โกรธเป็นเรา - โกรธเป็นธรรม
ผู้ฟัง ปัญญาขั้นปริยัติจะเป็นปัจจัยให้ความโกรธลดลงได้หรือไม่ครับ
ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ เพราะจริงๆ แล้วความโกรธก็ดับไปแล้ว
คุณบุตรสวงศ์ ขอคุณแม่ช่วยอธิบายว่า ปริยัติ และปฏิเวธเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ เรื่องของโทสะซึ่งใครๆ ก็รู้ใช่ไหมคะ แต่ว่าเป็นเราที่โกรธ แต่เวลาที่สติเกิดก็คือโทสะที่กำลังปรากฏนั่นแหละ แต่เริ่มค่อยๆ เข้าใจว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรม
ลองคิดดูว่า เป็นเราโกรธกับเป็นสภาพธรรม เป็นความต่างไหม เราโกรธ นี่อย่างหนึ่งเลย เราโกรธ แต่พอรู้ว่าเป็นสภาพธรรม ขณะนั้นเป็นสภาพธรรม มีจริงๆ ลักษณะหนึ่ง แล้วต้องรู้ทั่วทุกอย่าง ขณะนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเสียง ไม่ว่าจะเป็นสี ไม่ว่าจะเป็นคิดนึก ทุกอย่าง ต้องเป็นทุกอย่างที่สติปัฏฐานระลึก จนรู้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรมจริงๆ
เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมต้องตรงกับการอบรมเจริญปัญญาที่จะต้องรู้ตามลำดับขั้นด้วย คือ ขั้นแรกเรารู้ว่าเป็นธรรม เมื่อรู้อย่างนี้เป็นขั้นปริยัติ ขั้นปฏิบัติก็คือมีการระลึกลักษณะของธรรมจริงๆ แล้วเริ่มเข้าใจว่า นั่นเป็นธรรม เพราะความเข้าใจว่าเป็นธรรมกับความเป็นเราโกรธต่างกันมาก
นี่ค่ะทุกอย่างไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้นคนนั้นก็จะเริ่มรู้ว่า สติระลึกทางไหน ถ้าระลึกลักษณะที่โกรธ แต่ทางตานี่ไม่เคยระลึกเลย คนนั้นก็รู้ว่า สภาพที่เป็นนามธรรมยังปรากฏไม่ได้แน่นอน เพราะความเข้าใจลักษณะของนามธรรมไม่พอที่สภาพนามธรรมจะปรากฏโดยความเป็นนามธรรม เพราะว่าความเข้าใจว่าเป็นธรรมกับความเป็นเราโกรธนี่ต่างกันมาก
เพราะฉะนั้นเราเริ่มเข้าใจความหมายของปัญญา ลักษณะของปัญญาเจตสิกว่า ปัญญาเจตสิกก็คือสภาพที่เข้าใจถูกต้องในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็มีหลายระดับมาก ขั้นฟังก็ยังอ่อนมาก คือ หมายความว่าเป็นเพียงเรื่องราวเท่านั้นเอง แต่เวลาที่สภาพธรรมมี แล้วก็อาศัยการฟังที่เคยเข้าใจมากๆ แล้ว ก็ทำให้มีสัมมาสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งระลึกได้ ไม่ใช่ไม่ได้ อย่าไปคิดว่า ยากเกินไป ยากเย็นเหลือเกิน ชาตินี้จะมีไหม นั่นคือไปมัวคิดเรื่อง เป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้ามีปัจจัยที่สติจะเกิด สติเกิดเลย ไม่ต้องไปนั่งคิดว่า อีก ๑๐ ปี หรือว่าชาติหน้า เหมือนกับว่าเมื่อมีปัจจัยที่จะได้ยิน ได้ยินก็ต้องเกิด มีปัจจัยที่จะเห็น เห็นก็ต้องเกิด มีปัจจัยที่สัมมาสติจะเกิด สัมมาสติก็เกิด
เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดา ให้เข้าใจว่าเป็นธรรมดา ธรรมเป็นธรรมดา ไม่อย่างนั้นเราก็ต้องอยากให้สติเกิดอีกด้วยความไม่รู้ ใช่ไหมคะ แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างต้องเพื่อการละ ถ้าสติเกิดแล้วดับก็เป็นธรรมดา ทำไมจะต้องไปอยากอีก ก็แล้วแต่มีปัจจัยเมื่อไร สติก็เกิด คือให้เข้าใจถ่องแท้ถึงสภาพธรรมทุกอย่างที่กำลังปรากฏขณะนี้ มีปัจจัยจึงเกิด ไม่ใช่มีปัจจัยโดยเราไปนั่งเรียนปัจจัย แต่เพราะรู้ความเป็นปัจจัยว่า ต้องมีปัจจัย ไม่อย่างนั้นก็เกิดไม่ได้ เพียงแค่นี้เราก็ไม่เดือดร้อนแล้ว โลภะจะเกิดก็เพราะมีปัจจัย โทสะจะเกิดก็เพราะมีปัจจัย สภาพธรรมใดเกิดแล้วต้องดับ ไม่ใช่ไม่ดับ แล้วจะไปทำอะไรกับสภาพธรรมที่เกิดดับ นอกจากศึกษาด้วยสติสัมปชัญญะ รู้ความจริงว่าเป็นธรรมตรงกับที่ได้ฟัง
นี่คือการอบรมเจริญปัญญาพร้อมกับการศึกษา ไม่ใช่ว่าเพียงแต่ศึกษาไปเยอะๆ แล้วก็รอเมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิด หรืออยากให้สติปัฏฐานเกิด แต่เพราะความเข้าใจจริงๆ จะทำให้การระลึกรู้เป็นปกติธรรมดา ธรรมดาจริงๆ หมดก็หมด เกิดก็เกิด ก็เป็นเรื่องของการรู้ความต่างกันของขณะที่สติเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ
คุณบุตรสวงศ์ ก็ต้องมีการเริ่มในการรู้ตามความเป็นจริงของความโกรธ ใช่ไหม ขอคุณแม่อธิบายต่ออีก
ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่มีจริงในขณะนี้ ต้องรู้ว่าเป็นธรรม
คำว่า “ธรรม” หมายความถึง “ธาตุ” เป็นสิ่งที่รู้ยากหรือรู้ง่ายคะ คำว่าเป็นธาตุแต่ละอย่าง อย่างนามธาตุ ยากแน่ๆ ใช่ไหมคะ ถ้าเป็นเรา ก็คือธรรมดาปกติ แต่ถ้าไม่ใช่เรา ก็คือเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นธาตุแต่ละชนิด
ผู้ฟัง เห็นความโกรธด้วยความเป็นตัวตนกับจิตที่รู้สภาพจิตที่ดุร้ายด้วยความไม่มีตัวตน จะต่างกันอย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ เห็นความโกรธ หมายความว่าอย่างไรคะ หมายความว่าลักษณะที่โกรธเกิด แล้วก็รู้ว่าเป็นโกรธ ก็เป็นของธรรมดา
ผู้ฟัง แต่ท่านอาจารย์แสดงว่า คนที่ไม่ได้ศึกษาธรรม หรือคนที่เข้าใจผิดว่ามีตัวตน ก็จะเห็นความโกรธได้เหมือนกัน
ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ ทุกคนรู้จัก เพราะว่าลักษณะของเขาเกิดขึ้นให้รู้ว่า โกรธเป็นอย่างนี้
ผู้ฟัง แล้วการที่สติระลึกรู้สภาพโกรธโดยไม่มีตัวตน จะต่างจากคนที่รู้ความโกรธด้วยความมีตัวตนอย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ คือต้องรู้ลักษณะที่ต่างกันของขณะที่มีสติกับหลงลืมสติ เพราะลักษณะของสติปรากฏเพราะเกิดขึ้น จึงรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสติที่ระลึก ตอนนี้ลักษณะของสติจะชัดเพราะเกิด แต่เวลาที่สติไม่เกิด หรือว่าเกิดขั้นทาน ขั้นศีล ไม่มีทางที่จะรู้ได้
ผู้ฟัง แล้วอันนั้นเป็นขั้นปฏิบัติหรือเปล่าครับ
ท่านอาจารย์ ขณะใดที่สติเกิด ไม่ใช่เรา ใช่ไหมคะ ไม่มีการไปเข้าห้อง แล้วต้องการ นั่งนิ่งๆ สงบๆ แต่ว่าขณะนี้ธรรมดาปกติ ถ้าสติเกิด เหมือนกับโทสะเกิด โทสะก็มีลักษณะอย่างหนึ่ง สติก็มีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง ถ้าสติเกิดก็คือขณะนั้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มี ปัญญาอ่อนมากสำหรับตอนขั้นแรก แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกในสัมมามรรค ก็จะเป็นเจตนา ความจงใจ เป็นมิจฉามรรค
เพราะฉะนั้นสัมมามรรคก็คือปัญญาที่ได้ฟังจนกระทั่งมีสัญญา ความจำที่มั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรม ทำให้สติระลึกที่ลักษณะนั้น เพื่อที่จะได้ศึกษาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นยิ่งขึ้น ตรงว่า ขณะนั้นไม่ใช่เพียงขั้นคิด แต่ลักษณะจริงๆ ปรากฏ ความเป็นธรรมก็ปรากฏ
เวลานี้ธรรมก็ปรากฏ แต่กับอวิชชา หรือความไม่รู้ หรือจิตประเภทต่างๆ ซึ่งไม่ใช่สติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม
เพราะฉะนั้นเวลาที่สติปัฏฐานเกิด ก็มีการระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ แล้วก็เริ่มค่อยๆ เข้าใจ
นี่คืออธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา การศึกษาพร้อมทั้ง ๓ อย่างในขณะที่สติปัฏฐานเกิด