เข้าใจสำคัญกว่าจำ


    ผู้ฟัง จำเป็นหรือเปล่าที่จะต้องจำธรรมที่ศึกษามาได้ทุกข้อ

    อ.นิภัทร ความจำเป็นจริงๆ ในการศึกษา และสนใจพระธรรม คือ ความเข้าใจ เป็นหลัก เพราะใครมีความจำก็จำได้มาก หรือใครอ่านบ่อย เห็นบ่อย ก็จำได้ แต่บางทีนึกข้อธรรม นึกชื่อไม่ออก พอเราอ่าน ได้ยินคนอื่นพูด เราเข้าใจ ความเข้าใจเป็นหลักสำคัญที่สุด เพราะความเข้าใจนี่เองที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คุณธรรมอย่างอื่นๆ เจริญขึ้น

    อ.กุลวิไล สมมติว่าเข้าหาสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมอะไร เรื่องของความจำก็คือ สัญญาเจตสิก เกิดกับจิตทุกชาติ ทุกดวง มีทั้งกุศล และอกุศล แต่ถ้าเป็นความเข้าใจ เป็นปัญญาเจตสิกแล้ว ก็เกิดกับกุศลจิตเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาแบบท่องจำแล้ว ก็เหมือนกับเรียนวิชาการทางโลก เราก็จะไม่เข้าถึงสภาพธรรมที่เป็นจริง บ่อยครั้งก็เป็นความจำที่เกิดกับอกุศลจิตก็ได้ แต่ถ้าเราศึกษาพระธรรมแล้วมีความเข้าใจสภาพธรรม ก็ไม่จำเป็นต้องท่องจำ แต่เป็นความเข้าใจที่เข้าใจจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ความจำอย่างไรๆ ก็เป็นสติไม่ได้ ความจำต้องเป็นสัญญาเจตสิก เป็นสิ่งที่เราจะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง เวลาที่เราผ่านพยัญชนะใด พยัญชนะแรกอธิบายว่าอย่างไร เปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้

    เพราะฉะนั้นถ้าเป็นสัญญาเจตสิก สัญญาที่เกิดกับความเพียร สัญญาที่เกิดร่วมกับปัญญา ก็ทำให้สัญญานั้นยังคงเป็นสัญญา แต่เพิกเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นสัญญาที่มั่นคงขึ้น ก็เพราะเหตุว่ามีปัญญาเกิดร่วมด้วย และสัญญาที่จำธรรมดากับสัญญาที่เกิดร่วมกับวิริยะที่เป็นอีกระดับหนึ่ง สัญญานั้นก็มีอีกชื่อหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นเราจะทิ้งความหมายหรือความเข้าใจที่ถูกต้องเดิมไม่ได้ ไม่อย่างนั้นเราก็จะคิดว่า ขณะใดที่จำเรื่องนั้น เป็นสติ หรือเป็นสัญญาก็แล้วแต่ แต่ต้องรู้ว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างต้องเป็นแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง สติระลึกรู้ธรรมในการฟังธรรม หรือขั้นอ่านหนังสือต่างๆ การระลึกในธรรม ...

    ท่านอาจารย์ หนังสือต่างๆ นี่หนังสืออะไรคะ

    ผู้ฟัง หนังสือพระไตรปิฎก

    ท่านอาจารย์ ต้องชัดเจนค่ะ เวลานี้เราจะพูดถึงเรื่องสภาพของสัญญาเจตสิกกับสติเจตสิก สติต้องเป็นโสภณ เวลาที่อ่านหนังสือธรรม ไม่ได้หมายความว่า เพียงอ่านแล้วจะเข้าใจได้ ที่นี่ทุกคนอ่านออกหมด หยิบพระไตรปิฎกมาก็อ่านออก แต่ความเข้าใจของแต่ละคนจะเท่ากันไหม จะเป็นสติเหมือนกันหมดหรือเปล่า หรือไม่ใช่สติ หรือเป็นแต่สัญญาที่จำ แต่ไม่มีสติเกิดร่วมด้วยเลยในขณะที่ไม่เข้าใจ

    จริงๆ แล้ว อยากจะให้ปัญหาของคุณสวนนี่ชัด เพราะว่าเป็นเรื่องใหญ่ คือเรื่องที่คนคิดว่า ความจำสำคัญ แต่ความจริงคุณสวนก็เคยจำอะไรมาตั้งเยอะแยะ ใช่ไหมคะ ลืมบ้างไหม ลืม แต่ถ้าเป็นการเข้าใจแล้วจำ หรือจำสิ่งที่เราเข้าใจแล้ว ผิดกันมาก เราจะไม่ลืมสิ่งที่เราเข้าใจ แต่ถ้าเราเพียงแต่จำชื่อ จำเรื่อง โดยเฉพาะหัวข้อต่างๆ เราลืมได้ อย่างเวลาที่เราจะพูดถึงข้อธรรมใดๆ บางทีเราก็ไม่ได้กล่าวตามลำดับ และความจริงจำเป็นไหมที่จะต้องตามลำดับ ประโยชน์มี แต่เราต้องรู้ถึงประโยชน์ด้วย

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องที่เราจะคิดว่า เมื่อตำราว่าอย่างไร เราก็ตามตำราหมด โดยที่ไม่เข้าใจความมุ่งหมายเลย แต่เมื่อตำราเป็นอย่างนี้ และเราเข้าใจความมุ่งหมายด้วยว่า ทำไมเป็นลำดับอย่างนี้ ก็ยังทำให้เราสามารถเพิ่มความเข้าใจขึ้นได้ แล้วก็รู้ด้วยว่า ทำไมจึงควรจะเข้าใจหรือจำตามลำดับด้วย

    นั่นก็เป็นเรื่องของวิชาการ แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับการเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้ เพราะฉะนั้นถ้าคุณสวนสามารถเอาสิ่งที่จำมาแล้วทั้งหมด มาใช้กับสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อธิบายถึงสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ด้วยความเข้าใจจริงๆ อันนั้นก็เป็นความเข้าใจของเราเอง ซึ่งเกิดจากการอ่าน การฟัง การคิด การพิจารณา การไตร่ตรอง การระลึกจนรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    เพราะฉะนั้นเราจะเคยเรียนพระไตรปิฎกมามากน้อยในชาติก่อนๆ แค่ไหน ใครจำได้ และชาตินี้ล่ะคะ ถ้าเราไม่เข้าใจสภาพธรรม เราก็ต้องมานั่งจำใหม่ ปรมัตถธรรม ๔ จิต เจตสิก รูป มีอะไรบ้าง แต่ถ้าเราเข้าใจสภาพธรรม ทันทีที่ได้ฟัง เราก็สามารถรู้สภาพธรรมนั้นได้ เพราะว่ามีปัจจัยที่เกิดจากการฟัง แล้วก็พิจารณาจนเข้าใจลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม พอใครพูดเรื่องรูปธรรมหรือนามธรรม เราไม่ได้คิดว่าเป็นเพียงชื่อ

    คนไทยที่ไม่ได้ศึกษาธรรม พอได้ยินคำว่า “นาม” ทุกคนก็ต้องรู้ว่าเป็นชื่อ แต่ว่าจริงๆ แล้ว หมายความถึงสภาพที่น้อมไปสู่อารมณ์ ขณะใดที่จิต เจตสิกเกิด ต้องเป็นสภาพรู้ ซึ่งต่างกับลักษณะของรูป

    นี่เป็นสิ่งที่เราจะต้องเข้าใจ ไม่ใช่เราไปจำชื่อเฉยๆ

    เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความเข้าใจแล้ว แล้วเราไปพบคำนี้ เราก็พอนึกออกว่า name and form คือ นามกับรูป ทั้งๆ ที่คนทั่วไปอาจจะคิดว่า ชื่อ กับอะไรก็ไม่รู้ เป็นรูปภาพหรืออะไรต่างๆ ใช่ไหมคะ

    เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจของแต่ละคน ถ้ามีแล้วก็สามารถเข้าใจคำที่ได้ยิน โดยที่ไม่สับสน มิฉะนั้นแล้วก็สับสนไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์บอกว่า ถ้ามีความเข้าใจแล้วจะจำได้เอง ผมเข้าใจถูกไหมว่า ขณะที่ฟังเรื่องธรรม แล้วเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง กุศลจิตเกิด ในขณะนั้นมีสติขั้นฟังเกิด สติขั้นฟังเกิด เมื่อสัญญาเจตสิกเกิดร่วมกับสติขั้นฟัง สัญญา ความจำนั้นจะมีกำลังมากถึงขั้นทำให้จำได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสัญญาเกิดกับจิตทุกขณะอยู่แล้วค่ะ แล้วแต่ว่าจะเกิดกับจิตอะไร ถ้าเกิดกับกุศลจิตขั้นทาน ได้ไหมคะ เกิดกับขั้นศีล เกิดกับขั้นสมถะ จิตสงบ เกิดกับขั้นสติปัฏฐานก็ได้ เพราะฉะนั้นระดับของสัญญาก็ต่างกัน แต่สัญญาไม่ใช่สติ


    หมายเลข 8686
    22 ส.ค. 2567