สนทนาธรรมที่วัดวังตะกู ๕


    พระคุณเจ้า เท่าที่ฟังมารู้สึกว่า ผู้ที่จะเจริญสติปัฏฐานหรือผู้ปฏิบัติ เหมือนกับว่าต้องศึกษาพระอภิธรรม ให้รู้ว่าจิตมี ๘๙ เจตสิกมี ๕๒ รูปมี ๒๘ แบ่งเป็นฝ่ายโสภณเท่าไร อกุศลเท่าไร ดังนั้นผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรม หรือผู้ไม่จบ ป. ๔ ก็ไม่มีสิทธิ์เจริญสติปัฏฐานได้ถูกต้อง จริงหรือ

    ท่านอาจารย์ มีผู้สงสัยเหมือนกันว่า วิสาขามิคารมารดาซึ่งท่านเป็นพระโสดาบัน ท่านอนาถบิณฑิกะ หมอชีวกโกมารภัจ ท่านเหล่านี้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านรู้เรื่องจิต ๘๙ ดวงหรือเปล่า นี่เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ท่านไม่ได้รู้ชื่อ แต่ปัญญาสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ

    ภาษาไทยใช้คำว่า “จิต” ทุกคนเหมือนเข้าใจว่ามีจิต แต่ถ้าถามว่าขณะนี้จิตอยู่ที่ไหน ตอบได้ไหมเจ้าคะ เมื่อมีแล้วอยู่ที่ไหน ก็ตอบไม่ได้ ถ้าไม่ได้ศึกษา แต่ถ้าศึกษาแล้วจะเห็นความเป็นอนัตตายิ่งขึ้น มีความเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังแม้ไม่มาก แต่สามารถเข้าใจได้มาก เพราะฉะนั้นจึงมีผู้ที่ฟังน้อยแต่เข้าใจมาก และเมื่อมีความเข้าใจมากในสิ่งที่ได้ฟัง แม้เล็กน้อย เวลาที่ได้ฟังมากขึ้น ความเข้าใจก็ยิ่งมากขึ้นด้วย

    เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจว่า การฟังเป็นปัจจัยให้มีการพิจารณา สิ่งที่เข้าใจ ถ้าพิจารณาโดยความถูกต้องก็เข้าใจ สิ่งนั้นคือปัญญาที่เข้าใจ ไม่ใช่เรา ความเข้าใจเกิดขึ้นในขณะที่ฟังเข้าใจ แล้วก็ดับไป แล้วขณะอื่นปัญญาจะเกิดหรือไม่เกิด หรือจะเป็นปัญญาระดับไหน เพราะเหตุว่าปัญญาก็มีหลายระดับ ก็ต้องขึ้นกับเหตุปัจจัยด้วย แต่ไม่ใช่หมายความว่า พระพุทธศาสนาจะต้องจำกัดสำหรับผู้ที่เรียนเรื่องจิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ โดยละเอียด แต่ขณะเพียงฟัง ใครก็ตามที่ไม่ต้องถึงจิต ๘๙ แต่ขณะนี้สามารถเข้าใจสภาพของจิตว่า เป็นธาตุชนิดหนึ่ง มีจริงๆ เป็นสภาพรู้ ไม่ใช่รูปธรรม เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ คือ กำลังเห็นทางตา นี่เป็นลักษณะของธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเห็นอย่างเดียว จะทำอย่างอื่นไม่ได้เลย ถ้าเกิดอีก เห็นอีก ก็คือธาตุนี้แหละ ธาตุที่เห็นก็เห็น ธาตุที่ได้ยินก็ได้ยิน ธาตุที่คิดนึกก็ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน แต่คิดนึก

    เพราะฉะนั้นในพระไตรปิฎก นอกจากจะใช้คำว่า “ธรรม” ยังใช้คำว่า “ธาตุ” ทั้งหมด เช่น โลภธาตุ โทสธาตุ โมหธาตุ ทุกอย่างหมด ใช้คำว่า “ธาตุ” ก็ได้ ธรรมก็ได้ ถ้าฟังเข้าใจอย่างนี้ และเวลาที่ฟังต่อๆ ไปก็สามารถเข้าใจอรรถ คือ สภาพธรรมที่เป็นจิตประเภทต่างๆ เพราะเหตุว่าถ้าพูดถึงโลภะ ไม่จำเป็นต้องเป็นจำนวนก็ได้ แต่ถ้าเข้าใจว่า โลภะคือสภาพที่ติดข้อง บางครั้งก็มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย บางครั้งก็ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าบางครั้งที่มีความเห็นผิด ความเห็นผิดนั้นต้องเกิดกับจิตที่เกิดร่วมกับโลภะจึงติดข้องในความเห็นผิดๆ นั้น

    นี่ก็เป็นเรื่องที่จะเข้าใจสภาพธรรมไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย และสามารถประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมได้ โดยไม่ใช่เป็นเรื่องของชื่อ


    หมายเลข 8701
    22 ส.ค. 2567