สภาพธรรมทุกอย่างเป็นธรรม
สนทนาธรรมกับชาวกัมพูชา ๑
คุณบุตรสวงษ์ ในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานกับสมถกัมมัฏฐาน ทั้ง ๒ นี้ ธรรมข้อใดข้อหนึ่งที่ถึงพระนิพพานได้รวดเร็วกว่า
ท่านอาจารย์ สมถภาวนาคือการอบรมจิตให้สงบจากอกุศลมั่นคงขึ้น ผลก็คือสามารถเกิดเป็นพรหมบุคคลได้ แต่ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาที่รู้จักลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ตามความเป็นจริงก็ไม่มีทางจะถึงนิพพานได้เลย สภาพธรรมกำลังปรากฏแท้ๆ ยังไม่รู้ แล้วจะไปรู้นิพพานได้อย่างไร
คุณบุตรสวงษ์ ขอให้ช่วยขยายความคำถาม กามราคะ และกามุปาทาน ต่างกันอย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ ต่างกันที่อุปาทานเป็นการยึดถือในกามนั้น
คุณบุตรสวงษ์ และกามราคะครับ
ท่านอาจารย์ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
คุณบุตรสวงษ์ ก็เป็นอุปาทานด้วยใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ขณะใดที่มีความยึดมั่น ขณะนั้นก็เป็นอุปาทาน
คุณบุตรสวงษ์ ถามในวิภวตัณหา ที่แปลว่า ตัณหาที่ปราศจากภพ ทำไมถึงจัดเป็นตัณหาด้วย
ท่านอาจารย์ ข้อความในพระไตรปิฎกแสดงว่า วิภวตัณหา ได้แก่ ความยินดีในความเห็นผิดว่า สูญ
คุณบุตรสวงษ์ คำถามนี้คือในขณะที่มีวิปัสสนา วิปัสสนาที่เป็นโลกียะที่อาจจะทำให้มีวิบากเป็นไปในภพด้วยหรือไม่ครับ
ท่านอาจารย์ ถ้าตราบใดที่ไม่ใช่โลกุตตรภูมิ กุศลนั้นๆ ก็ยังเป็นปัจจัยให้เกิดภพได้
คุณบุตรสวงษ์ ขอถามถึงธรรมขั้นสูง คือ พระนิพพาน มีอยู่ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย มีพระพุทธพจน์แสดงถึงพระนิพพานเป็นอายตนะ แต่อายตนะนั้นไม่ใช่อากาสานัญจายตนะ เป็นต้น ไม่ใช่เป็นที่ไป ไม่ใช่เป็นที่มา ถามว่า อายตนะนั้นเป็นอายตนะอะไรครับ มีบางท่านก็กล่าวว่า ธัมมายตนะเป็นพระนิพพาน ถูกต้องหรือไม่ครับ
ท่านอาจารย์ สภาพธรรมทุกอย่างเป็นธรรม เพราะฉะนั้นก็ แล้วแต่ว่า สภาพธรรมนั้นจะจัดเป็นประเภทใด สำหรับนิพพานเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่สามารถจะรู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่สามารถรู้ได้ทางใจ จึงเป็นธัมมายตนะ
คุณบุตรสวงษ์ มีคำถามนิดหนึ่ง โลภะ โทสะ โมหะ ทั้ง ๓ นี้ ธรรมใดน่าจะละง่ายกว่ากัน
ท่านอาจารย์ ถ้าถามถึง ๓ อย่าง สำหรับพระอนาคามีบุคคลสามารถละโทสะได้ สำหรับโลภะกับโมหะต้องเป็นพระอรหันต์ค่ะ
คุณบุตรสวงษ์ มีสำนักปฏิบัติบางสำนักกล่าวว่า นั่งเป็นรูป รู้ว่านั่งเป็นนาม เป็นอย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ ถ้าบอกว่า นั่งเป็นรูป แล้วรูปเป็นอย่างไรคะ
คุณบุตรสวงษ์ ไม่มีคำตอบ
ท่านอาจารย์ ค่ะ ก็ต้องทราบก่อนว่า รูปคืออะไร รูปเป็นอย่างไร รูปมีจริงหรือเปล่า สิ่งที่มีจริง และไม่สามารถรู้อะไรได้เลย ไม่ว่าจะมองเห็นหรือมองไม่เห็น เป็นรูปธรรมทั้งหมด เพราะเหตุว่าไม่สามารถรู้อะไรได้เลย ต้องรู้อย่างนี้ก่อนที่จะพูดว่า นั่งเป็นรูป ก็ต้องรู้ว่า รูปเป็นอย่างไร จะได้ทราบว่า อะไรเป็นรูปบ้าง วันนี้ก็คงจะมีการบ้าน ขณะนี้มีรูปไหมคะ
คุณบุตรสวงษ์ มีครับ
ท่านอาจารย์ อะไรบ้างล่ะคะที่เป็นรูป ต้องรู้ก่อน
คุณบุตรสวงษ์ รูปที่กำลังเห็น และอยู่ในกายก็มีการตึง ไหว นี่เป็นรูป
ท่านอาจารย์ เสียงเป็นรูปหรือเปล่าคะ
คุณบุตรสวงษ์ เป็นรูปครับ
ท่านอาจารย์ ก็เข้าใจถูกต้องนะคะ ว่า สิ่งที่มีลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏ แต่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลยเป็นรูป ถ้าไม่มีตา จะเห็นรูปไหมคะ
คุณบุตรสวงษ์ ไม่เห็นครับ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีหู ได้ยินเสียงรูปไหมคะ ไม่ใช่เป็นเสียงของรูป แต่เสียงนั่นเองเป็นรูป รูปที่ตาเห็นกับรูปที่หูได้ยิน เหมือนกันไหมคะ
คุณบุตรสวงษ์ ไม่เหมือนกันครับ
ท่านอาจารย์ ไม่เหมือนกัน ก็มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า รูปมีหลายอย่าง แล้วแต่ละอย่างก็ปรากฏได้แต่ละทาง
คุณบุตรสวงษ์ ตัตตรมัชฌัตตตา และอุเปกขา ทั้ง ๒ นี้ต่างกันอย่างไรครับ และเกี่ยวข้องกับการเจริญสติปัฏฐานหรือไม่ครับ
ท่านอาจารย์ ตัตตรมัชฌัตตตาเป็นเจตสิกฝ่ายดี คือเป็นโสภณเจตสิก ลักษณะของตัตตรมัชฌัตตตาก็คือสภาพที่เป็นกลาง ไม่เป็นไปในอกุศลฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเลย ขณะที่เกิดพร้อมกับสภาพธรรมที่เป็นโสภณธรรมอื่นๆ ลักษณะของตัตตรมัชฌัตตตาก็ทำให้เป็นกุศลในขณะนั้น
ตามธรรมดาจิตย่อมตกไปด้วยโลภะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง หวั่นไหวไปในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เป็นกุศล เพราะฉะนั้นเวลาที่ธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้น ก็มีตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งขณะนั้นก็เป็นสภาพที่ไม่หวั่นไหว เป็นกลาง จึงเป็นกุศลได้
ความไม่หวั่นไหว ความเป็นกลางของตัตตรมัชฌัตตตาก็มีลักษณะที่เป็นอุเบกขา คือ เหมือนกับการที่วางเฉย
เพราะฉะนั้นคำว่า “อุเบกขา” กว้าง หมายถึงความรู้สึกซึ่งไม่สุข ไม่ทุกข์ก็ได้ ขณะนั้นก็เป็นเวทนาเจตสิก แต่วันหนึ่งๆ ก็เห็นสัตว์ บุคคลที่เป็นทุกข์ เป็นสุขมาก เพราะฉะนั้นถ้าเป็นตัตตรมัชฌัตตตาก็คือว่า วางเฉยด้วยการเข้าใจในเรื่องกรรมของแต่ละสัตว์นั้น
เพราะฉะนั้นเวลาที่รู้สึกเฉยๆ หรือวางเฉย ไม่หวั่นไหว เป็นเวทนาเจตสิกก็ได้ เป็นตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกก็ได้ เป็นปัญญาเจตสิกก็ได้ในการอบรมเจริญวิปัสสนา แต่ต้องเป็นสังขารุเปกขาญาณ
เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบว่า สภาพธรรมเกิดร่วมกัน แล้วก็มีหลายระดับ เพราะฉะนั้นเวลาที่สภาพธรรมใดมีหน้าที่อย่างใด ในระดับไหน ก็กระทำหน้าที่ในระดับนั้น