ความตระหนี่อย่างยิ่ง


    แค่มัจฉริยะ ได้ยินว่า ตระหนี่ และได้ยินคำว่า ปรมมัจฉริยะ ก็เป็นคำถามอีก เพราะถามให้คิด คิดแล้วเข้าใจ แต่ถ้าไม่คิด คนอื่นเขาพูด เราพูดตาม แต่เราเข้าใจหรือเปล่า เพราะฉะนั้นลองคิดดูค่ะ มีใครไม่ใช่ “ปรมมัจฉริยะ” หรือไม่ตระหนี่อย่างยิ่งบ้างไหม กรุณายกมือ แสดงว่าทุกคนตระหนี่อย่างยิ่ง ใช่ไหมคะ

    ตระหนี่อะไรอย่างยิ่งคะ ความรักตัว มีอะไรที่จะสละได้ยากเท่ากับความรักตัวบ้าง เพราะฉะนั้นความรักตัวนี่ตระหนี่อย่างยิ่ง ตระหนี่ความเป็นเรา ไม่อยากให้หมดไปเลย บางคนคิดว่าฟังธรรมกันทำไม กลัวเหลือเกินที่จะหมดกิเลส คิดดูนะคะ กลัวหมดกิเลส ช่างคิดอะไรได้ปานนั้น กิเลสดีนักหรือที่จะเก็บไว้ทุกวัน มากๆ โดยไม่รู้สึกตัวด้วย แต่ก็ยังตระหนี่ไว้มาก เหนียวแน่น ไม่ยอมสละหรือละความติดข้องในความเป็นตน

    เพราะฉะนั้นธรรมคือเรื่องที่จริง ละเอียด และลึกซึ้ง ที่จะต้องอาศัยการไตร่ตรองของแต่ละบุคคล ไม่ใช่เป็นผู้ฟังแล้วเชื่อ แต่ว่าฟังแล้วเข้าใจ แม้เข้าใจ เดี๋ยวก็ลืม เพราะเหตุว่าลืมก็เป็นธรรม เข้าใจก็เป็นธรรม เบื่อก็เป็นธรรม ไม่เบื่อก็เป็นธรรม ศรัทธา สภาพของจิตที่ผ่องใส ไม่มีอกุศล โลภะ โทสะ โมหะ ขณะที่กำลังฟังธรรมด้วยศรัทธา ที่จะเข้าใจในสิ่งที่กำลังฟัง ขณะนั้นก็เป็นธรรม แต่พอเห็น เป็นอกุศลแล้ว ฟังไป ดูดอกไม้ไป ก็มีสภาพธรรมที่เกิดดับหลายอย่าง จำแนกออกไปเป็นประเภทต่างๆ ก็คือชีวิตตามความเป็นจริง

    ทำไมวิชาอื่นศึกษาได้ และก็อยากศึกษามากๆ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก แต่ธรรมที่มีจริงๆ และผู้อื่นไม่สามารถสั่งสอนได้เลย มหาวิทยาลัยใดๆ ในโลกก็ไม่สามารถทำให้เกิดความเข้าใจในความจริงนี้ได้เลย นอกจากพระธรรม พุทธศาสนา คำสอนของผู้ที่ทรงตรัสรู้ตามความเป็นจริง ทำไมไม่สนใจที่จะเข้าใจ ไม่ได้เกิดโทษภัยใดๆ เลยทั้งสิ้น

    ฟังแล้วเจ็บไหมคะ “ปรมมัจฉริยะ” เจ็บไหมคะ ไม่มีใครไปว่าใคร แต่พูดถึงธรรมที่เป็นจริงอย่างนี้ ให้เข้าใจถูกต้อง

    เพราะฉะนั้นความเข้าใจไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ได้ทำให้ใครเป็นทุกข์เลย แต่นำมาซึ่งความเห็นที่ถูกต้อง และเห็นคุณค่าของสิ่งที่ได้ยินได้ฟังด้วยว่า ทุกคำที่ได้ยินได้ฟังเป็นวจีสัจจะ วาจาสัจจะ คำพูดจริง เพราะพูดถึงสิ่งที่กำลังมีจริงๆ และพูดถึงความจริงของสิ่งที่มีจริง เพื่อให้เข้าใจความจริงถูกต้องยิ่งขึ้น จนสามารถไม่เป็น “ปรมมัจฉริยะ”


    หมายเลข 8696
    19 ก.พ. 2567