สนทนาธรรมที่วัดวังตะกู ๑


    ท่านอาจารย์ การศึกษาโดยละเอียดจะทำให้เราเริ่มเข้าใจถูก มีความเห็นถูกว่า แม้แต่การอบรมเจริญปัญญา ต้องเข้าใจความหมายจริงๆ ว่า เราไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น ต้องเข้าใจว่า ปัญญา คือ ความเห็นถูก เป็นสภาพธรรมที่มีจริง อาศัยการฟัง และขณะที่ฟังก็ต้องฟังด้วยดี ด้วยความตั้งใจที่จะเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟัง สามารถพิจารณาได้ว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังถูกต้องหรือไม่ ถ้าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง อันนั้นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าถูกต้อง หมายความว่าตรงกับสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง และการฟัง คือ การศึกษาแต่ละครั้ง ก็จะทำให้เข้าใจธรรมขึ้น ปัญญาก็จะเจริญขึ้นตามลำดับ จนกว่าจะเป็นสติปัฏฐาน ซึ่งไม่ใช่เราจะไปทำ แต่เพราะเหตุว่าปัญญามีความเข้าใจถูกต้องเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพราะฉะนั้นก็เป็นปัจจัยปรุงแต่ง เป็นสังขารขันธ์ที่จะทำให้สติอีกระดับหนึ่งเกิดขึ้นเป็นสติปัฏฐาน

    พระคุณเจ้า ความหมายของคำว่า “ถูกต้อง” สภาวธรรมหรือสภาพธรรมที่ถูกต้อง กับสภาวธรรมหรือสภาพธรรมที่ปรากฏที่ถูกต้อง มีความหมาย มีขั้นตอน มีข้อแม้อย่างไรถึงจะพิสูจน์ได้ว่า อย่างไรแค่ไหนถูกต้อง และอย่างไรแค่ไหนไม่ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องตรงกับสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏ

    พระคุณเจ้า ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้อะไรมาเลย แต่ถ้าเห็น หรือเข้าใจ หรือสัมผัส หรือสำเหนียก พิสูจน์ได้ว่า สภาวธรรมที่ปรากฏนั้นถูกต้อง ก็ถือว่าเรารู้จริง รู้ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีการศึกษาให้เข้าใจก็จะรู้ไม่ได้เลย อย่างตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า มีนามธรรมกับรูปธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่แยกขาดจากกัน รูปธรรมเป็นธรรมที่มีจริง แต่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย แต่เวลาที่กระทบสัมผัสกาย บางคนอาจจะเข้าใจว่า รูปสามารถมีความรู้สึกได้ เพราะว่าไม่เข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้วขณะนั้นมีสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่รูป แต่อาศัยรูปเกิดขึ้น เช่น ขณะนี้ทางตามีเห็น ถ้าไม่มีจักขุปสาท คือ ปสาทตา ซึ่งเป็นรูปพิเศษที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าใครก็ตามที่กรรมไม่เป็นปัจจัยให้ปสาทรูปเกิด สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้จะปรากฏไม่ได้

    นี่คือความถูกต้องตามความเป็นจริง ว่าสภาพธรรมที่แม้มีจริง แต่ต้องมีปัจจัยที่ทำให้มีสภาพที่เห็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงปรากฏ คนตาบอดไม่รู้ลักษณะของสีสันวัณณะเลย สีสันวัณณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มีปัจจัยที่จะให้มีธาตุรู้สี หรือเห็นเกิดขึ้น นี่คือความถูกต้อง แต่ถ้าเป็นเรา ก็หมายความว่าไม่เข้าใจอะไรเลย

    พระคุณเจ้า อย่างสมมติว่า คนตาบอดไม่รู้ถึงสีสันวัณณะ แต่คนตาบอดสามารถสัมผัสถึงกลิ่นไอร้อน อ่อน แข็งได้ อย่างนี้ถือว่ารู้จักสภาวธรรมหรือสภาพธรรมที่ปรากฏอย่างถูกต้องหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ทุกคนกระทบสัมผัสสิ่งที่แข็ง ถามใคร ใครก็บอกว่าแข็ง ถามเด็ก เด็กก็บอกว่าแข็ง แต่นั่นไม่ใช่ปัญญา

    เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจอรรถของสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติใช้คำว่า “ปัญญา” แล้วก็จะมีชื่ออีกหลายชื่อ สำหรับสภาพธรรมที่มีความเห็นถูกตามระดับขั้นด้วย

    เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่า ปัญญาเจตสิก ไม่ใช่ปัญญาทางโลก ซึ่งเราสามารถศึกษาวิชาการทางโลก ซึ่งไม่ได้รู้ตัวจริงของธรรมเลย เป็นแต่เพียงความทรงจำเรื่องราวของธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว และก็ยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นวิชาการสาขาใดทั้งสิ้น เช่น วิชาการแพทย์ ก็จะมีการทรงจำในรูปร่างสัณฐานของรูปธรรม สีสันวัณณะที่ต่างกัน บัญญัติว่าเป็นหัวใจ ตับ ปอด ม้าม เป็นต้น แต่ว่าลักษณะแท้ๆ สิ่งนั้นปรากฏเมื่อไร ถ้ามีจักขุปสาท สีสันวัณณะเท่านั้นปรากฏ ถ้ากระทบสัมผัส เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวเท่านั้นปรากฏ

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมจริงๆ ปรากฏเมื่อจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งนั้นทีละอย่าง อย่างรวดเร็ว เพราะว่าจิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ จะเกิดขึ้นในคนหนึ่งซ้อนกัน ๑๐ ขณะ หรือ ๑๐ ประเภท หลายๆ ดวงอย่างนั้นไม่ได้ แต่ว่าคนหนึ่งๆ จะมีธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้แต่ทางใจที่คิดนึก ก็ต้องคิดทีละคำ

    เพราะฉะนั้นจิตของแต่ละคนก็จะมีทีละ ๑ ขณะ ซึ่งจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นเอง จิตไม่จำ จิตไม่สุข จิตไม่ทุกข์ ความสุข ความทุกข์ต่างๆ ที่เกิดจากการเห็น การได้ยิน เป็นลักษณะของเจตสิกซึ่งโดยศัพท์ หมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดกับจิต รู้อารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏให้จิตรู้อย่างเดียวกับจิต คือ จิตรู้อารมณ์อะไร เจตสิกก็รู้อารมณ์นั้น

    คำว่า “อารัมมณะ” อีกคำหนึ่งในภาษาบาลี ซึ่งภาษาไทยใช้คำว่า “อารมณ์” ไม่เหมือนกับความหมายที่เราเข้าใจ เพราะเหตุว่าคนไทยเราเอาภาษาบาลีมาใช้ แต่ว่าใช้ไม่ตรงกับความหมายในพระพุทธศาสนา เวลาเราบอกว่า วันนี้อารมณ์ดี เพราะเหตุว่าเห็นดี ได้ยินดี ได้กลิ่นดี ลิ้มรสดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสดี คิดนึกเรื่องราวดีๆ ก็บอกว่า อารมณ์ดี แต่คำว่า “อารัมมณะ” ต้องคู่กับคำว่า “จิต” เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ เมื่อเกิดขึ้นต้องรู้ ไม่รู้ไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้ หรือจิตกำลังรู้สิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ เสียงในป่า เสียงนอกศาลา เสียงใดๆ ก็เกิดขึ้นได้ เมื่อมีการกระทบกันของของแข็ง แต่เสียงที่ไม่ปรากฏ ไม่ใช่อารัมมณะหรืออารมณ์ เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่มีจิตที่รู้เสียงนั้น เสียงนั้นเกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป แต่ขณะใดก็ตามเสียงปรากฏ หมายความเสียงปรากฏกับสภาพรู้ที่กำลังได้ยินเสียง ขณะนี้มีจิตขณะหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นได้ยินเสียง

    เพราะฉะนั้นก็จะต้องทราบการเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วของสภาพธรรม แล้วก็รู้ว่า ตัวจริงๆ ของสภาพธรรมแต่ละขณะนั้นมีอะไรบ้าง รู้อารมณ์ทางไหนบ้าง ส่วนเรื่องราวทางโลกที่บอกว่า คนนั้นมีปัญญา ก็เป็นแต่เพียงความทรงจำเรื่องราวโดยไม่รู้สภาพธรรม

    เพราะฉะนั้นวิชาการทางโลกซึ่งมีผู้ที่มีความสามารถต่างๆ ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาเจตสิก ถ้าเป็นปัญญาเจตสิก คือ รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ อย่างถูกต้องตามลำดับขั้น จึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ หรือปัญญาเจตสิก


    หมายเลข 8697
    22 ส.ค. 2567