ต้องเข้าใจถึงแก่น คือตัวธรรม
ผู้ฟัง การปฏิบัติจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อปริยัติเกิดก่อนที่ตรง ใช่ไหมครับ ต้องมีปริยัติที่ถูกต้องก่อน
ท่านอาจารย์ ทีนี้มีความเข้าใจว่าปริยัติคืออะไร คือการศึกษา เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมว่าเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา เพราะว่าตั้งแต่เกิดจนตาย ก็คือธรรมเกิด ดับ แต่เป็นเราไปหมด แต่เวลาที่มีการศึกษาปริยัติ ก็เริ่มเข้าใจว่า ที่เป็นเราก็คือจิต เจตสิก รูป แต่ต้องลึกลงไปกว่านั้น คือรู้ว่าเป็นธรรม และขณะไหนบ้างที่เราเรียน เช่น เราเรียนเรื่องปฏิสนธิจิต จิตขณะแรก เป็นธาตุรู้ เป็นนามธาตุ ซึ่งไม่ใช่รูปซึ่งเกิดพร้อมกัน แต่ก็ไม่มีใครไปรู้ตอนปฏิสนธิ แต่หลังจากนั้นลักษณะของรูปธรรมก็ปรากฏ ลักษณะของนามธรรมก็มี แต่เมื่อไม่ได้ศึกษา ก็ไม่มีทางที่จะระลึก แต่พอศึกษาเข้าใจแล้ว ก็ต้องแล้วแต่ความเข้าใจของเราในความเป็นธรรมของสิ่งที่เราเรียน เป็นปทัฏฐาน เป็นเหตุใกล้ให้สติเกิด ไม่ใช่เราอยากมีสติ แล้วสติเกิด แต่เพราะเข้าใจจริงๆ ความเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรม ก็ทำให้สติปัฏฐานระลึกลักษณะที่เป็นธรรม
พอพูดถึงธรรม หมายความถึงขณะนี้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะได้เห็น จะได้ยิน แล้วเราไม่เคยรู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นเราศึกษาเพื่อให้เข้าใจว่า ธรรมขณะนี้คืออย่างไร อย่างคำว่า “นามธรรม” ก็หมายความถึงสภาพรู้หรือธาตุรู้ ตอนนี้ไม่เกี่ยวกับหนังสือแล้ว มาเกี่ยวกับเดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็น ฟังแล้วให้เข้าใจว่า เดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็นเป็นนามธรรม เพราะว่าเป็นสภาพรู้
คำว่า “สภาพรู้” ก็ยากแสนยากที่จะประจักษ์หรือจะเข้าใจ เพราะว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏ และตัวเห็นไม่เคยปรากฏให้รู้เลยว่า เป็นธาตุหรือสภาพธรรมที่มีจริง แต่เมื่อเข้าใจแล้ว เราก็รู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้จะปรากฏไม่ได้ ถ้าไม่มีสภาพนี้ซึ่งเกิดแล้วเห็นสิ่งนี้
เพราะฉะนั้นก็ค่อยๆ เข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้นเวลาที่ศึกษาธรรมก็คือเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวันทุกขณะ ก็จะเป็นทางที่จะทำให้มีการระลึกได้ โดยสติค่อยๆ เข้าใจว่า ขณะนี้เป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ที่เห็น หรือเสียงก็เหมือนกัน ขณะที่ได้ยินก็มีธาตุรู้ สภาพรู้ เพราะเหตุว่าธาตุรู้จะไม่ทำหน้าที่อื่นอย่างเจตสิกเลย ถ้าพูดโดยศัพท์ก็คือว่า เป็นจิตที่เห็น เป็นจิตที่ได้ยิน เราไม่ได้พูดถึงเวทนา ความรู้สึก เราไม่ได้พูดถึงความจำ แต่เราพูดถึงภาวะที่รู้สิ่งที่ปรากฏ ประจักษ์แจ้งในสิ่งที่ปรากฏว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาก็คืออย่างนี้ หรือเสียงที่ปรากฏก็คืออย่างนั้น แล้วแต่ว่าจะเป็นเสียงอะไรก็ตาม ก็เป็นธาตุรู้ซึ่งมีอยู่ไม่ขาดสายเลย แล้วแต่จะคิดจะนึกอะไรก็เป็นธาตุรู้ เพื่อที่จะให้เข้าถึงความเป็นธาตุรู้ของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งต่างกับรูปธรรม
นี่คือการเข้าใจความหมายโดยการฟังว่า รูปธรรมคืออะไร โดยมีรูปธรรมจริงๆ ขณะนี้ให้รู้ แล้วก็นามธรรมคืออะไร โดยมีนามธรรมเดี๋ยวนี้กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้นคนที่ฟังธรรมในครั้งพุทธกาลฟังเข้าใจทันทีในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม เพราะว่าท่านเหล่านั้นอบรมมามาก ฟังมามาก พิจารณามามาก ถ้าอ่านประวัติของท่านเหล่านั้นก่อนที่ท่านจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็รู้ได้เลยว่า ท่านศึกษา เป็นพหูสูตรจริง แต่ความเป็นพหูสูตรก็คือว่า ศึกษาเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม
เพราะฉะนั้นการฟังด้วยความเข้าใจ ไม่ได้คิดถึงตำรับตำราหรือข้อหนึ่งข้อใดซึ่งจะไปเขียนเอาไว้เลย แต่ว่าสิ่งที่ได้ฟังมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้พิจารณา ให้เข้าใจทันทีได้ เพราะฉะนั้นการศึกษาของท่านเหล่านั้นจากการฟัง แล้วก็พิจารณาว่า สิ่งที่ฟังคือสิ่งนี้แหละที่กำลังปรากฏ เวลาที่ตรัสถามว่า เห็นเที่ยงหรือไม่เที่ยง ท่านเหล่านั้นถามว่าไม่เที่ยง ไม่ใช่ไปจำมาจากตำราไหนเลย แต่ว่ามีเห็นที่กำลังเห็น แล้วปัญญาที่อบรมมาแล้ว พอพูดถึงเห็น ซึ่งเป็นภาษาไทย ภาษาบาลีก็ต้องใช้คำว่า “จักขุวิญญาณ” เที่ยงหรือไม่เที่ยง ก็คือเห็นเดี๋ยวนี้ ถ้าสามารถที่จะกล่าวได้ว่าไม่เที่ยง แล้วแต่ระดับของปัญญา ซึ่งปัญญาของผู้ประจักษ์จริงๆ ตอบจริงๆ อย่างที่ถามคุณจรัญเมื่อกี้นี้ว่า แข็งเป็นปริยัติหรือปฏิบัติ แล้วเป็นผู้ที่ตรง ถ้าปริยัติก็คือรู้ว่าแข็ง ซึ่งแต่ก่อนเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ แต่เดี๋ยวนี้เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งรู้ได้ทางกายก็คือแข็ง แต่ถ้าท่านเหล่านั้นตอบ เราจะรู้เลยว่า พอจบเทศนาแล้วท่านเป็นพระโสดาบันหรือเป็นพระอรหันต์ เพราะคำตอบของท่านแม้เราจะตอบอย่างท่าน แต่ปัญญาถึงระดับท่านหรือเปล่า
เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับระดับของปัญญา ซึ่งคนที่สติปัฏฐานเกิด ก็เริ่มเข้าใจความต่างของสติขั้นทาน ขั้นศีลกับสติปัฏฐาน เพราะว่าสติปัฏฐานมีลักษณะของสติที่เกิดปรากฏ ไม่ใช่เรา ก็มีลักษณะที่กำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรม เป็นเรื่องที่สติปัฏฐาน ก็เป็นธรรมดา แต่ปัญญาซึ่งเกิดจากสติปัฏฐานไม่ธรรมดา เพราะเหตุว่าปัญญาไม่ใช่สติ สติเป็นสภาพธรรมที่เพียงระลึก สติจะเป็นปัญญาไม่ได้เลย สติมีหน้าที่ระลึกตั้งแต่ต้นจนตลอด สติจะทำหน้าที่อย่างเดียวคือระลึก ส่วนปัญญาก็มีหน้าที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามลำดับว่า ความเข้าใจนั้นพอถึงระดับที่สภาพธรรมจะปรากฏกับปัญญาหรือยัง เพราะเหตุว่าขณะนี้ทุกคนรู้ว่าแข็ง แล้วก็รู้ว่า สติปัฏฐานระลึกแข็ง แต่ความเข้าใจลักษณะของแข็งสั้นมาก แล้วก็มีสภาพธรรมอื่นปรากฏ แล้วก็หลงลืมสติก็เยอะ
เพราะฉะนั้นกว่าที่จะมีความมั่นคงว่า ลักษณะที่ปรากฏนี่แหละจะทำให้ถึงวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ถึงความเป็นพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์ แต่ไม่ใช่เพียงแข็ง จะต้องเป็นการรู้ทั่วในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ขั้นฟัง แต่สติจะระลึก
เพราะฉะนั้นถ้าทางตาขณะนี้ยังไม่ได้ระลึกเลย คนนั้นก็รู้ว่า ไม่มีทางที่สภาพธรรมจะปรากฏอย่างที่เราพูดว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แต่จะเป็นอย่างที่เราพูดว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ก็ต้องเริ่มด้วยสติที่ระลึก แล้วความเข้าใจของเรามากน้อยแค่ไหน แต่ละคนก็จะรู้เอง ต้องเป็นคนที่ตรงมาก คือ รู้ก็รู้ ไม่รู้ก็ไม่รู้
นี่คือประโยชน์แท้จริงของการศึกษา เพราะว่าคนที่ศึกษาโดยสติปัฏฐานไม่เกิดเลยตลอดชีวิต ก็คือทัพพีไม่รู้รสแกง แล้วชาติหน้าก็ต้องมาท่องใหม่ ต้องมาฟังใหม่ แต่ถ้าศึกษาตัวธรรมจริงๆ เราเริ่มเข้าใจได้ แล้วก็เป็นประโยชน์ของการศึกษาด้วย คือ มีปริยัติ ปฏิบัติเพื่อจะถึงปฏิเวธ
เพราะฉะนั้นเวลาที่ศึกษา เราก็ต้องรู้ว่า เมื่อเราอ่านสิ่งนี้ อย่างในพระไตรปิฎกมีทั้งพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม เราสามารถมีความเข้าใจในสิ่งนั้นระดับไหน เข้าใจได้เท่านี้ หรือเข้าใจได้อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าละเอียดลออ ละเอียดลออเพียงคิดเรื่องราวให้โยงสอดคล้องกันแบบการศึกษาทฤษฎีวิชาการต่างๆ หรือว่าศึกษาโดยคิดว่า เราสามารถที่จะเกื้อกูลการเข้าใจธรรมของเราชัดเจนกระจ่าง เช่นถ้าพูดถึงอารัมมณปัจจัย อะไรๆ ก็ตามที่จิตรู้ เป็นอารมณ์ของจิต อารัมมณะ คือ สิ่งที่จิตกำลังรู้
เพราะฉะนั้นในขณะนี้เดี๋ยวนี้เอง เราก็เข้าใจถึงปัจจัยหนึ่งซึ่งสำคัญ ทุกปัจจัยขาดไม่ได้เลย คือ ถ้าไม่มีสภาพที่ถูกรู้ จิตก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น ถ้าเสียงไม่กระทบหู จิตได้ยินจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่มีทางที่จิตได้ยินจะเกิดขึ้นได้เลย
เพราะฉะนั้นแม้แต่อารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่จิตรู้ ก็ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จิตเกิดขึ้นโดยเป็นอารัมมณปัจจัย คำอุปมาก็ช่วยทำให้เราเข้าใจขึ้น ถึงแม้ว่าจิตเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ แต่ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้ด้วยในขณะนั้น จิตจึงเกิดขึ้นได้ เหมือนคนทุพลภาพ คนที่ไม่มีเรี่ยวมีแรง เป็นคน ยืนได้ แต่ต้องอาศัยสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะจับจะโหน ที่จะทำให้เหนี่ยวรั้งตัวยืนขึ้นได้ นั่นคือลักษณะของอารมณ์
ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ คือ ปัญญาของเราเข้าใจอย่างนี้ได้ แล้วเวลาศึกษาปัจจัยอื่น ทีละเล็กทีละน้อยไป ก็จะทำให้เราสามารถเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้ได้ อะไรที่จะทำให้เราเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้ อันนั้นจะเกื้อกูลให้สัมมาสติเกิดระลึก แต่ถ้าสิ่งที่เราอ่าน แล้วก็จำๆ เอาไว้เฉยๆ ไม่มีประโยชน์ สำหรับดิฉันเอง ดิฉันเรียนเพื่อเข้าใจอย่างเดียว เท่าที่จะเข้าใจได้ด้วย ถ้าส่วนไหนที่เกินความสามารถละเอียดลออยิบยับ ดิฉันจะรู้ว่า ปัญญาของดิฉันไม่ถึง ดิฉันไม่ต้องการเอาชื่อมาพูด หรือเอามาเรียงลำดับ หรือเอามาขีดเป็นแผนผังให้คนดู แต่อยากให้เขามีความเข้าใจจริงๆ
เพราะฉะนั้นดิฉันทราบว่า ถ้าดิฉันจะทำแผนผัง มันง่ายเกินไป ปรมัตถธรรมมี ๔ แยกเป็นขันธ์ ๕ ก็ไม่ต้องคิดอะไรเลย ดูเอา แล้วก็คิดว่าตัวเองเข้าใจ แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะฉะนั้นของดิฉันจะไม่มีรูป เพราะดิฉันเองทราบเลยว่า การศึกษาธรรมไม่มีปริจเฉท ถ้าเราจะเข้าใจสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดจริงๆ เราสามารถจะกล่าวได้โดยตลอด แม้ปฏิสนธิจิต ๑ ขณะ เป็นชาติอะไร มีอารมณ์อะไร แล้วมีปัจจัยอะไรก็กล่าวได้ คือ ต้องมีกัมมปัจจัย เพราะเหตุว่านี่เป็นวิบาก คือ สามารถทำให้คนเข้าใจคำที่เขาได้ยินได้ฟัง มากกว่าได้ยินคำตามตำรา แต่ไม่รู้เรื่องเลย อันนี้คือจุดประสงค์ที่ว่า เป็นพื้นฐานสำหรับทุกอย่างที่พร้อมที่เขาจะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
เพราะฉะนั้นดิฉันจะไม่ไปเน้นเรื่องวิชาการ ตำราอะไร ถ้าใครสนใจเขาก็ไปอ่านได้ แต่เมื่ออ่าน ต้องรู้จักตัวเองว่า เข้าใจได้หรือเปล่า แล้วเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า แล้วเข้าใจแค่ไหน หรือเพียงแต่อ่านแล้วก็บวกลบคูณหาร แล้วก็คิดว่า นั่นคือเข้าใจ นับไปนับมาให้เป็นเท่านี้เท่านั้น นั่นคือเข้าใจ นั่นไม่ใช่ สำหรับดิฉันเอง ดิฉันจะศึกษาอย่างเดียวเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังอ่านอย่างถ่องแท้ อย่างลึก อย่างละเอียด คือจะไม่ผ่านไปว่า นี่ใช่ แค่นี่พอ แต่จริงๆ สิ่งต่างๆ เหล่านั้นลึกลงไปคืออะไร แม้แต่ภวังคจิต ซึ่งสภาพธรรมไม่ได้ปรากฏขณะที่เป็นภวังค์ แล้วทำไมมีสภาพธรรมปรากฏได้ น่าอัศจรรย์ไหม เป็นส่วนที่จะเข้าใจความหมายของ “อายตนะ” หรือเปล่าว่า ตรงไหน เมื่อไร ไม่อย่างนั้นเราก็ไปเรียนแต่ชื่อว่า อายตนะ ๑๒ ภายใน ภายนอก ตอบได้ แต่ตรงไหน เมื่อไร แต่เราจะต้องรู้แม้แต่ขณะที่ไม่ใช่วิถีจิต แต่ต้องรู้อารมณ์ เพราะเป็นจิต ไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใด ก็สอดคล้องกันไปหมด แล้วก็สามารถทำให้เราเข้าใจได้ว่า ขณะใดเป็นวิถีจิต ขณะใดไม่ใช่วิถีจิต นี่โดยฟัง แต่เวลาที่สภาพธรรมปรากฏ ก็ปรากฏอย่างนั้น เพราะเหตุว่าต้องมีการที่สิ่งนั้นไม่ได้เกิดปรากฏ เช่น เสียง มี แล้วก็หามีไม่ จากไม่มี แล้วก็มี แล้วก็หามีไม่
เพราะฉะนั้นทุกพยัญชนะในพระสูตรแม้สั้น ก็คือพระอภิธรรม คือต้องสอดคล้องกันด้วย หรือจะอ่านพระสูตร สูตรหนึ่งสูตรใด ก็คือเมื่ออ่านแล้วต้องเข้าใจถึงแก่น คือ ตัวธรรมตรงนั้นด้วย อย่างธาตุวิภังคสูตร เป็นเรื่องของธาตุทั้งหมดโดยละเอียด เป็นขั้นๆ มา เราก็ต้องเข้าใจ ถ้าเราข้าม แม้แต่คำว่า “อายตนะ” หรือคำว่า “ธาตุ” แล้วเราไปรู้ปัจจัยเยอะแยะหมดเลย แต่เราไม่รู้ตรงนี้ ก็ไม่มีประโยชน์
เพราะฉะนั้นการศึกษาของแต่ละคนตามกำลังความสามารถของแต่ละคน ถ้าใครมีกำลังความสามารถที่จะศึกษาแล้วเข้าใจจริงๆ ลึกด้วย ชัดด้วย ตรงด้วย จริงด้วย อันนั้นก็ควรจะศึกษา แต่ถ้าเพียงจำก็ไม่มีประโยชน์
เพราะฉะนั้นต่างคนต่างอัธยาศัย