ารูปมีอายุ ๑๗ ขณะของจิต แล้วเมื่อเกิดขึ้นกระทบกับภวังค์ จิตเห็นยังไม่เกิด เมื่อภวังค์ไหวขณะที่ ๒ จิตเห็นก็ยังไม่เกิด จนกระแสภวังค์สิ้นสุดเป็นภวังคุปเฉทะ หลังจากนั้นแล้วจะเป็นภวังค์ต่อไปไม่ได้ วิถีจิตขณะแรกที่รู้อารมณ์ใหม่ ไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิ ไม่ใช่อารมณ์ภวังค์ เริ่มที่จะรู้อารมณ์ใหม่ที่กระทบ แต่ไม่เห็นค่ะ
เพราะฉะนั้นต้องมีกิริยาจิตที่เป็นอเหตุกกิริยา ชื่อว่า ปัญจทวาราวัชชนะ เป็นจิตที่นึกถึงอารมณ์ที่กระทบ เพราะฉะนั้นเพราะเปลี่ยนอารมณ์จากภวังค์ มารู้ว่า มีอารมณ์กระทบทางทวารไหน อาจจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ยังไม่เห็น แล้วรูปก็ยังไม่ดับ เกิดขึ้นขณะหนึ่งแล้วก็ดับ ถ้าเป็นทางตา คือกำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ปัญจทวาราวัชชนจิตต้องเกิดก่อนไปแล้ว ไม่มีปัญจทวาราวัชชนจิต จิตเห็นเกิดไม่ได้ เมื่อจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นขณะหนึ่งดับ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดรับต่อ สันตีรณจิตเกิดพิจารณาต่อ รูปยังไม่ดับเลยค่ะ
เพราะฉะนั้นจิตเขาจะทำกิจของเขาตามลำดับว่า เมื่อจักขุวิญญาณเกิด ดับแล้ว จิตอื่นจะเกิดไม่ได้เลย กุศลอกุศลจะเกิดไม่ได้เลย ต้องสัมปฏิจฉันนจิตเกิดก่อนรับไว้เท่านั้น ที่เราบอกว่าเร็วแสนเร็ว อกุศลจิตจะเกิดได้อย่างไร ทันทีที่เห็นดับ สัมปฏิจฉันนะรับทันที เร็วมาก ยังไม่เป็นกุศลอกุศล พอสัมปฏิจฉันนจิตดับ สันตีรณจิตเกิดต่อ พิจารณาอย่างสั้นที่สุดดับไป ต่อจากนั้นกิริยาจิต คือ มโนทวาราวัชชนจิตจะทำโวฏฐัพพนกิจตามการสะสมว่า เราสะสมกุศลมากหรืออกุศลมาก โลภะมาก หรือโทสะมาก หรือโมหะมาก เมื่อโวฏฐัพพนจิตทำกิจ ดับไปแล้ว ชวนจิตคือสภาพของจิตที่ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว ไม่ต้องมารับ ไม่ต้องมาพิจารณา แล่นไปอย่างเร็วในอารมณ์นั้นด้วยโลภะ หรือด้วยโทสะ ด้วยโมหะ หรือด้วยกุศล
เพราะฉะนั้นกุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดทันทีโดยที่รูปนั้นยังไม่ดับ เพราะว่าจิตอื่นๆ ทำกิจให้เสร็จหมดแล้ว เพราะฉะนั้นเป็นวาระที่โลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ หรือกุศลจิตจะเกิดในอารมณ์นั้น
เราไม่ต้องทำอะไร เราทำไม่ได้ค่ะ เพราะว่าจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ เขาทำหมดเลย ทำอะไรไม่ได้เลย เป็นไปตามการสะสม ตามเหตุตามปัจจัย ตามอนันตรปัจจัย สมันตรปัจจัยทุกอย่าง พอมาถึงชวนะที่เป็นโลภะ หรือโทสะ โมหะ หรือกุศล ดับไปแล้ว ถ้าอารมณ์ยังไม่ดับ ก็ยังมีวิบากจิตขึ้นมาทำตทาลัมพนกิจ พออารมณ์ดับเป็นภวังค์ ยังไม่รู้อะไรเลย เพราะว่าไม่ต้องรู้ค่ะ ไม่มีใครรู้ เขาทำของเขาแล้วเรียบร้อย รู้ไม่ได้ เราจะมารู้ตอนเราคิดใช่ไหมคะ แล้วเราก็มานั่งคิดว่า นี่เป็นกุศลอกุศล แต่ความจริงอารมณ์ดับไปนานแสนนาน
คุณหญิงณพรัตน์ แล้วอารมณ์เป็นกุศลอกุศลในชวนะนั้นๆ
ท่านอาจารย์ จิตค่ะ ไม่ใช่อารมณ์ จิตเป็นกุศลหรืออกุศล
คุณหญิงณพรัตน์ ในชวนะนั้นๆ เป็นวิบากมาหรือคะ
ท่านอาจารย์ ไม่ค่ะ เกิดขึ้นเพราะการสะสมค่ะ คือขณะจิตที่โลภ ชอบขณะนี้ ดับไปแล้ว จะเป็นอนันตรปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด จะเป็นอะไรก็ตามแต่ อาจจะเป็นวิบาก เป็นกิริยา แล้วแต่วิถีจิต แต่โลภะที่เกิดแล้วดับสะสมอยู่ในจิตขณะต่อไป
เพราะฉะนั้นการสะสมจะมีกำลังซึ่งเป็นอุปนิสสยปัจจัย ที่เราใช้คำว่า “ปกตูปนิสยปัตจจัย” ความเคยชินที่ได้เกิดแล้ว กระทำแล้ว ทำให้จิตในขณะนั้นเป็นโลภะตามถนัด หรือเป็นโทสะตามถนัด หรือเป็นกุศลตามถนัดที่ได้สะสมมา
คุณหญิงณพรัตน์ อนุสัยกิเลสหรือคะ
ท่านอาจารย์ อนุสัยกิเลสเป็นกุศลไม่ได้ค่ะ ต้องเป็นกิเลสอย่างเดียว ถ้าเรากำลังทำกุศลอยู่ ทางปัญจทวารก็เป็นกุศลได้
คุณหญิงณพรัตน์ สมมติว่าเรามีสติตอนนั้น
ท่านอาจารย์ ถึงไม่มีสติ เรากำลังจัดดอกไม้ถวายพระ จิตใจเรากำลังเบิกบานแช่มชื่น เรากำลังช่วยใคร ทางตาก็มี เพราะฉะนั้นกุศลก็เกิดต่อกันไปเลยทั้งทางตากับทางใจ ทางหูกับทางใจ
ผู้ฟัง เป็นเรื่องทางมโนทวาร
ท่านอาจารย์ ทางปัญจทวาร ชวนะเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าทางใจไม่ดี ทางตาก็ต้องไม่ดี เป็นอกุศลไปด้วย อย่างโกรธคน ต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ใช่ไหมคะ แล้วเราโกรธคนนั้น แล้วเราก็เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นด้วย เพราะฉะนั้นในขณะนั้นก็ต้องมีโทสะ
และอีกอย่างลองคิดดู ขนาดพวกที่ไม่ได้ฟังพระธรรมเลย ไม่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน อกุศลจิตของเขาในขณะที่เห็น ได้ยิน ก็ย่อมมีพื้นฐานที่จะเกิด เพราะฉะนั้นการอบรม การพัฒนา การปรุงแต่งของสังขารขันธ์ จากอกุศลไปสู่กุศล คือเจริญสติ มีความรู้ในลักษณะของสภาพธรรม และมีกุศลเกิดทั้งบารมี ๑๐ แล้วจากกุศลเปลี่ยนเป็นกิริยาแม้แต่ขณะที่เห็น ก็ไม่มีเลยที่จะมีอกุศลอีกต่อไป
นี่ก็ต้องอาศัยการปรุงแต่งของสังขารขันธ์ จากอกุศลเป็นกุศล จากกุศลเป็นกิริยา สำหรับชวนะ
ผู้ฟัง ...
ท่านอาจารย์ นี่คือความต่างกันของปุถุชนกับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลแต่ละขั้นจนถึงขั้นพระอรหันต์ ด้วยปัญญาอย่างเดียว ถ้าไม่มีปัญญาแล้วไม่มีทางเลยที่จะแคะไค้พวกอกุศลนี้ออกไปได้
ผู้ฟัง ...
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ค่ะ เพราะว่าจิตเกิดขึ้นขณะเดียว แล้วก็มีชาติของจิต คือ จิตเกิดเป็นกุศลก็เป็นกุศล ๑ ขณะแล้วก็ดับ ถ้าเกิดเป็นอกุศล ก็จะไปเปลี่ยนไม่ได้เหมือนกัน คือ ชาติไหนก็ชาตินั้น ถ้าเกิดเป็นอกุศลก็เป็นอกุศล ถ้าเกิดเป็นวิบาก คือ เป็นผลของกรรม เป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบากก็เปลี่ยนไม่ได้ แล้วถ้าเป็นกิริยาก็เปลี่ยนชาติเขาไม่ได้ด้วย เขามีชาติประจำของเขาแต่ละขณะ