บุญคืออะไร บาปคืออะไร
ผู้ฟัง บุญคืออะไร และบาปคืออะไรครับ
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นบาป ก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีงาม บุญก็คือสภาพธรรมที่ดีงาม ทีนี้ถ้าพูดอย่างนี้โดยไม่ศึกษา เราก็จะตัดสินด้วยตัวของเราเองซึ่งผิดๆ ถูกๆ ใช่ไหมคะ ว่าตอนนี้บุญล่ะ ตอนนั้นบาปล่ะ แต่ความจริงธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่เกิดดับเร็ว อย่างจิตกับเจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน บางครั้งเป็นกุศล บางครั้งเป็นอกุศล แล้วก็สลับกันจนกระทั่งเราบอกไม่ถูกว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล จึงต้องอาศัยการศึกษาให้ละเอียดพอสมควรที่จะรู้ว่า ขณะใดก็ตามที่เป็นบาปหรืออกุศล ความหมายเดียวกัน ก็คือขณะนั้นเป็นโลภะ โทสะ โมหะ และอกุศลอื่นๆ ที่เราเคยได้ยินได้ฟัง อิสสา ริษยา ตระหนี่ มัจฉริยะ พวกนี้ก็เป็นลักษณะของธรรมที่เป็นอกุศลทั้งนั้น
ถ้าเป็นกุศลหรือเป็นบุญ ก็ตรงกันข้าม คือ เป็นธรรมที่ดีงาม ธรรมที่ดีงาม ก็คือขณะที่จิตเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่ดีงามเกิดร่วมกัน และเวลาที่มีจิตใจที่ดีงามเกิด หรือจิตใจที่ไม่ดีงามเกิด ก็จะมีทางของจิต กายกับวาจาเป็นทางของกุศลหรืออกุศล เพราะเหตุว่าเราไม่ได้มีแต่จิต เรามีรูปด้วย ถ้ามีแต่จิตที่เป็นกุศล อกุศล คนอื่นจะเดือดร้อนไหมคะ คนอื่นเดือดร้อนไหมคะถ้าอกุศลจิตของเราเกิด ไม่เดือดร้อน แต่เพราะเหตุว่าเรามีรูปด้วย เวลาที่อกุศลจิตเกิด ก็มีทาง คือ กาย วาจาที่ไม่ดีซึ่งเกิดจากอกุศลจิตนั้นเบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน
ความจริงเวลาที่อกุศลธรรมเกิดเบียดเบียนเราก่อน คนที่มีอกุศล ไม่สบายเลย ไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ แต่ขณะที่เป็นโลภะ เราอาจจะคิดว่าดี เป็นความติดข้องต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด เวลาที่ได้มาแล้ว เราก็ดีใจมาก เพลิดเพลินเป็นสุข เราก็สนุกสนานเพลิดเพลิน คิดว่าขณะนั้นก็ดี
เพราะฉะนั้นดีของเรากับดีของธรรม คนละอย่าง ดีของเรา คือ ความรู้สึกเป็นสุข สนุก ไปเมื่อกี้สนุกไหมคะ อาหารอร่อยไหม นี่คือดีของเรา ใช่ไหมคะ แต่จริงๆ แล้วคืออกุศล เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นสภาพที่ติดข้อง ติดข้องนิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่พอนะคะ ไม่สมใจค่ะ ต้องหนักหนาสาหัส คือ มากกว่านั้น ให้โสมนัสเลย ถ้าเพียงแต่อุเบกขาเวทนาเฉยๆ ก็ยังไม่พอใจ ไม่ว่าจะทำอะไรก็คือให้ถึงความรู้สึกที่เป็นโสมนัสเวทนา ไม่ใช่เพียงแต่อุเบกขาเวทนา
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า ถ้าไม่ศึกษาธรรม เราเข้าใจธรรมผิด อย่างเวลาที่เราสบายใจไปนั่งสมาธิ เราก็คิดว่าขณะนั้นเป็นกุศลแล้ว ใช่ไหมคะ โดยที่ไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วขณะนั้นมีโลภะ แล้วก็มีโมหะ มีความไม่รู้กับมีความติดข้อง
เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาธรรม ก็จะทำให้เรามีความเข้าใจชัดเจนขึ้นว่า ขณะที่เป็นกุศลต้องไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ แล้วเป็นไปขณะไหนบ้าง เพราะว่าจิตใจเรารู้ยาก แต่ถ้ามีการแสดงออกทางกาย ทางวาจา พอจะรู้ แต่ต้องตรง ไม่อย่างนั้นก็ถูกลวงหรือไม่อย่างนั้นก็เข้าใจผิด อย่างเวลาเราเห็นคนที่เขายากไร้ และคิดที่จะช่วย ขณะคิดเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลที่จะช่วย ค่ะ เป็นกุศลแล้ว ดีงามแล้ว คือ ธรรมเป็นเรื่องตรง และเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพียงคิดก็เป็นกุศล แต่ยังไม่สำเร็จ เพราะเหตุว่ายังไม่มีการกระทำ ถ้าอย่างนั้นทุกคนต้องรวยกุศล ใช่ไหมคะ เอาแต่คิดอย่างเดียวว่า จะช่วยคนนั้นช่วยคนนี้ แต่ความจริงไม่ช่วยเลย แล้วก็หวังกุศล ก็คิดว่าแค่นั้นพอ แต่ความจริงนั่นเป็นบุพพเจตนา เพียงแต่ความคิดก่อนการกระทำ ซึ่งไม่แน่ว่า การกระทำนั้นจะเกิดหรือไม่เกิด
เพราะฉะนั้นกุศลก็มีประกอบทั้งก่อนการทำกุศล เรียกว่า บุพพเจตนา หรือขณะที่กำลังทำ จิตเป็นกุศล และหลังจากทำแล้ว จิตของเราผ่องใสที่เรามีโอกาสช่วยคนอื่นให้เขาสะดวกสบายขึ้น มีความรู้สึกสบายใจกับเขาด้วยที่เขาได้พ้นจากความทุกข์ ขณะนั้นก็เป็นกุศล
เพราะฉะนั้นก็มี ๓ กาล คือ ก่อนให้ หรือก่อนทำกุศล และกำลังทำ แล้วหลังจากนั้น
นี่ก็เป็นเรื่องทางของกุศล ซึ่งเป็นบุญกิริยาทางกาย ทางวาจา มี ๓ อย่าง สรุปคือ ทาน ศีล ภาวนา สำหรับพระภิกษุก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญา เพราะเหตุว่าท่านก็ไม่มีวัตถุทานอย่างเรา แต่จริงๆ แล้วท่านก็มีโอกาสเหมือนกัน แต่น้อยกว่า เพราะฉะนั้นจุดมุ่งของท่านก็เน้นไปที่ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะว่าเป็นเรื่องโดยตรงของภาวะที่ต่างกันของบรรพชิตกับคฤหัสถ์
นี่ก็พอจะเข้าใจได้ว่า บุญอยู่ที่ใจ เป็นธรรมที่ดีงาม บาปก็อยู่ที่ใจ เป็นธรรมที่ไม่ดีอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น โลภะ โทสะ โมหะ
วันนี้บุญเยอะ หรืออกุศลเยอะคะ ตรงค่ะ ความตรงเท่านั้น ผู้ที่ตรงจะได้สาระในพระธรรม แต่ถ้าไม่ตรง คดไปคดมา เบี้ยวไปเบี้ยวมาก็ไม่ได้ เข้าข้างตัวเองก็ไม่ได้
ผู้ฟัง ถ้าตรง แต่ก็เป็นอกุศลอยู่เรื่อยๆ เป็นก็คือเป็น แต่ว่าตรง อย่างน้อยๆ ก็รู้ว่าตรง
ท่านอาจารย์ เบี้ยวๆ ก็อยากให้เป็นกุศล ทั้งๆ ที่เป็นอกุศล ก็ยังอยากให้เป็นกุศล เห็นไหมคะว่า ความไม่ตรงนี่มี
เข้าใจว่า ทุกคนที่อยู่ในนี้ เป็นคนดี จริงค่ะ ถ้าเทียบแล้วต้องเป็นคนดี เราไม่ได้เป็นคนร้าย เราไม่ได้ไปฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดต่างๆ เราก็เป็นคนดีระดับหนึ่ง แต่ว่าดีอย่างนี้ ไม่สามารถรู้ว่าเป็นคนดีไม่รู้ตัว ไม่ว่ากุศลจิตเกิด อกุศลจิตเกิดก็ไม่รู้ตัว เวลาทำอกุศลก็ไม่รู้ว่าเป็นอกุศล หรืออาจจะรู้บ้าง แต่ก็ยังทำก็ได้ แต่ไม่รู้ว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้นก็มีดีหลายขั้น แต่ความจริงก็คือว่า กุศลก็คือดี ธรรมดา อกุศลก็คือไม่ดี แต่ถ้าจะรู้ ก็ต้องมีปัญญาที่จะรู้ ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่รู้